พ.ร.บ.ร่างงบประมาณรายจ่าย ปรจำปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านบาท ที่ กำลังจะถูก รัฐบาล “ลุงตู่” เข็นเข้าสู่ การประชุมสภา สมัยประชุมวิสามัญ ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด เชื่อว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ วันที่ 17-18 ต.ค.นี้ เพื่อรับหลักการในวาระแรก หลายฝ่ายมองว่า มันคือ ระเบิดเวลาลูกใหญ่! ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระเด็น ตกเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี
ถ้า กฎหมายนี้ไม่ผ่าน ย่อมมีผลกระทบถึงรัฐบาลอย่างแน่นอน และจะมีผลกระทบอย่างรุนแรง เหมือนอย่างที่ ชวน หลีกภัย ประธานสภา ส่งสัญญาณเตือนไว้ว่า “ถ้ากฎหมายนี้ไม่ผ่านวาระแรก ย่อมมีผลกับรัฐบาล”
ผลที่คาด.. จะเกิดกระแสกดดันจากฝ่ายค้านให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ไม่ก็ยุบสภา เพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่สามารถผลักดันกฎหมายสำคัญมาบังคับใช้ได้ ถามว่า เสียงของรัฐบาลประยุทธ์ขณะนี้ มีความเสี่ยงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มีอย่างยิ่งยวด และเข้าเงื่อนไข ล้มตัวเองได้ทุกเมื่อ เป็นเสียง “ปริ่มน้ำ” ที่อันตรายอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ ล่อแหลม ชิงไหว ชิงพริบ ของเกมการเมืองอันรุนแรง!
ที่สำคัญ ขณะนี้ ผ่านไปแล้ว กว่า 4 เดือน สาธารณชน ได้เห็นความง่อนแง่นของรัฐบาลหลายด้าน ปัญหาเอกภาพในการทำงานจากการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ทำให้ทีมเศรษฐกิจไม่เป็นทิศทางเดียวกัน 3 พรรคใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ที่ยึดกระทรวงสำคัญ ต่างเดินกันคนละทาง เพราะมุ่งแต่ทำตามนโยบายหาเสียงของพรรคตนเอง
กระทั่ง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับออกอาการเหนื่อยหน่ายกับความไม่เป็นเอกภาพไม่เหมือนสมัยรัฐบาลคสช.
ประการต่อมา ปัญหา เสียงปริ่มน้ำ ในสภาเริ่มออกฤทธิ์ หากเปรียบเป็นเรือกระดาษ ก็โคลงเคลงไปมา ลอยลำกลางมหาสมุทร มีรูรั่ว ต้องคอยปะผุ เวลาเจอพายุใหญ่ฟาดแต่ละครั้ง น้ำกระชอกขึ้นบนเรือจนเกือบจม การลงมติเรื่องต่างๆ ที่เพิ่งปิดสมัยประชุมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลถึงกับแพ้โหวตฝ่ายค้านไปสองครั้ง ในการพิจารณาปรับ แก้ร่างข้อบังคับการประชุมสภา
แต่โชคดีเพราะนี่อาจไม่ใช่วาระใหญ่ เป็นแค่การพิจารณาข้อบังคับ ไม่ใช่กฎหมายสำคัญ แต่มันก็ส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ช่างอันตรายจริงๆ ส.ส.ของรัฐบาลทั้งหมด ไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ไหนได้ในวันที่มีการประชุมสภา แม้แต่รัฐมนตรีเอง ก็ไม่สามารถออกงาน หรือ ไปลงพื้นที่ต่างจังหวัดได้ เพราะรัฐมนตรีนั่งเก้าอี้ ส.ส.ควบไปด้วย ถ้าไป เสียงในการลงมติก็จะเกิดปัญหาทันที
ปัญหาใหญ่อีกประการ คือ 4 เดือนที่ผ่านมา เสียงของรัฐบาลที่ว่า ปริ่มน้ำแล้ว มากระชอกหายไปอีก บีบหัวใจนายกฯประยุทธ์ หนักขึ้น เดิมเสียงรัฐบาลอยู่ที่ 254 ฝ่ายค้าน 246
ปัจจุบันรัฐบาลหายไป 3 เสียงเหลือ 251 เสียง จาก 1.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ พ้นจาก สส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เพราะต้องคำพิพากษาจำคุกคดีล้มการประชุมอาเซียนซัมมิท 2.และ 3.คือ พรรคเล็ก 2 พรรค หัวหน้าพรรคไทยศิวิไลย์ และ พรรคประชาธรรมไทย ถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้านไม่พอใจที่ไม่ได้รับจัดสรรผลประโยชน์เก้าอี้ประธานกรรมาธิการในสภา ยังมีกรณี กรุงศรีวิไล สุทินเผือก โดนใบเหลืองจาก กกต. อีก แต่ยังต้องให้ศาลฎีกาชี้ขาดถึงจะมีผลโดยสมบูรณ์
