เปิด จม.น้อย ผ่าน พระเสโท! ของ พระราชา ที่มี ผืนดิน และ คันนา เป็น บัลลังก์

 “ปราโมทย์ ไม้กลัด” อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย ภาพ”ลายพระหัตถ์” หรือ จดหมายน้อย ต้นกำเนิด การทรงงานด้าน ชลประทาน ในพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ต.ค.

ในการประกอบพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในท้องที่ทุรกันดาร ภาพที่เห็นเสมอมาคือพระองค์ทรงหนีบแผนที่ด้วยพระกร ส่วนพระหัตถ์ถือดินสอเพื่อจดรายละเอียดต่างๆ อยู่ตลอด

นายปราโมทย์ ไม้กลัด  อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ในด้านการจัดการน้ำนานหลายปี ได้นำลายพระหัตถ์ส่วนหนึ่งที่ทรงบันทึกรายละเอียดการทรงงานมาเปิดเผยให้ได้รับรู้

ลายพระหัตถ์ทรงวางโครงการลุ่มน้ำปาย

สำหรับลายพระหัตถ์นี้ ท่านปราโมทย์ ไม้กลัด เรียกว่า “จดหมายน้อย” ซึ่งเป็นรายละเอียดการทรงงานที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาสภาพภูมิประเทศจากแผนที่ ลำห้วย ลำน้ำ ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลักษณะแบบนี้พระองค์ทรงงานในห้องทรงงาน จากการทอดพระเนตรแผนที่แล้วเขียนเป็นแนวพระราชดำริขึ้นมา

จากนั้นทรงคิดโครงการตามแนวพระราชดำริที่อำเภอปาย ว่าสมควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำแม่ของ และที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน น่าจะทำเขื่อนเก็บกักน้ำและฝาย

 

ทรงเขียนพิกัด (จุดสกัดบนแผนที่) ที่เห็นเป็นภาษาอังกฤษและตัวเลขกำกับ ทรงกำหนดมา 3 ตำแหน่ง ที่จะสร้างในลำน้ำ 3 สายด้วยกัน

จากนั้นได้พระราชทานจดหมายน้อยใบนี้มายังกรมชลประทาน เพื่อดำเนินงานสำรวจตรวจสอบ ไปคิดพิจารณาต่อว่าทำแล้วจะเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

จากจดหมายน้อยฉบับนี้ ทำให้เกิดฝายทดน้ำ สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรและราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมากมายในเวลาต่อมา

ลายพระหัตถ์ทรงวางโครงการลุ่มน้ำปราจีนบุรี

เป็นลายพระหัตถ์ลักษณะเดียวกันกับภาพแรก ทรงศึกษาแผนที่ สภาพความสูงต่ำในลุ่มน้ำปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีอยู่หลายลำห้วย

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่าที่บริเวณลำห้วยพระปรง สมควรที่จะสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ ระดับน้ำสูงเท่าไหร่ เขื่อนสูงเท่าไหร่ จะได้พื้นที่รับน้ำฝนเท่าไหร่ ทรงคิดมาเสร็จสรรพ

ต่อจากนั้นมาที่ลำห้วยโสมง ซึ่งมี 3 พิกัด เช่นเดียวกัน ทรงบอกรายละเอียดพิกัดตำแหน่งต่างๆ ของลุ่มน้ำ แค่ทอดพระเนตรจากแผนที่แผ่นหนึ่งก็ได้งานออกมา

นี่เป็นอีกหนึ่งในเอกสาร ซึ่งเป็นงานที่พระองค์ท่านทรงวางโครงการเอง ซึ่งงานลักษณะนี้มีอยู่เป็นประจำ และเมื่อกรมชลประทานไปสำรวจแล้ว ส่วนใหญ่ สามารถทำได้อย่างเหมาะสม และ ได้ประโยชน์ต่อส่วนรวมมากมายตามพระราชประสงค์ ซึ่งเกิดประโยชน์เป็นอย่างมากกับราษฎรในพื้นที่ !

จดหมายน้อย 2 ฉบับ เล็กๆ อัน เกิดจากรอยดินสอ ขีดเขียน บนแผ่นกระดาษสีขาว เก่าจนมีรอยด่างสีเหลือง ที่ เปรอะเปื้อน จาก หยาดหยด พระเสโท โดยไม่รู้จัก เหน็ดเหนื่อย ของ “พระราชา” ที่มี ผืนดิน และ คันนา เป็น บัลลังก์ เพื่อ สร้าง ผลงานอันทรงคุณค่า ให้ประชาชนของ พระองค์ 

ธ ยังคงสถิตย์ในใจไทย ชั่วนิรันดร์ !