BBC สะท้อนภาพ วิถี “มุสลิม-พุทธ” ปลายด้ามขวานไทย

สำนักข่าวบีบีซี จับเข่าคุย  ชาวมุสลิม และ พุทธ ต่อ กระแสข่าว ความขัดแย้ง จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ ประเด็น “สุดโต่ง” และ ภาพวาด”มุสลิม”ที่ถูกมองในแง่ลบ ยังเกาะกุม ความรู้สึกลึกๆ แต่เชื่อว่า ที่สุดแล้ว การเลือกเดิน “สายกลาง” จะนำทุกฝ่ายสู่ทางออก

การลาสิกขาออกจากความเป็นพระของ “พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท” อดีตหัวหน้า พระวิทยากรประจำพระอารามหลวง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยมีทางการเข้ามาเกี่ยวข้อง สะท้อนความพยายามของรัฐไทย ที่จะสกัดกระแสหวาดระแวงอิสลามที่พระมหาอภิชาติ เป็นหัวหอก ของการแสดงออกตลอดมา โดยเฉพาะกับ วาทกรรมให้ชาวพุทธ “เผามัสยิด” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อตอบโต้การที่พระสงฆ์ในพื้นที่ถูกสังหาร

แม้ในสังคมไทยทั่วไป การแสดงออกถึงความหวาดระแวงอิสลามอาจไม่รุนแรงถึงขั้นกรณี “พระอภิชาติ” แต่สำหรับชาวมุสลิมในประเทศไทย กระแสนี้ก็สร้างความรู้สึกอึดอัด และ แปลกแยกให้ไม่น้อย นอกจากนี้ ก็ยังวิตกว่าอาจลุกลามไปมากกว่านี้ สำนักข่าวบีบีซีไทย ได้คุยกับชาวมุสลิมในประเทศไทยว่าอะไร คือ ต้นเหตุของ กระแสชังอิสลาม หรือ Islamophobia และไทยควรจะรับมืออย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นวิกฤต

ต่อคำถาม สำคัญ ที่ว่า “อะไรกระตุ้นกระแสระแวงอิสลามในไทย” นั้น อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่า กระแสชังอิสลาม เป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง เช่น กลุ่มก่อการร้ายที่โจมตีเป้าหมายพลเรือนในโลกตะวันตก เช่น สหรัฐฯ สเปน ฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลให้เกิดความระแวงมุสลิมในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม กระแสชังอิสลาม เป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง อาทิ กลุ่มก่อการร้ายที่โจมตีเป้าหมายพลเรือนในโลกตะวันตก เช่น สหรัฐฯ สเปน ฝรั่งเศส ซึ่งส่งผลให้เกิดความระแวงมุสลิมในไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม อ.ซากีย์ ก็ยังเห็นว่า ปัจจัยภายนอกข้อนี้ อธิบายสถานการณ์ในไทยได้ไม่มากนัก โดย ปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อกระแสระแวงมุสลิมในไทยมากกว่านีั้ คือ เหตุไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภายใต้ ที่ สื่อกระแสหลักระดับชาติ ต่าง รายงานเหตุการณ์จากนราธิวาส ปัตตานี แล ะยะลา วาดภาพความรุนแรงที่เกิดจากมุสลิม

“ในสามจังหวัดชายแดนใต้ หยิบอะไรขึ้นมาก็ไม่ชัดเท่ากับความเป็นมุสลิม แม้แต่ความเป็นมลายู ตัวก็ไม่หนาเท่าศาสนา และไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ความยุติธรรม หรือเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ” เขากล่าว

ชุดความคิดที่คล้ายกันนี้ได้กระจายไปทั่วสังคมไทยและสะท้อนออกมาในหลายพื้นที่ เช่น การต่อต้านการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีพระภิกษุ ออกมาตั้งโต๊ะล่ารายชื่อชาวพุทธคัดค้าน  เหตุผลก็คือไม่อยากให้มีชุมชนมุสลิมในพื้นที่ ในช่วงปี 2558-2559 และในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ชาวบ้าน อ.ภูเพียง จ.น่าน คัดค้านการสร้างมัสยิดในพื้นที่โดยอ้างเหตุว่าสุ่มเสี่ยงต่อการแทรกซึมไม่อยากให้มีปัญหาเหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นักวิชาการมุสลิมแห่ง ม.สงขลานครินทร์ หยิบยกแนวคิดของ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาอธิบายว่าเหตุการณ์เหล่านี้เป็นความพยายามของสถาบันสงฆ์ไทยซึ่งอยากจะเข้ามาต่อติด กับ ส่วนประชาสังคมอีกครั้งโดยมีประเด็นมุสลิมเป็นหนึ่งใน การเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ก็มีกลุ่มพุทธบางกลุ่มที่ตั้งตัวขึ้นเป็นกลุ่มปกป้องศาสนา และหยิกยกประเด็นวัดและพระทางภาคใต้ขึ้นมาเล่น เผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ส่งต่อกันไปอย่างเป็นระบบโดยมีความตั้งใจจะโจมตีการดูแลศาสนาพุทธของรัฐบาล แต่ผลที่ออกมาก็คือสร้างความหวาดระแวงเพิ่มมากขึ้นในอิสลาม โดยมี “พระมหาอภิชาติ” เป็นผู้นำจุดกระแสดังกล่าว

ขณะเดียวกัน กระแสระแวงถึงเกลียดชังชาวมุสลิม ดูเหมือนมีอยู่เกลื่อนโลกออนไลน์ของไทย  เช่น “…พม่าเห็นตัวอย่างภาคใต้ของไทย พม่าเลยต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่อย่างนั้น ก็จะแก้ไม่ได้ เหมือน ไทย..” หรือ “ถ้าโรฮิงญาไม่เริ่มก่อความวุ่นวายขึ้นก่อน..ก็อยู่กับพม่าได้…ชอบก่อการร้ายก่อน..ทหารพม่าก็ต้องกวาดล้าง…”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ที่เข้ามาให้ความคิดเห็นในเฟซบุ๊กของบีบีซีไทย ที่ให้ความชอบธรรมของรัฐบาลเมียนมาในการปราบปรามโรฮิงญา โดยเทียบเคียงกับประสบการณ์ของไทย และนำเอาคำว่า “โรฮิงญา” ไปผูกกับคำว่า “ก่อการร้าย” ซึ่งไปกันกับชุดความคิดอิสลามโมโฟเบียของตะวันตกได้เป็นอย่างดี

มุสลิมในความต่าง…ความไมรู้นำสู่ความกังวล และทำให้คนไทยต่างศาสนาในจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็น คนแปลกหน้า ใน สายคนพุทธ ในเมืองหลวง

“ตอนที่เราไป เราจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไปไหนมาไหนสวมผ้าคลุมหน้า คนที่เค้าไม่เคยเห็นก็มีการมองแบบแปลกๆ มีซุบซิบ… บางคนก็เรียกว่าแขก แต่เราไม่ใช่ มันรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก ไม่ได้อยู่สังคมเดียวกัน” หญิงวัย 30 ปีซึ่งเป็นอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายใน จ.ปัตตานี เล่าให้บีบีซีไทย ฟังถึงความอึดอัดใจเมื่อออกจากปัตตานีมากรุงเทพฯ

“บางคนก็มีมาถามว่า..ทำไมคนนี้ปิดหน้าไม่ปิดหน้า…บางทีเราก็อธิบายให้เค้าเข้าใจ การแต่งกายแบบนี้ คนที่เขาเคร่งเข้าก็จะปิดหน้า แต่บางคนพูดว่าเป็นพวกคนไม่ดีหรือเปล่า” เธอชี้ถึงปฏิกิริยาระแวงแคลงใจของคนในกรุงเทพที่ได้สัมผัสมา

ขณะที่ ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง บรรณาธิการสารคดีของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ ชาวมุสลิมที่เติบโตในชุมชนกรุงเทพฯ อธิบายว่าการรับรู้เรื่องความเป็นอิสลามของคนไทยทั่วไปมาจากสื่อหรือการบอกต่อๆ กันมาซึ่งเป็นภาพด้านเดียวและมีความสุดโต่ง

ความเชื่อดังกล่าว ทำให้ในสังคมเข้าใจมุสลิมว่าเป็นพวกสุดโต่งเสียหมด ประกอบกับภาพลักษณ์ของมุสลิมถูกวาดภาพในด้านลบมาอย่างน้อยเกือบ 20 ปี นับแต่เหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544

ก้องมองอีกว่าน่าจะเพราะเสียงหรือสารของกลุ่มสุดโต่ง มักจะเป็นเสียงที่ดังมากกว่าเสมอ ไม่ว่าพุทธ หรือ อิสลาม จึงเป็นการส่งต่อความระแวงระวังให้ยิ่งชัดเจนขึ้น

