“อิศรา”ผ่าปมร้อน! พรบ.งบฯ จุดเดือด การเมือง จับตา “งูเห่า” อนค.ฉุดสถานการณ์”ข้นคลั่ก”

สำนักข่าวอิศรา ผ่าปมร้อนงบปี 63 “ฉลุยวาระแรก-ฝ่ายค้านเสียงแตก” จับตา “ดีล” ชั้น กมธ.วิสามัญฯ รวมถึงกรณี เกิดปรากฎการณ์ งูเห่า ภายในพรรคอนาคตใหม่ กรณี”โหวตสวน” มติพรรค ที่กำลังจะกลายเป็น ประเด็นร้อน ฉุดการเมืองไทย “ข้นคลั่ก”

“…โดย กมธ.วิสามัญฯ ที่มาจากหลากขั้วการเมืองนี้ จะดีลผลประโยชน์กันอย่างไรให้ลงตัวมากที่สุด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.เขต จำนวนมาก ย่อมอยากให้งบประมาณไปอยู่ในพื้นที่ฐานเสียงตัวเองเยอะกว่าพรรคอื่น แน่นอนว่า ย่อมส่งผลให้เกิดการเจรจาต่อรองกันมากขึ้น และจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป…”

จบลงไปแล้วสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังใช้เวลาประมาณ 3 วัน (17-19 ต.ค. 2562) ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบ 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 234 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 488 เสียง ท่ามกลางกระแสดราม่ากรณี น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่ โหวตสวนมติพรรคเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯดังกล่าว

ในช่วงระยะเวลา 3 วันดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า งบประมาณที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดแทบจะทุกวันคือ งบประมาณเกี่ยวกับความมั่นคง โดยเฉพาะงบประมาณด้านกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นกว่าปี 2562 กว่า 6.2 พันล้านบาท โดยหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม เช่น กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้นรวม 3 เหล่าทัพประมาณ 3.8 พันล้านบาท

@ภาพรวม พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 เม็ดเงิน 3.2 ล้านล.

เบื้องต้นในภาพรวมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท จำแนกได้ 21 กระทรวง 33 รายการ ดังนี้ 1. งบกลาง 518,770.9 ล้านบาท 2. สำนักนายกรัฐมนตรี 39,108.9 ล้านบาท 3. กระทรวงกลาโหม 233,353.4 ล้านบาท 4. กระทรวงการคลัง 249,676 ล้านบาท 5. กระทรวงการต่างประเทศ 8,927.6 ล้านบาท 6. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,071.3 ล้านบาท 7. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 21,281.6 ล้านบาท 8. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 140,444.5 ล้านบาท 9. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 109,833.7 ล้านบาท 10. กระทรวงคมนาคม 178,840.1 ล้านบาท

11. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 6,897.9 ล้านบาท 12. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30,370 ล้านบาท 13. กระทรวงพลังงาน 2,158 ล้านบาท 14. กระทรวงพาณิชย์ 7,553.1 ล้านบาท 15. กระทรวงมหาดไทย 353,007.4 ล้านบาท 16. กระทรวงยุติธรรม 26,949.1 ล้านบาท 17. กระทรวงแรงงาน 60,878.8 ล้านบาท 18. กระทรวงวัฒนธรรม 8,569.7 ล้านบาท 19. กระทรวงศึกษาธิการ 368,660.3 ล้านบาท 20. กระทรวงสาธารณสุข 138,735.3 ล้านบาท

21. กระทรวงอุตสาหกรรม 5,363.8 ล้านบาท 22. ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี 11 หน่วยงาน 132,230.9 ล้านบาท 23. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 24,000 ล้านบาท 24. รัฐวิสาหกิจ 27 แห่ง 156,292.1 ล้านบาท 25. หน่วยงานของรัฐสภา 8,684.7 ล้านบาท 26. หน่วยงานของศาล 20,234.9 ล้านบาท 27. หน่วยงานขององค์กรอิสระ 5 หน่วยงาน และองค์กรอัยการ 16,495.6 ล้านบาท 28. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 55,252 ล้านบาท 29. หน่วยงานอื่นของรัฐ 598.3 ล้านบาท 30. สภากาชาดไทย 10,651.1 ล้านบาท 31. ส่วนราชการในพระองค์ 7,685.3 ล้านบาท 32. รายจ่ายทุนหมุนเวียน 189,714.1 ล้านบาท 33. รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 62,709.5 ล้านบาท (อ่านประกอบ : INFO:พ.ร.บ.งบฯปี 63 เม็ดเงิน 3.2 ล้านล. 33 รายการ 21 กระทรวง)

@งบกลาโหม 2.3 แสนล้าน พุ่งจากเดิม 6.2 พันล้าน

ข้อมูลจากงบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2563 เม็ดเงิน 233,353 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 6.2 พันล้านบาท หากเทียบกับงบประมาณกระทรวงกลาโหมในปี 2562 เม็ดเงิน 227,126 ล้านบาท ขณะที่งบในปี 2561 เม็ดเงิน 218,503 บาท เห็นได้ว่างบส่วนนี้มีการเพิ่มขึ้นทุกปี

คราวนี้มาดูในส่วนยุทธศาสตร์ทั้ง 7 รายการกันบ้าง ในเอกสารแผนงบประมาณโดยสังเขปจากรัฐบาล ในส่วนของยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ระบุวงเงิน 428,190 ล้านบาท โดยแผนงานยุทธศาสตร์ที่ใช้วงเงินเยอะที่สุด ได้แก่ แผนงานบุคลากรภาครัฐ จำนวน 194,000 ล้านบาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง จำนวน 56,659 ล้านบาท ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ จำนวน 88,718 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์รักษาความสงบภายในประเทศ จำนวน 34,774 ล้านบาท ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง จำนวน 15,324 ล้านบาท เป็นต้น

@ฝ่ายค้านยอมถอยเพื่อชาติว่ากันใหม่วาระ 2-3 ‘บิ๊กตู่’พอใจภาพรวม

ไฮไลต์ภาพรวมส่วนใหญ่จากพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ มุ่งเน้นอภิปรายในภาพรวมเกี่ยวกับการจัดการงบประมาณที่ค่อนข้างไม่สมเหตุสมผล รวมถึงขาดดุล ขณะเดียวกันรัฐบาลให้น้ำหนักไปที่งบประมาณด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยเฉพาะการหั่นงบกระทรวงอื่น ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น ส่วนงบประมาณกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แม้จะมีลุกขึ้นตอบโต้การอภิปรายของฝ่ายค้านบ้างประปราย โดยเฉพาะการอธิบายเรื่องงบกระทรวงกลาโหม รวมถึงงบการดับไฟใต้ แต่ยังยืนยันว่าพอใจกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 สิ่งใดที่ดีจะนำไปบูรณาการ ในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหมมีการกันไว้ 7-8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น เพื่อเอาไว้ซื้อยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นงบผูกพันและเป็นงบในส่วนของกระทรวงกลาโหม ไม่ใช่งบกลาง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่เป็นข้อตกลงกับต่างประเทศ

อย่างไรก็ดีแม้ว่าฝ่ายค้านจะพยายามขย่มอย่างหนักในสภา แต่ท้ายที่สุดพรรคร่วมฝ่ายค้าน ‘ยอมถอย’ งดออกเสียงเพื่อให้รัฐบาลผ่านวาระแรก (ขั้นรับหลักการ) ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ดังกล่าวเพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงว่า พร้อมขอให้รัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจประเทศมีปัญหา ชาวบ้านลำบาก ค้าขายไม่ได้ ชาวบ้านยังยากจน พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลไปเกลี่ยงบประมาณใหม่ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เน้นเรื่องการศึกษา ลดงบด้านความมั่นคงลง ประเทศเราจนกู้เงินเพิ่ม แต่กลับใช้ไม่ทัน รัฐบาลต้องไปปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ

“เราไม่อยากเห็นนายกฯ ยุบสภา หรือลาออก แต่อยากได้งบประมาณที่ดีที่สุด “หากจะยกมือให้ก็ทำใจลำบาก จะยกมือให้ตก เราก็ห่วงประเทศ ห่วงชาวบ้านที่รอใช้เงิน ซึ่งขณะนี้งบประมาณก็ล่าช้ามา 4 เดือนแล้ว จึงขอให้โอกาสกับรัฐบาลไปทำตามที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรค เสนอแนะ ส่วนวาระ 2 และ 3 มาว่ากันใหม่” นายสุทิน กล่าว

@2 ส.ส.อนค.โหวตสวนมติพรรค-จับตา ‘ธนาธรเอฟเฟคท์’

แม้ว่าการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 จะผ่านวาระแรก (ขั้นรับหลักการ) ไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 แล้วก็ตาม แต่สัญญาณความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้านค่อนข้างสั่นคลอนพอสมควร

1.ผลกระทบ ‘ธนาธรเอฟเฟคท์’ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการพาดพิงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในช่วงเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญคดีหุ้นสื่อ ส่งผลให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยออกโรงปกป้อง ‘นายใหญ่’ ทำให้นายธนาธร ต้องออกมาขอโทษ โดยอ้างเหตุว่าเป็นเพราะบรรยากาศในศาลพาไป

2.กรณี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.จันทบุรี และ จ.ชลบุรี ที่ออกมาแข็งข้อ รายแรกโหวตสวนมติพรรค เห็นชอบ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (ซึ่งพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ๆ ต่างโหวตเห็นชอบด้วย ยกเว้นแค่พรรคอนาคตใหม่ 70 เสียง)

รายต่อมาสด ๆ ร้อน ๆ โหวตสวนมติพรรค เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระทั่งกระแส ‘งูเห่า’ ภาค 3 สะพัดกลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีข้อมูลจากบางฝ่ายว่ากันว่า สาเหตุที่ 2 ส.ส.อนาคตใหม่ดังกล่าวกล้าสวนมติพรรค มิใช่เพราะเป็นงูเห่า แต่เป็นการส่งสัญญาณไม่พอใจการบริหารงานของกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ?

@15 ตัวแทน ครม. 6 พรรคฝ่ายค้าน 5 พรรค รบ. ลุ้นดีลผลประโยชน์ชั้น กมธ.วิสามัญฯ

ฉากต่อไปที่ต้องจับตาคือ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 จำนวน 64 ราย ซึ่งรวม ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน 6 พรรค พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี 15 ราย โดยจำนวนนี้รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในตัวแทนของพรรคอนาคตใหม่ ที่อยู่ระหว่างรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีหุ้นสื่อ รวมอยู่ด้วย

โดย กมธ.วิสามัญฯ ที่มาจากหลากขั้วการเมืองนี้ จะดีลผลประโยชน์กันอย่างไรให้ลงตัวมากที่สุด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.เขต จำนวนมาก ย่อมอยากให้งบประมาณไปอยู่ในพื้นที่ฐานเสียงตัวเองเยอะกว่าพรรคอื่น แน่นอนว่า ย่อมส่งผลให้เกิดการเจรจาต่อรองกันมากขึ้น และจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ต่อไป

ท้ายที่สุดบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด !