พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เลื่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ 12 ธ.ค. 62 เนื่องจากสภาพอากาศและกระแสน้ำตามกำหนดวันเดิมส่งผลต่อริ้วขบวน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค จากเดิมวันที่ 24 ต.ค. 2562 เวลา 15.30 น. เป็นวันที่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 15.30 น.
รองนายกฯ กล่าวว่า หลังซ้อมย่อยมา 10 ครั้ง และซ้อมใหญ่เสมือนจริง 1 ครั้งในวันนี้ (17 ต.ค.) ที่ประชุมเห็นว่า หากเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในวัน-เวลาตามกำหนดการเดิม จะมีอุปสรรคในเรื่องของสภาพน้ำ รวมทั้งดิน ฟ้า อากาศ
เมื่อเป็นเช่นนี้เพื่อความพร้อม ความสวยงาม และไม่กระทบกระเทือนต่อกระบวนเรือ ไม่กระทบกระเทือนต่อการเสด็จพระราชดำเนิน และไม่กระทบกระเทือนต่อประชาชน จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยที่จะให้เลื่อนกำหนดเวลาของการมีขบวนเลียบพระนครโดยพยุหยาตราทางชลมารคออกไปจากเดิม ซึ่งบัดนี้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยออกมาแล้ว ทั้งนี้ริ้วขบวนจะยังเป็นอย่างเดิม ใช้ขบวนเรือ 52 ลำเสด็จพระราชดำเนินดังเดิม
คำประกาศจากรัฐบาลมีขึ้นหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ประชุมร่วมกับรองนายกฯ ที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้นายวิษณุมาเปิดแถลงข่าวที่รัฐสภา เวลา 16.15 น. ที่ผ่านมา
“นายกฯ มีความห่วงใยว่าหากไม่ได้ส่งสัญญาณบอกให้ประชาชนได้รับทราบ จะมีการจับจองโรงแรม สถานที่ ร้านอาหาร บางคนซื้อตั๋วรถไฟเครื่องบินเดินทางมา ก็ควรต้องบอกกล่าวให้ทราบเพื่อจะได้จัดแผนการใหม่” รองนายกฯ กล่าว
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 21 ต.ค. นี้จะมีการประชุมใหญ่ ก่อนเปิดแถลงข่าว โดยมีผู้แทนจากสำนักพระราชวังและรัฐบาล และจะตอบคำถามทั้งหมด
“ขอย้ำว่ายังมีอยู่ และยังยิ่งใหญ่อย่างเดิม สวยงามอย่างเดิม แต่เพื่อความเหมาะสมของกระแสดินและน้ำ ขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 12 ธ.ค.” รองนายกฯ กล่าว
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ที่แสดงถึงพระบารมีอันแผ่ไพศาลของพระเจ้าแผ่นดิน ถือเป็นประเพณีอันงดงาม และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไทยที่สืบทอดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน