ครม.ตั้ง บอร์ดรฟท. “ศักดิ์สยาม”สั่งรื้อสัญญา สู้ค่าโง่ “โฮปเวลล์” เดินหน้า โครงการ ไฮสปีด

“ลุงตู่” นั่งหัวโต๊ะ ถก ครม.เคาะ ตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ “ศักดิ์สยาม” ชง “จิรุตม์ วิศาลจิตร” เป็นประธาน นัด ประชุมนัดแรก 16 ต.ค. งัดหลักฐานเตรียมฟ้องแพ่ง “โฮปเวลล์” ปมจดทะเบียนบริษัท ต่างด้าว สู้ปมค่าโง่ พร้อม จี้ เอกชน เซ็นสัญญาไฮสปีด 3 สนามบินให้ได้ตามกำหนด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้(15 ต.ค. )โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รวม 7 คน โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร , นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ,นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล, นายธันวา เลาหศิริวงศ์, นายพินิจ พัวพันธ์ เป็นกรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) ,นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ และ นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. ในฐานะกรรมการเลขานุการบอร์ด ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้การดำเนินกิจการ ของรฟท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้บอร์ด รฟท.จะเร่งประชุมนัดแรก วันพุธที่ 16 ต.ค. ในช่วงบ่าย เพื่อพิจารณาโครงการสำคัญ เร่งด่วน ได้แก่ การพิจารณามอบอำนาจให้ ฝ่ายกฎหมาย รฟท.ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด , โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,421 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ที่มีการปรับกรอบวงเงินจากที่ ครม. อนุมัติไว้ที่ 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท

และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งจะมีการลงนามสัญญากับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH)ในวันที่ 25 ต.ค. 2562 ซึ่งหากดำเนินการภายใต้กรอบ เงื่อนไข RFP และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องยกเลิกสัญญา ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกฯได้มีการตรวจสอบร่างสัญญาอย่างละเอียด

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 ต.ค. เวลา 10.00 น. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด อีอีซีจะมีการประชุม ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้วย

 

สำหรับการต่อสู้คดี โฮปเวลล์นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมและรฟท.ได้พบข้อมูลที่จะสามารถยื่นฟ้องคดีแพ่งได้ ในประเด็น การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้รับการยกเว้น ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281) เนื่องจากครม.ในขณะนั้นไม่ได้เห็นชอบให้ดำเนินการในการยกเว้น ปว. 281 เป็นต้น

“คณะทำงานกระทรวงคมนาคมค้นพบข้อมูลในประเด็นที่สามารถฟ้องร้องได้ อย่างกรณีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการจดทะเบียนโดยมีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างด้าว เพื่อดำเนินการประกอบธุรกิจในประเทศไทย จะต้องได้รับการยกเว้น ปว 281 เป็นประเด็นการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ซึ่งคณะทำงานมีความเห็นว่า การจดทะเบียนไม่ถูกต้อง ทำให้สัญญาโฮปเวลล์ ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ซึ่งไม่ได้เป็นการเรียกค่าเสียหาย โดยคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลค่อนข้างครบแล้ว จะนำเสนอบอร์ดรฟท.เพื่อมอบอำนาจในการฟ้องแพ่ง ซึ่งมีหลายประเด็นที่จะฟ้อง เป็นรายละเอียดทางคดีที่ยังเปิดเผยไม่ได้”

โดยหลังบอร์ดเห็นชอบในวันที่ 16 ต.ค.ฝ่ายกฎหมาย รฟท.จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งทันที เนื่องจากมีภาระ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ จำนวน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำสั่งศาลปกครอง ภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ 19 ต.ค. 2562

สำหรับการจ่ายชดเชยนั้น ทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาแนวทาง ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นประกอบแล้ว นอกจากนี้ ในทางคู่ขนาน ได้ประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อยื่นฟ้องทางอาญาอีกทาง ขณะที่ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 ได้มอบอำนาจให้ทางอัยการสูงสุด ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง ไปแล้วรวมถึงการขอชะลอการบังคับคดี หรือขอขยายเวลาในการจ่ายเงินชดเชยออกไป แต่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา ตอนนี้กระทรวงคมนาคม ดำเนินการตามหน้าที่ ซึ่งต้องรอการวินิจฉัยของศาลจะออกมาอย่างไร