“จุรินทร์” ดิ้นสู้! นำปัญหา สินค้าไทย ถูกUSA ระงับ GSP เข้าเวที “อาเซียนซัมมิท”

“จุรินทร์” เผยเบื้องหลัง ปม สหรัฐตัดสิทธิ์ จีเอสพี เพื่อตอบโต้ มาตรการ แบน สารเคมี 3 ชนิด สั่ง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงแนวทางแก้ปัญหา วันจันทร์ 28 ต.ค.นี้ คาดใช้ เวที”อาเซียนซัมมิท” กู้วิกฤต

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณี สหรัฐฯ มีคำสั่งให้ระงับข้อตกลงตามสิทธิพิเศษทางภาษีศุลากร หรือ จีเอสพี ต่อสินค้านำเข้าจากประเทศไทยเกิดจาก รัฐบาลไทย ได้สั่งแบน 3สารเคมี ภาคเกษตร โดย ทางหารสหรัฐ เป็นห่วงว่าต้นทุนการใช้ยาตัวใหม่ ของไทยจะแพงขึ้น และกระทบโดยตรง ต่อสินค้าทางการเกษตรในการนำเข้ามาในไทย

เมื่อถามว่าการประชุมอาเซียนที่จะมีขึ้นจะนำเรื่องนี้เข้าหารือหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า คงยังไม่มีประเด็นนี้ เพราะในส่วนอาเซียนก็จะเป็นเรื่องที่ตนรับผิดชอบ คือการค้าการลงทุนหลักๆ เมื่อถามว่าการส่งหนังสือของสหรัฐที่ให้ ทบทวนการแบน สารเคมี3ชนิดของไทย จะมีผลดี หรือ ผลเสียอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นหนังสือแสดงความเป็นห่วงเท่านั้นเอง ซึ่งเมื่อส่งมา ตนก็ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอน

สำหรับคำสั่งระงับข้อตกลงตาม มาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้าบางชนิดที่นำเข้าจากประเทศไทย เป็นการชั่วคราวนั้น สำนักงานคณะผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่า จะเริ่มบังคับใช้ใน 6 เดือนข้างหน้า หรือภายในวันที่ 25 เม.ย.2563 และมีผลกระทบกับสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงราว 1 ใน 3 ส่วน คิดเป็นมูลค่ารวม 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 39,000 ล้านบาท

ขณะที่สินค้าอาหารทะเลทั้งหมดของไทยจะถูกเพิกถอนสิทธิพิเศษจีเอสพี เนื่องจากไม่มีการแก้ไขวิกฤตสิทธิและสวัสดิการแรงงานชาวประมง นอกจากประเทศไทยแล้ว นายทรัมป์ยังมีคำสั่งให้เปิดการทบทวนมาตรการจีเอสพีกับสินค้าบางชนิดของแอฟริกาใต้ จากกรณีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่นเดียวกับอาเซอร์ไบจานที่มีปัญหาน่ากังวลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน

ทั้งนี้ นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จะแถลงข่าว กรณีสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคมนี้ ที่กรมการค้าต่างประเทศ  ส่วนทางออกต่อกรณีนี้นั้น รัฐบาลไทยเตรียมใช้เวทีการประชุมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการประชุมอาเซียนซัมมิท วันที่ 2-4 พ.ย. ซึ่งจะมีเวทีคู่ขนาน และจะมีตัวแทนจากทางการสหรัฐมาร่วมประชุม เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป