‘สามารถ มะลูลีม’ รั้งประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางฯสมัย 2-‘ดร.ปกรณ์’ ลาออก

ที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีมติเลือกนายสามารถ มะลูลีม เป็นประธานอีก 1 สมัย

วันที่ 11 ตุลาคม เวลา 17.00 น.ได้มีการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อเลือกประธานมูลนิธิฯแทนนายสามารถ มะลูลีม อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ประชุมได้มีมติเลือกนายสามารถ มะลูลีม เป็นประธานอีก 1 สมัย

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 1 วัน มีรายงานว่า ดร.ปกรณ์ ปรียากร อดีตประธานมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามฯ ได้ลาออกจากกรรมการมูลนิธิฯ โดยให้เหตุผลว่า มีภารกิจในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ไม่ค่อยมีเวลามรทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิฯ

สำหรับนายสามารถ เริ่มต้นทางการเมือง ด้วยการเป็น สข. เป็นสก. เป็นประธานสภาสก. ได้รับเลือกเป็น ส.ว.กทม. ก่อนจะถูกยึดอำนาจ จากนั้นได้ลงสมัครเป็น ส.ส.ในนามประชาธิปัตย์ 2 สมัย แต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่

สำหรับ“ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” นับเป็นองค์กรที่มี บทบาทสำคัญองค์กรหนึ่งของสัมคมมุสลิม เดิมนั้นเป็นความคิดริเริ่มของกลุ่มผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นของศาสนาอิสลามให้เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย โดยการจัดตั้งสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นที่ชุมนุมของชาว มุสลิมทั้งประเทศ ได้เข้าร่วมประกอบพิธีร่วมกัน ซึ่งโดยปกติแล้วชาวมุสลิมที่แยกย้ายกันอยู่ตามเขตและหมู่บ้านต่างๆ หรือตามต่างจังหวัด มักจะมีมัสยิดย่อยๆ ประจำชุมชนแต่ละชุมชน ไม่มีที่รวมตัวกันอย่างเป็นปึกแผ่นหรือถาวรเป็นส่วนกลาง ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางอิสลามระดับชาติแทน กลุ่มมุสลิมในเมืองไทย หรือเป็นศูนย์กลางของการติดต่อระหว่างมุสลิมระดับชาติ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาในวาระสำคัญ คือวันศุกร์ และวันอีดทั้ง 2 หรือเป็นที่พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ความเคลื่อนไหวของสถานการณ์โลก รวมถึงเป็นสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลามในด้านต่างๆ อีกด้วย

กลุ่มผู้ก่อตั้งโดยการนำของ ร.อ.ฉัตร ศรียานนท์ ผู้เป็นทั้งประธานกรรมการและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการก่อตั้งคณะกรรมการ ขึ้น เพื่อบริหารงานและขอยื่นจดทะเบียนใช้ชื่อว่า “มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2497 ต่อมาจึงได้มีการพิจารณาหาทำเลที่ตั้งและทุนสำหรับการก่อสร้างอาคาร มีการเปลี่ยนสถานที่หลายแห่งจนกระทั่งมาลงตัวในสถานที่ตั้งปัจจุบันและ เปลี่ยนชื่อจาก “มัสยิดกลางแห่งประเทศไทย” มาเป็น “มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2519 ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสมและความคล่องตัวต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการ ซี่งมีนายเล็ก วานิชอังกูร เป็นประธานมูลนิธิฯ ผู้ริเริ่มการก่อสร้างคนต่อมา การจัดหาสถานที่และเงินทุนนั้นได้เริ่มทำกันเป็นระยะๆ สะสมกันมาตลอด จากการบริจาคของชาวมุสลิมในประเทศไทย และการบริจาคที่ดินของเอกชนรวมถึงการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ รวมกันทีละน้อยจนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควรเพียงพอที่จะบันดาลให้มัสยิด แห่งนี้เกิดเป็นจริงได้ในที่สุด บนเนื้อที่ของมูลนิธิฯ จำนวน 10 ไร่เศษ ได้มีการเริ่มตอกเสาเข็มวางรากฐานอาคารโดย ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เมื่อปี พ.ศ. 2514

การก่อสร้างได้ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะเงินทุนในการก่อสร้างมีจำกัด เมื่อการก่อสร้างได้ดำเนินไปได้ประมาณ 40% ของโครงการ ประธานมูลนิธิฯ (นายเล็ก วานิชอังกูร) ก็ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงเป็นหน้าที่ของประธานมูลนิธิฯ คนต่อมารับช่วงบริหารโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายต่อไปตามลำดับดัง นี้

1. ร.อ. ฉัตร   ศรียานนท์        พ.ศ. 2497 – 2510

2.นายเล็ก     วินิชอังกูร        พ.ศ. 2511 – 2517

3.นายเกษม   มานะจิตต์       พ.ศ. 2517 – 2520

4.นายสมาน  เพ็ชรทองคำ    พ.ศ. 2520 – 2529

ในปี พ.ศ.2527 อาคารมัสยิดได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ พอจะประกอบพิธีละหมาดได้ ใช้เงินค่าก่อสร้างประมาณ 30 ล้านบาท รวมเวลาก่อสร้าง 14 ปี