แม่น้ำโขง ส่อวิกฤต ระดับน้ำลดต่ำสุดรอบ50ปี นักวิชาการชี้ เกิดจากจีน สร้างเขื่อน ต้นน้ำ ขณะเดียวกัน เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ น้ำเปลี่ยนเป็นสีคราม หรือ “น้ำหิว” สวยแต่อันตราย กระทบ เรือสำราญ”พาราไดซ์ครูซ” หยุดเดินเรือชั่วคราว
วันที่ 29 พ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีจังหวัดนครพนม ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และสร้างความฮือฮาแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว จากระดับในน้ำโขงมีความผันผวน และแห้งขั้นวิกฤต เฉลี่ยต่ำสุดประมาณ 1 เมตร ถือว่าต่ำสุดในรอบกว่า 50 ปี ทำให้หลายจุดกลางน้ำโขง อำเภอท่าอุเทน อำเภอเมือง และ อำเภอธาตุพนม เกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้างหลายร้อยไร่
บางจุดมีสันดอนทรายโผล่ยาวเป็นระยะทางยาวกว่า 2-3 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือข้ามฟากไทยลาว รวมถึงเกษตรกรที่ใช้น้ำในการเกษตร ต้องวางท่อสูบน้ำเป็นระยะทางไกลขึ้น ล่าสุดเรือสำราญแม่โขงพาราไดซ์ครูซ ซึ่งเป็นเรือนำเที่ยวขนาดใหญ่ของจังหวัดประกาศแจ้งหยุดล่องเรือ ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.- 1 ธ.ค.เพื่อประเมินสถานการณ์
นอกจากนี้ เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน จากน้ำที่เคยเป็นขุ่นสีปูน เปลี่ยนเป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล มีสีสันสวยงาม บวกกับเกิดหาดทรายตามแนวริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้มีประชาชน เดินทางไปชมและเซลฟี่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลพบว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้จะสวยงาม แต่คือสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดภัยแล้งขั้นวิกฤติ เนื่องจากระดับน้ำโขงที่เป็นสีฟ้าครามคล้ายน้ำทะเล เพราะแม่น้ำโขงปริมาณต่ำ ทำให้น้ำนิ่งจนเกิดการตกตะกอนใส
นายอาทิตย์ พนาศูนย์ ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ระดับน้ำโขงผันผวนปีนี้ถือว่าหนักสุดในรอบกว่า 50 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวมาถึงปัจจุบัน ยังไม่ทันถึงปีใหม่ น้ำโขงแห้งขอดหนักกว่าทุกปี เป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของจีน เป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ที่สำคัญทำให้ปริมาณฝนน้อยทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้แล้งน้ำมีปริมาณน้ำต่ำ สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของระบบนิเวศน์กำลังถูกทำลาย
กรณีน้ำโขงเปลี่ยนสี นักวิชาการเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Hungry Water Effect: เมื่อน้ำโขงหิวตะกอน น้ำห่างฝั่งใสเป็นสีฟ้าราวน้ำทะเล ส่วนน้ำใกล้ฝั่งจะเห็นว่าขุ่นกว่าอย่างชัดเจน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “น้ำหิว” คือน้ำที่ถูกกักมาหลังเขื่อนและไหลช้าในฤดูนี้ตะกอนจะตกอยู่ในอ่างเก็บน้ำท้ายเขื่อนหมด น้ำที่ปล่อยออกมาจะเป็นน้ำใสที่ไม่มีตะกอน น้ำพวกนี้หิวตะกอน ผ่านตลิ่งผ่านท้องน้ำตรงไหนก็ดึงเอาตลิ่งตรงนั้นออกมา เกิดการกัดเซาะตลิ่งและพื้นท้องน้ำมากกว่าปกติ