รอดคุก! ศาล เมตตา “ปึ้ง” คดีออก พาสปอร์ต “ทักษิณ” โดยให้รอลงอาญา 2ปี

78

ลุ้นระทึก! ศาลฏีกาฯ นัดอ่านคำพิพากษา ชั้นอุทธรณ์ คดี อดีต รมว.ต่างประเทศ ออก “พาสปอร์ตแดง” ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้ต้องหาหนีคำพิพากษา หลัง ป.ป.ช.มีมติ ชี้มูลความผิด เมื่อปี 2560 ชี้ หากศาล พิพากษายืน จะถูกควบคุมตัว ส่งเรือนจำทันที

วันนี้ (10ต.ค.) เวลา 11.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจำเลยในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกหนังสือเดินทาง หรือ “พาสปอร์ตแดง” ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นจำเลยหลบหนีคำพิพากษาและหมายจับ

คดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อต้นเดือน ก.พ. 2560 ชี้มูลความผิดนายสุรพงษ์กรณีออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกออกหมายจับในคดีร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก่อการร้าย และคดีทุจริตหลายคดี ขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 21 (2) (3) (4)

คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 เห็นว่าจำเลยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกระทำการสนับสนุนช่วยเหลือนายทักษิณซึ่งเป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และหลบหนีหมายจับในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ สามารถเดินทางในต่างประเทศได้โดยสะดวก อยู่ในต่างประเทศโดยไม่ผิดกฎหมาย และรัฐบาลไทยไม่อาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นขับออกจากประเทศหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดน อันเนื่องจากเหตุที่ไม่มีหนังสือเดินทางได้

ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมไทยอ่อนแอและไม่มีสภาพบังคับตามลำดับ นอกจากนี้ ยังส่อให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพของแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทยในสายตาประชาคมโลก ซึ่งกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับนายทักษิณ อันเป็นการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริต

องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าการกระทำความผิดของจำเลยมีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลซึ่งหลบหนีให้สามารถเดินทางในต่างประเทศได้สะดวก และเป็นผลบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย จึงไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวนายสุรพงษ์ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล โดยหลักทรัพย์เดิมวางไว้ 3 ล้านบาท เพิ่มเงินสดอีก 2 ล้านบาท รวมเป็น 5 ล้านบาท

สำหรับการอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ในวันนี้ หากศาลฯ มีคำพิพากษายืน นายสุรพงษ์จะต้องถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำทันที โดยล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำสั่งยืนคำพิพากษาศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ1แสนบาท แต่โทษจำคุก ให้รอลงอาญา 2ปี โดยเห็นว่า จำเลย ป่วยเป็นโรคมะเร็ง