“มนัญญา” กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานและการแสดงผลงานของสภาเกษตรกรจังหวัด กลุ่มภาคกลาง 26 จังหวัด ปลุกสภาเกษตรจังหวัด รณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี มุ่งผลิตอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภค
วันที่ 30 สิงหาคม 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด “การสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานและการแสดงผลงานของสภาเกษตรกรจังหวัด ในกลุ่มภาคกลาง 26 จังหวัด” โดยมี นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเรวัต ประสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง 26 จังหวัด สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ให้การต้อนรับ และ นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “สภาเกษตรกร” เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของเกษตรกรทั้งประเทศ ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องเกษตรกรไทย นำปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการเสนอปัญหาความต้องการ การสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร พร้อมทั้งนำมาซึ่งความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้สภาเกษตรจังหวัดมีความร่วมมือกันในการมุ่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้เกษตรกร โดยให้คำนึงถึงการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเป็นสิ่งสำคัญ “ขอให้สภาเกษตรกรจังหวัด ได้ร่วมมือกันกำหนดเป้าหมาย นำสิ่งที่ดีสู่ผู้บริโภค เพราะต่อไปภายหน้าประเทศไทยจะเป็นครัวโลก กระทรวงเกษตรฯ จึงมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเลือกซื้อสินค้าที่สะอาดปลอดภัย และได้มาตรฐาน
พร้อมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรไทย หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลงในแต่ละปี เพราะปุ๋ยเคมีเป็นตัวการทำลายดิน เพิ่มต้นทุนการผลิต และสร้างหนี้สินให้แก่เกษตรกร โดยขณะนี้ระบบ GAP ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรา ดังนั้น เราทุกคนจึงต้องเพียรพยามปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค โดยสภาเกษตรกรจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกร จึงควรผลักดันส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพและปลอดภัย ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรแบบผสมผสานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรไทยให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ จะผลักดันให้มีการทำสหกรณ์ซุปเปอร์มาเก็ต เพื่อจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ โดยจะประสานร้านค้าสหกรณ์ที่มีอยู่แต่ละจังหวัดมารวมกัน โดยเริ่มที่จังหวัดนครปฐม เป็นจังหวัดแรก เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพของสหกรณ์ได้มากขึ้น และช่วยกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยด้วย”
นางสาวมนัญญา กล่าว สำหรับโครงการสัมมนาเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงาน และการแสดงผลงานของสภาเกษตรกรจังหวัด ในกลุ่มภาคกลาง 26 จังหวัด เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง โดยเป็นเวทีระดมความคิดร่วมกันของสภาเกษตรกรในภาคกลาง ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการกำหนดทิศทางการทำงานในอนาคตให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการร่วมกันค้นหาแนวทางในการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานและการแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ตลอดจนเป็นเวทีนำเสนอผลงานให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่งผลสำเร็จของงานต่าง ๆ เกิดจากความทุ่มเทเสียสละ เนื่องจากสภาเกษตรกรเข้าถึงและสามารถระบุเป้าหมายที่เป็นปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกรได้อย่างตรงประเด็น ส่งผลให้ได้รับการพัฒนาตรงตามแผนงานโครงการของหน่วยงาน
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา 33 กำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาเกษตรกรจังหวัด ให้มีการพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรภายในจังหวัด ประสานนโยบายและการดำเนินงานระหว่างองค์กรเกษตรกร เกษตรกร สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาและหน่วยงานของรัฐ เสนอนโยบายและแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม สภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง จึงได้ดำเนินการจัดประชุมขึ้น เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กำหนดการจัดประชุม 2 เดือน/ครั้ง โดยได้นำปัญหาของเกษตรกรมาร่วมกันหาแนวทางแก้ไข และนำเสนอต่อสภาเกษตรกรแห่งชาติ นอกจากนี้ ในแต่ละจังหวัดยังได้นำแนวทางแก้ไขปัญหาไปปฏิบัติจนเกิดผลงานเป็นรูปธรรม ได้แก่ ปัญหาด้านน้ำ ข้าว สับปะรด อ้อย มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ตลอดทั้งปัญหาการเช่าที่ดิน ฯลฯ มาเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกลุ่มภาคกลาง รองประธานสภา สมาชิกสภา หัวหน้าสำนักงาน และพนักงานฯ รวม 208 คน โดยจะมีการประชุมขับเคลื่อนงาน การจัดเวทีการเสวนา เรื่อง ผลงานที่เกิดจากการนำแนวทางจากการประชุมร่วมกันไปปฏิบัติ และแนวทางการขับเคลื่อนงานในปี 2563.