ส่วนฝั่ง 7 พรรคฝ่ายค้านเองหายไป 3 เสียง จาก 1.ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรรคอนาคตใหม่ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่กรณีถูกสอบปมคุณสมบัติผู้สมัคร สส. 2.นายนวัธ เตาะเจริญสุข สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ถึงแม้ยังไม่พ้นจาก ส.ส. แต่ก็ใกล้เต็มทน เพราะถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุกตลอดชีวิตคดีจ้างวานฆ่า 3. นางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ขอลาออกจากปัญหาสุขภาพ แม้จะหายไป 3 แต่ก็มี 2 เสียงของพรรคเล็กที่ขอถอนตัวจากรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้าน จึงเหลือ 245 เสียง
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการลงมติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯอีก 2 คน ที่มาจากฝ่ายรัฐบาล หากวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องงดออกเสียง ฝ่ายรัฐบาลก็จะหดเหลือ 248 ต่อ 245
ด้วยตัวเลขที่ฉิวเฉียดจนเกือบจะกลายเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” จึงมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะดึง ส.ส.ฝ่ายค้านมาเป็นพันธมิตรอย่างเร่งด่วน เห็นเค้าลางที่สส.ฝ่ายค้านบางราย มีท่าทีปันใจสนับสนุนรัฐบาล ทั้งกรณีพรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 จาก 6 เสียง หลังเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่จากเดิม “เจ๊มิ่ง” มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่นั่งยันยืนยัน ไม่เข้าร่วมรัฐบาล แต่ มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคคนใหม่ ประกาศว่า การลงมติในสภา ทางพรรคจะดูเป็นเรื่องๆ เข้าทำนองเป็นฝ่ายค้านอิสระ
หรือ เมื่อไม่นานนี้ มี สส.พรรคเพื่อไทย บางจังหวัดไปต้อนรับสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะลงพื้นที่ดูปัญหาน้ำท่วม กระทั่งที่เป็นข่าวว่า 14 สส.พรรคเพื่อไทยไปนั่งกินข้าวกับ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตรจากพรรคพลังประชารัฐ ขณะเข้าร่วมประชุมสภา สร้างความระแวงให้กับแกนนำพรรคเพื่อไทยว่า จะถูกดูด
อะไร คือ แรงจูงใจ ที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน บางกลุ่มอาจจะโหวตให้กับร่างพรบ.งบประมาณ นั่นก็คือ ผลประโยชน์โครงการต่างๆ ที่อยู่ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณวฯงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่ฝ่ายรัฐบาลอาจนำมาต่อรองแลกกับการได้รับจัดสรรงบในพื้นที่ให้กับ สส.เหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ในวันที่ต้องลงมติเห็นชอบ ร่างพ.รบ.งบประมาณฯ แกนนำรัฐบาลต้องตรึงกำลัง ส.ส.ฝ่ายตัวเองสุดกำลังก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพรรคเล็ก 7 พรรค 7 สส. ที่แตกแถวง่ายสุด เพราะถ้าลงมติพลาดแม้แต่1-2 เสียง อาจทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ผ่านสภา นายกฯประยุทธ์ ก็งานเข้าเมื่อนั้น
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในอดีต นายกรัฐมนตรีที่เคยลาออกเพราะฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตในสภา คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เสนอพระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง แต่ ฝ่ายรัฐบาลของ จอมพล ป.แพ้โหวตไปด้วยคะแนน 36 ต่อ 48
จากนั้น ไม่กี่วัน รัฐบาลจอมพล.ป.ได้นำ พระราชกำหนดพุทธมณฑลบุรี เข้าสู่สภา แต่ก็ถูกลงมติคว่ำอีกแพ้ไป 41 ต่อ 43 ทำให้ จอมพล ป. ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2487
ประวัติศาสตร์ การเมือง จะกลับมาซ้ำรอยเดิมหรือไม่ เป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด และ ลุ้นระทึกอย่างยิ่ง !