วันที่ 3 สัญญากับเพื่อนไว้ว่า จะพาออกจากกรุงเทพฯ ไปเทั่ยวจังหวัดใกล้ๆ ที่เป็นเส้นทางฮาลาลที่สวยงาม และความเป็นมาอันยาวนาน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก เพราะเป็นราชธานีเก่าของไทย และก็มีชุมชนมุสลิมและมัสยิดที่เก่าแก่หลายแห่ง
เราจะมุ่งหน้าสู่พระนครศรีอยุธยา ออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นทางด่วนจนไปถึงบางปะอิน ใช้เวลาไป ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ก็ได้สัมผัสกับความสวยงามของ พระราชวังบางปะอิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน บนพื้นที่ทั้งหมด 116 ไร่
พระราชวังแห่งนี้ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นบ้านเดิมของพระราชมารดา คือ “แม่อิน” เป็นสถานที่เสด็จประทับแรมของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น
พระราชวังบางปะอินถูกปล่อยให้รกร้างหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จึงได้มีการบูรณะขึ้น ใหม่ และพระองค์เสด็จมาพักผ่อนบ่อยครั้ง จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จึงได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยสร้างพระที่นั่ง พระตำหนัก และตำหนักต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อใช้เป็นที่ประทับรับรองพระราชอาคันตุกะ และพระราชทานเลี้ยงในโอกาสต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน
ที่ประทับใจพระราชวังบางปะอินมากที่สุด คือ การจัดพื้นที่ landscape และสวนสวย ๆ ในพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล และความสวยงาม อลังการ ของพระตำหนักต่าง ๆ รวมทั้งประวัติความเป็นมา ซึ่งยาวนานกว่า 380 ปี
ด้วยความกว้างขวางของพระราชวังบางปะอิน แม้จะเดินอยู่เป็นเวลานานก็ยังไม่ทั่ว จนใกล้เที่ยง ได้เวลาของอาหารกลางวัน ตั้งใจไว้ว่า จะไปกินที่ร้าน “ครัววนิดา ฮาลาลฟู้ด” ซึ่งอตั้งยู่ริมถนนสายอยุธยา-บางปะหัน ที่นี่บริการอาหารหลากหลาย ทั้งอาหารไทย สเต็ก ประเภทข้าวหมก-โรตี-แกงแพะ และอาหารอีสาน ด้านหลังยังมีพื้นที่จัดสวนกว้างขวาง และมีรีสอร์ทให้เช่าพักด้วย
เป็นอีกมื้อที่สุดแสนจะอร่อย
อิ่มหนำสำราญ ก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังคลองตะเคียน สถานที่แรก มัสยิดกุฎีช่อฟ้า ต.คลองตะเคียน ซึ่งถือเป็นมัสยิดแห่งแรกของพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านเลาฟ้ามัสยิดแห่งนี้ สร้างหลังจากที่มุสลิมอพยพมาจากสุโขทัยมายังพระนครศรีอยุธยาที่คลองตะเคียน มีมุสลิมจากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ ต่อมาเฉกอะหมัด พ่อค้าชาวเปอร์เซีย ได้รับพระราชทานตำแหน่งสมุหนายก และได้รับพระราชทานที่ดินในเขตกำแพงพระนครจากพระเจ้าทรงธรรม ในปี พ.ศ.2159 ท่านได้จัดพื้นที่บางส่วนสร้างศาสนสถานและบ้านพักในพื้นที่คลองตะเคียน
คลองตะเคียนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีลำคลองสำคัญสำหรับชาวบ้านได้ใช้ชีวิตและทำการค้าขาย ได้แก่ คลองตะเคียน คลองคูจาม คลองเทศ ชื่อ “สุเหร่ากุฎีช่อฟ้า” เป็นนามพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวเสด็จประพาสทางชลมารค ต่อมาในปี พ.ศ.2496 สัปปุรุษของมัสยิดลงความเห็นให้ใช้คำว่า มัสยิด แทนคำว่า สุเหร่า มัสยิดกุฎีช่อฟ้า ผ่านการบูรณะเปลี่ยนแปลงใหญ่ ในปี พ.ศ.2512 และปี พ.ศ.2526
จากกุฎีช่อฟ้า ละหมาดเสร็จ มุ่งหน้าต่อไปที่ “วัดกุฏีดาว” ซึ่งตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านทิศตะวันออก เป็นวัดขนาดใหญ่แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารชัดเจนเกี่ยวกับประวัติการสร้าง เพียงมีข้อความระบุในพระราชพงศาวดารกรุงศรี ฯ ว่า ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เมื่อปลายปี พ.ศ.2254 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในขณะที่ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ทรงเป็นผู้ควบคุมดูแล จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และถูกทิ้งร้างเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310
ที่น่าสังเกตคือ นอกกำแพงวัดมี “ตำหนักกำมะเลียน” ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก โดยผนังด้านยาวชั้นบนและชั้นล่าง เจาะช่องหน้าต่างเป็นทรงโค้งแหลมคล้ายกับศิลปะแบบอิสลาม
เสร็จจากชมโบราณสถานแล้ว จึงเดินทางไปเที่ยวชมตลาดน้ำอโยธยา ซึ่งตกแต่งสถานที่เป็นแบบตลาดน้ำในชนบท มีทางเดินหน้าเรือนแถวที่เปิดเป็นร้านขายของแล่นถึงกันตลอด นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรืองหางยาวพาชมบรรยากาศรอบ ๆ ได้ ฝั่งตรงข้ามที่ตั้งตลาดน้ำอโยธยา ยังเป็น “หมู่บ้านช้างอโยธยา” ซึ่งมีบริการให้นักท่องเที่ยวนั่งหลังช้างชมเมืองอีกด้วย
จบทริปด้วยร้านโรตีสายไหม ของฝากยอดนิยมของอยุธยา มีขายเรียงกันเป็นทิวแถวบริเวณโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา บนถนนอู่ทองจนเลยเข้าไปถึงถนนศรีสรรเพชญ์ เลือกซื้อได้ตามสบายเพราะอร่อยทุกร้าน และส่วนใหญ่เจ้าของเป็นมุสลิม
ได้ของฝากกันเต็มมือ ก็ได้เวลากลับกรุงเทพฯ เพื่อนบอกคุ้มค่าที่ได้มาเยือนเมืองกรึงคราวนี้ ได้สัมผัสความหลากหลาย ทั้งสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และความทันสมัยที่มุสลิมต้องก้าวตาม
คราวหน้าคงต้องหาเส้นทางฮาลาลให้นางได้เช็คอินอีกแล้ว อยากให้ไปเช็คอินที่ไหนแจ้งกันมาได้นะ