จับตา! เกมส์ แก้ รธน.2560 ใครได้-ใครเสีย?

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเปิดฉาก ประมาณ กลางสัปดาห์หน้า จะมีญัตติสำคัญ ว่าด้วยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทาง หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่จนถึง ขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ใครจะมาทำหน้าที่ นั่ง หัวโต๊ะ เป้น ประธาน กมธ.ควบคุม การประชุม

หลังจากสมาชิกส่วนใหญ่แสดงท่าทีเห็นด้วยว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับนี้

แม้ว่าจะเป็นฉบับที่ผ่านการลงประชามติ แต่ก็มีเงื่อนไขแวดล้อมในช่วงเวลาที่บ้านเมืองไม่ปกติ

เมื่อสถานการณ์ผ่านการเลือกตั้ง มีการตั้งสติแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขกฎหมายสำคัญของประเทศที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้กระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นนโยบายนำหาเสียงของบางพรรคการเมือง และ บางพรรคถือเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลว่าจำเป็นต้องมี

กระทั่งต่อมา พรรคฝ่ายรัฐบาลก็เห็นด้วยว่าให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นผลมาจาก การเลือกตั้งและกระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ประชาชนสะท้อนผ่านผู้แทนหรือพรรคการเมือง

เหมือนครั้งหนึ่งที่มีการตั้งสภาร่าง รัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เป็นตัวแทนจากประชาชนมีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่เรียกกันต่อมาว่า ฉบับประชาชน

วาระตั้งต้นใหม่อีกครั้งสำหรับการเมือง ระบอบประชาธิปไตย หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ครั้งล่าสุด ยุค คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ

จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาของการถกเถียงหาทางออกทางการเมืองที่มีวุฒิภาวะมากขึ้น

ทั้ง ส.ส.ตัวแทนประชาชน และ วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มประชาชนที่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตย หรือกลุ่มที่เคยสนับสนุนการรัฐประหาร ต้องตั้งสติให้ตั้งมั่นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เพื่อทำให้กฎหมายที่บริหารบ้านเมืองเป็นกติกาที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย และ ยึดมาตรฐานเดียวกัน

กระนั้นก็ตามที หากมองอีกด้านหนึ่ง ในมุมของนักเลือกตั้ง  การแก้ไขธรรมนูญของฝ่ายค้าน คือ การแก้ข้อเสียเปรียบ เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ  ขณะที่รัฐบาล ไม่อยากให้แก้เพราะตัวเองได้เปรียบอยู่แล้ว ไม่อยากแก้เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ 

จนกระทั่งถูกแปลความหมายเสียดสีว่า มันไร้สาระ เพราะสิ่งที่เป็นสาระ  คือ การแก้ไขกฎหมาย ที่ยังอืดอาด ล่าช้า ให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง !