บิ๊กตู่รอด! ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมถวายสัตย์

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับวินิจฉัยปมนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบ ระบุ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับสถาบัน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

วันนี้ (11 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติกรณีคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องให้พิจารณากรณีคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

โดยในการพิจารณาประเด็นแรก ตามคำร้องขอของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ตามมาตรา 47(1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ โดยวินิจฉัยว่าไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามกฎหมายบัญญัติไว้ว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐ และต้องไม่ใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล และมาตรา 46(3) บัญญัติว่า ถ้าศาลเห็นว่าเป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าการถวายปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามพระพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 47(1) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสาม

ประกอบกับการที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และได้พระราชทานพระราชดำรัสเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 และต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ยังได้พระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นการร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อนายกรัฐมนตรี เรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 (3) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป