ศาลรับฟ้อง! 7 กกต. ขัด พรป.เลือกตั้ง จงใจ ไม่ตรวจสอบ คุณสมบัติ “พล.อ.ประยุทธ์”

ศาลอุทธรณ์ สั่งรับฟ้องคดี 7กกต.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปมรับรองคุณสมบัติ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ “วิญญัติ” ชี้เป็นบรรทัดฐานประชาชนใช้สิทธิฟ้ององค์กรอิสระได้ โดยไม่ต้อง ผ่าน “อัยการ-ปปช.”

วันที่ 30 ต.ค.62 ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ศาลได้อ่านคำวินิจฉัย ของ ประธานศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อท.54/ 2562 ที่นายสุรทิน พิจารณ์ หน.พรรคประชาธิปไตยใหม่ กับพวกรวม 2 คนยื่นฟ้อง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับพวกซึ่งเป็น กกต.รวม 7คน โดยขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 7 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561  และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยทั้ง 7 มีกำหนด 20 ปี

โดยศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีปัญหาว่าคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบหรือไม่จึงมีคำสั่งให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 11 และ ปธ.ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวด 12 ส่วนที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ด จงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.โดย ไม่ตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นบุคคล ที่ พรรคพลังประชารัฐ (พป.ชร.)แจ้งว่า จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และ ร่วมกันออกประกาศ กกต. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคล ที่ พรรค พป.ชร.แจ้งว่าจะเสนอสภาฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 30

ทั้งเมื่อ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบการคัดเลือก พลอ.ประยุทธ์ จำเลยทั้งเจ็ด ก็มิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งดังกล่าว ต่อมาเมื่อ นายวิญญัติ ชาติมนตรี ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และขอให้เพิกถอนชื่อบุคคลดังกล่าวจำเลยทั้งเจ็ด ยังคงยืนยันคำประกาศเดิม  ขณะที่ เมื่อนายเรืองไกร ขอให้ กกต.วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นจนท.ของรัฐหรือไม่เป็นครั้งที2 หรือไม่ พวกจำเลยก็ยังคง ปล่อยให้มีการประกาศ เรื่องการแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

ทั้งนี้ จำเลยทั้งหมดรับทราบข้อโต้แย้งแล้วแต่ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ด้วยการสั่งระงับยับยั้งหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ การเลือกตั้งการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย การให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถรณณรงค์หาเสียงหรือขึ้นเวทีปราศรัยได้ ในฐานะที่เป็นผู้ถูกแสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งความจริงพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ไม่มีคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 และ พ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 มาตรา 13 เเละ 44 การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตขอให้ลงโทษตาม พ.ร.ป.กกต.มาตรา 5 ประกอบมาตรา 25 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 23 ประกอบมาตรา 144

ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2555 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) ประธานศาลอุทธรณ์จึง วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงมีคำสั่งให้รับคดีไว้ตรวจฟ้องนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา(ในชั้นตรวจฟ้อง) ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้

ด้าน นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ  กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เเละได้ทราบคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์แล้ว ที่ระบุว่า ประชาชนสามารถฟ้องเองได้ อาจถือว่าเป็น บรรทัดฐานใหม่ และเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ที่ รับรองถึงการใช้สิทธิฟ้ององค์กรอิสระ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้โดยตรง