นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา (M6)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงฯ นางสาวดุจดาว เจริญผล ผู้ตรวจราชกระทรวงฯ นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และ นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายปริญญา แสงสุวรรณ วิศวกรใหญ่ด้านก่อสร้างทาง กรมทางหลวง (ทล.) หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ตอนที่ 40 บริเวณทางหลวงหมายเลข 204
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า ได้รับฟังบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย บางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา ตอนที่ 34 (คลองไผ่) และตอนที่ 40 โดยได้มอบแนวทางให้ ทล. ร่วมกับ ทช. จังหวัดนครราชสีมา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อระหว่างมอเตอร์เวย์ ตอน 40 กับทางหลวงชนบท นม.1120 (สามแยกปักธงชัย) ซึ่งห่างกันประมาณ 300 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเป็นทางเลี่ยงเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบ และเกิดประโยชน์สูงสูดต่อประชาชนตามนโยบายกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอของบประมาณประจำปี 2564 ต่อไป รวมทั้งให้ ทล. วางแผนจัดการจราจรในเส้นทางสายหลักร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะทางขึ้นเนินคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ตอนที่ 34 และเป็นช่วงที่มีการจราจรชะลอตัว เนื่องจากมีรถโดยสารขนาดใหญ่และรถบรรทุกใช้ช่องจราจรร่วมกับรถทั่วไป ส่งผลกระทบต่อการจราจร โดยให้ ทล. ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ช่องทางการจราจรและความเร็วที่เหมาะสมกับรถประเภทต่าง ๆ
ให้พิจารณาปรับรูปแบบจุดกลับรถในเส้นทางสายหลักทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่นำร่อง (ถนนเพชรเกษม ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนพหลโยธิน) ให้มีพื้นที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย ไม่ตัดกระแสจราจร และติดตั้งป้ายเตือนก่อนถึงจุดกลับรถ ให้ ทล. และ ทช. พิจารณารูปแบบการใช้อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยที่ผลิตหรือมียางพาราเป็นส่วนผสม โดยมุ่งเน้นไปที่ยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง นอกจากนี้ให้ ทล. เสนอแผนปรับปรุงขยายทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา – บุรีรัมย์ ซึ่งมีขนาด 2 ช่องจราจร อีก 5 ช่วง ระยะทางรวม 35 กิโลเมตร เพื่อดำเนินการขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดเส้นทาง และให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ ทล. ทช. การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้มีภาคประชาชน สมาชิกผู้แทนราษฎรในพื้นที่ และตำรวจ เข้าร่วม เพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างทางลอดบริเวณถนนสืบศิริ (แยกสีมาธานี) ทดแทนสะพานข้ามแยกของ ทล. ซึ่งจะมีการรื้อถอนในระยะต่อไป เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับของโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงผ่านบริเวณดังกล่าว โดยให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ การดำเนินโครงการทั้งหมดของกระทรวงฯ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ไม่ได้ส่งผลดีต่อจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) อีกด้วย เพราะจังหวัดนครราชสีมาเป็นประตูสู่ภาคอีสาน
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้เดินทางไปตรวจพื้นที่โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ทั้ง 2 ตอน และได้รับข้อเสนอจากเทศบาลตำบลคลองไผ่ ที่ต้องการให้ ทล. ก่อสร้างจุดกลับรถแบบเกือกม้า บริเวณถนนมิตรภาพ กม.ที่ 88+200 โดยให้ ทล. พิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง และเปิดรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ
สำหรับโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ตอนที่ 40 มีจุดเริ่มต้นที่ กม.ที่ 188+800 – กม.ที่ 195+943 (รวมทางแยกต่างระดับนครราชสีมา) ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ขนาด 4 ช่องจราจร ไป – กลับ ลักษณะผิวทางเป็นแบบคอนกรีตและแอสฟัสต์คอนกรีต ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองนครราชสีมา และสามารถเชื่อมต่อไปยังจังหวัดขอนแก่นได้ ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้า 76.095% ช้ากว่าแผนงาน 19.363% เนื่องจากมีการปรับรูปแบบโครงการให้เหมาะสมกับพื้นที่ และได้ขยายเวลาการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 273 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 ส่วนโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฯ ตอนที่ 34 เป็นส่วนหนึ่งของทางยกระดับเรียบอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จุดเริ่มต้น กม.ที่ 140+040.000 – กม.ที่ 141+810.000 แยกออกจากถนนมิตรภาพ มุ่งหน้าสู่นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 17 กม. ขนาด 6 ช่องจราจร ไป – กลับ โครงการมีความคืบหน้าการก่อสร้าง 95% เร็วกว่าแผนเล็กน้อย ปัจจุบันอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียด อาทิ การตีเส้นจราจรและไฟฟ้าส่องสว่าง คาดว่าจะสามารถคืนพื้นที่การก่อสร้างได้ก่อนเทศกาลปีใหม่ 2563
สำหรับภาพรวมของโครงการมอเตอร์เวย์ฯ ทั้งโครงการ ระยะทาง 196 กิโลเมตร จำนวน 40 สัญญา มีความคืบหน้า 76% ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด 13 % เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคต่างๆของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาจราจรระหว่างภาค ส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังทั่วทุกภูมิภาค เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนต่อไป