แอ๊ด คาราบาว” โพสต์เฟสบุ๊ก กังวล ประกาศ สธ. ปลดล็อกกัญชง-กัญชา ส่อล็อกสเป็กเอื้อบริษัทนายทุน ระบุ อนุทิน ถูกวางยาจากขรก.เซ็นลงนาม ระบุกำลังหาทางแก้ไข คาดสัปดาห์หน้าจะหาทางยกร่างกฎหมายฉบับใหม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยให้ยกเลิกกัญชาออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5
ประกาศดังกล่าว ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข โดยมีเนื้อหาดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๘ (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ลำดับที่ ๑ ในบัญชีท้ายประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ พ.ศ. ๒๕๖๑ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/218/T_0001.PDF
ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ สรุปง่ายๆ คือ อนุญาตให้นำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์เพื่อรักษาได้ รวมถึงเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่ไม่ได้ปล่อยเสรีในการบริโภคเหมือนกับเหล้าหรือบุหรี่
ฉบับแรก เป็นเรื่องกำหนดลักษณะกัญชงเพื่อเป็นประโยชน์ในการควบคุมการผลิต นําเข้า ส่งออก จําหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชงให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จากกัญชง
ในส่วนฉบับที่ 2 สาระสำคัญคือให้ยกเลิกชื่อยาเสพติดให้โทษ กัญชา (cannabis) ในบัญชีท้ายประกาศ กระทรวงสาธารณสุข และเพิ่มเงื่อนไขและกำหนดระบุชื่อ “กัญชง” ให้เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 แต่ได้ยกเว้นกรณี
1.สารแคนนาบิไดออล (CBD) ที่สกัดจากกัญชงซึ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 99 โดยมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก
สรุปคือ Pure 99% เอานำไปผสมในอาหารหรือเป็นส่วนผสมเครื่องสำอางได้
2.สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดที่มีสาร CBD เป็นส่วนประกอบหลัก และ มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เท่านั้น
สรุปคือ เป็นยา และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้
3.เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชงซึ่งเป็นอาหาร และนำไปเพาะพันธุ์ไม่ได้
4.น้ำมันจากเมล็ดกัญชงหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งเป็นเครื่องสำอาง และนำไปเพาะพันธุ์ไม่ได้
5.เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง
ทั้งนี้สามารถจำหน่ายได้ภายในประเทศเท่านั้น มีระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 27 ส.ค.2562
ที่มา : เนชั่นสุดสัปดาห์