มลายู มาจากภาษาสันสกฤต จากคำว่า “มลายา” หมายถึง ภูเขา หรือชื่อของภูเขาลูกหนึ่งในแถบชมพูทวีป มลายูเป็นชื่อ ลำธารต้นน้ำของแม่น้ำ บาตังฮารี (Batang Hari) บนเกาะสุมาตรา
คนมลายู
โดย นิรอมลี นิมะ
เมื่อประมาณ 1,500 ปีล่วงมาแล้ว มีอาณาจักรมลายูเกิดขึ้นในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นอาณาจักรเก่าแก่ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 อยู่ห่างจากเมืองปาเล็มบังทางตอนเหนือราว 200 กิโลเมตร มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจัมบี ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งปากแม่น้ำมัวรา จัมบี (Muara Jambi) ชาวอินเดียเรียกดินแดนนี้ว่า Malaya Dvipa (แผ่นดินมลายู) เมื่อพวกเขาจะกล่าวถึงเกาะสุมาตรา
ต่อมาอาณาจักรมลายูเป็นที่รู้จักในนามจัมบี Yi Jing พระภิกษุชาวจีนเคยเดินทางมาเยือนเมืองนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้บันทึกไว้ว่า Ma-La-Yu อยู่ใต้อำนาจของศรีวิชัย มีสินค้าที่สำคัญคือทองคำและของป่า ศรีวิชัยได้ยึดครองจับบีตั้งแต่ปี ค.ศ.686-1025 เอกสารประวัติศาสตร์จีนระบุว่า ในระหว่างปี ค.ศ.1079 และ ค.ศ.1088 อาณาจักรศรีวิชัยได้ส่งทูตจากจัมบีและปาเล็มบัง ไปเยือนเมืองจีน 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1082 และ ค.ศ.1088 ซึ่งแสดงว่าในขณะนั้นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยมี 2 แห่ง คือ จัมบีและปาเล็มบัง
และเมื่อกองทัพของราเชนโจละจากอินเดียใต้บุกรุกโจมตีปาเล็มบังในปี ค.ศ.1025 มีเสนาบดีและขุนนางหลบหนีไปอยู่เมืองจัมบีเป็นจำนวนมาก จนต่อมาอาณาจักรมลายูจัมบีได้ยึดครองดินแดนของศรีวิชัยที่ปาเล็มบัง การค้าทางทะเลที่ปาเล็มบังเสื่อมลง จัมบีกลับมารุ่งเรืองแทน จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเล ตั้งแต่คริสต์ศควรรษที่ 11 เป็นต้นมา ปัจจุบันดินแดนซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนมลายู มีอาณาบริเวณกว้างขวางคลอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงหมู่เกาะต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน ภาคใต้ของประเทศไทย ตลอดไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก
คนมลายูได้ตั้งมั่นและครอบครองดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มีร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได่ขุดพบมากมาย คนมลายูได้เริ่มต้นอยู่อาศัยสร้างชุมชน จนกลายเป็นบ้านเมืองที่มีการพัฒนาการเจริญรุ่งเรืองกลายเป็นอาณาจักร มีวัฒนธรรม ภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเองมานานนับพันปี จนกล่าวได้ว่า คนมลายูเป็นคนที่มีอารยธรรม เช่นเดียวกับอารยธรรมอื่นๆ ในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมกรีก อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมอียิปต์ หรืออารยธรรมจีน.