เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายนมีปรากฏการณ์ที่สร้างความ ชื่นใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ เมื่อสมเด็จพระสังฆราช ประทานพระอนุญาต ให้นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีและคณะเข้าเฝ้าเพื่อขอประทานความเห็นในการอยู่ร่วมกันของต่างศาสนิกในประเทศไทย
การเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เกิดจากการที่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างพุทธศาสนิกชนและมุสลิมอยู่เนืองๆ จึงมีการหารือกันเป็นการภายในว่า ผู้นำของ 2 ศาสนาน่าจะได้มีโอกาสได้พบกันเพื่อเป็นแบบอย่างของศาสนิก โดยนายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้ประสานไปยังกรมการปกครอง ที่ดูแลกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจย์ ประสานไปยังฝ่ายเลขานุการของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อได้รับประทานพระอนุญาตแล้ว ฝ่ายเลขานุการจุฬาราชมนตรี นายสุธรรม บุญมาเลิศ จึงทำหนังสือถึงฝ่ายเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเข้าเฝ้า
การเข้าเฝ้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562 เวลา 15.00 น. ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระสังฆราช ประทานวโรกาสให้ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง นำนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี และคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี อาทิ นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายอรุณ บุญชม ประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นายสุธรรม บุญมาเลิศ และนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สมาชิกวุฒิสภา
‘สมเด็จพระสังฆราชมีไมตรีจิตที่งดงามมาก มีพระอัธยาศัยที่ดีงาม ในตอนแรกคณะของจุฬาฯ ได้ยืนอยู่ห่างๆ ท่านได้เชิญให้เข้าไปใกล้ และประทานอนุญาตให้นั่งใกล้ๆ เป็นพระอนุญาต คณะไม่ได้ถือวิสาสะเข้าไปนั่งแต่อย่างใด เป็นอัธยาศัยที่ได้สร้างความประทับใจให้กับคณะของจุฬาราชมนตรีอย่างยิ่ง’ นายประสาน ศรีเจริญ เปิดเผยถึงรายละเอียดการเข้าเฝ้า
‘เมื่อคณะไปถึง ท่านทรงย้ำว่า พวกเราเป็นพี่น้องกัน เป็นคำพูดที่เคยพูดเมื่อตอนจุฬาราชมนตรีเข้าเฝ้าแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช’ นายประสาน กล่าว และว่า สมเด็จพระสังฆราช ตรัสกับจุฬราชมนตรีและคณะเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยของผู้นับถือศาสนาที่แตกต่างกันว่า ให้แต่ละศาสนิกปฏิบัติตามแนวทางของศาสนาของตัวเอง ท่านทรงเห็นว่า การปฏิบัติตามหลักศาสนาของแต่ละศาสนิก หรือแต่ละศาสนิกที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่า พุทธ คริสต์ อิสลาม ไม่ได้กระทบต่อความเป็นไทย
‘ความแตกต่างด้านศาสนา ไม่ได้ทำลายความเป็นไทย อย่าให้ความเป็นศาสนามากีดกันไม่ให้เราเป็นคนไทย เป็นสิ่งที่พวกเราประทับใจในท่านมาก สิ่งที่ท่านตรัสต่อพวกเรา ไม่มีสิ่งใดที่ขัดต่อหลักการศาสนาเราเลย’ นายประสาน กล่าว
ทั้งนี้ คณะของจุฬาราชมนตรี ได้เสนอให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างองค์กรศาสนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติของแต่ละฝ่าย เช่น ทางสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งได้เปิดอบรมหลักสูตรผู้นำอิสลามยุคใหม่ ก็จะทำหนังสือเชิญพระไปร่วมให้ความรู้ในหลักปฏิบัติของศาสนาพุทธด้วย