หาหนทางยุติความระแวงระหว่างกัน ซึ่ง อ.ซากีย์ เห็นพ้องว่าความระแวงสามารถยุติลงได้ด้วยความร่วมมือ 3 ส่วน ระดับรัฐบาล สถาบันทางศาสนา ส่วนระดับล่างทั้งสังคมพุทธ มุสลิม ก็ต้องขยับเส้นการทำความเข้าใจกับคนต่างศาสนิกให้มากขึ้น

“มุสลิมก็ทำงานในกลุ่มมุสลิม เปิดตัวเองมากขึ้น สร้างคำอธิบาย สร้างความโปร่งใส ทำให้เหมือนมุสลิมยุโรป ที่เปิดตัวเองมากขึ้น”อ.ซากีย์ กล่าว และ ยกตัวอย่างการเปิดตัวเองของมุสลิมไทย เมื่อครั้งที่ “จุฬาราชมนตรี” แสดงความยินดีกับ “สมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่”  ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สังคมมุสลิมทำเช่นนี้ และ สมเด็จพระสังฆราช ทรงตรัสตอบว่า “ทั้งพุทธและมุสลิมต้องทำงานร่วมกันเพื่อเอาชนะความกลัวและอคติในสังคม”

ก้อง ฤทธิ์ ดียังชี้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใด ความขัดแย้งหากเริ่มต้นที่มองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ยิ่งจะเป็นใบอนุญาตให้กระทำอย่างไรก็ได้ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับพุทธชาตินิยมในเมียนมา กรณีพระสงฆ์บางรูปที่แสดงความไม่ไว้ใจต่อมุสลิม หรือการค้านสร้างมัสยิด ปลุกคนพุทธลุกขึ้นสู้ ก็เป็นลักษณะเช่นนี้

“ทุกคนมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ เป็นคนกลุ่มน้อยที่ถูกกระทำ ถ้าเริ่มต้นว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ก็จะสร้างความชอบธรรมในการให้ตัวเองเอาสิ่งนี้ไปก้าวร้าวตอบโต้คนอื่น”

ในหมวกของการเป็นมุสลิม ก้อง มองเพื่อนร่วมศาสนิกว่าก็ต้องเปิดกว้างตัวเอง และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพุทธในไทยด้วย “สิ่งนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจไปยังฝั่งคนพุทธได้ว่า เราอยู่ในสังคมเดียวกัน แต่แค่ต่างความเชื่อ”

“มุสลิมสายกลางต้องพยายามมากในการส่งเสียงของตัวเอง ทำตัวให้เห็นไป มีเพื่อนบอกเพื่อนว่าตัวเองไม่ได้เป็นอย่างนั้น อีกด้านพุทธที่ไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่ได้เป็นอิสลามโมโฟเบีย มันเยอะกว่าอยู่แล้ว ผมว่าแค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ แค่นั้น ที่เหลืออยู่ก็คงต้องพยายามมากขึ้น”

และท้ายสุด ก้องชี้ว่า “เราต้องเป็น คน ก่อนที่จะเป็น พุทธ หรือมุสลิม”

ทางด้าน “พระภาสุระ ทนตมโน” จากวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีโครงการช่วยเหลือพระและวัดต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงมา 13 ปีต่อเนื่องกัน กล่าวถึงกระแสต้านมุสลิมว่า แนวทางของวัดที่ลงไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต่างจากแนวคิดของพระอภิชาติมาก เนื่องจากธรรมกายนั้นเน้นเรื่องสันติวิธีเป็นหลัก

ที่ธรรมกายลงไปก็เพราะอยากไปให้กำลังใจและช่วยเหลือวัดทั้ง 323 วัดในชายแดนใต้ให้สามารถอยู่ต่อไปได้ และอยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม “พระภาสุระ” ก็ยังกล่าวว่าที่จริงไม่ใช่แต่ “มุสลิม” เท่านั้นที่ถูกแรง”กดดัน” วิพากษ์วิจารณ์จับตามองมากขึ้น แม้แต่ “พุทธศาสนา” เอง ก็ยังมีกระแสนี้เกิดขึ้นเช่นกัน อาจเป็นเพราะคนไม่เข้าใจในหลักศาสนา เรื่องการให้ “อภัยและเมตตา” กันเพียงพอก็จะทำให้ความชังหรือระแวงระหว่างกันบรรเทาเบาบางลงไปได้ !