‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ เป็นชื่อที่กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง หลังจากติดโผ เป็นรมช.มหาดไทย ในครม.ประยุทธฺ์ 2 แต่ถูกกระแสกดดัน ย้ายไปเป็นรมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่สุดท้าย ต้องส่งชื่อ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาวรับตำแหน่งแทน ไปดูชีวิตที่โลดโผนของ ชาดา ที่ได้รับฉายา เจ้าพ่อสะแกกรัง ก่อนจะก้าวการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติในที่สุด
ชาดา ไทยเศรษฐ เกิดเมื่อ 7 มิ.ย. 2504 ในครอบครัวมุสลิมปาทาน ที่อพยพจากปากีสถานมาตั้งรกรากที่อุทัยธานี ตั้งแต่รุ่นปู่ โดนปู่ของชาดา เป็นพอค้าเนื้อรายใหญ่ของอุทัยธานี แต่รุ่นพ่อ ‘เดชา ไทยเศรษฐ์’ เป็นพ่อค้าซุง แต่หันมาค้าเนื้อ ส่งออกต่างประเทศ และขายเนื้อในอุทัยธานี
ชีวิตในวัยเด็กของ ‘ชาดา’ นับว่า ลำบาก เมื่ออายุ 7 ปี ประมาณปี 2511 พ่อของเขาถูกยิงเสียชีวิต ถัดมาอีก 7 ปี แม่ของชาดา นางปาลี้ ก็มาถูกยิงเสียชีวิตอีกคน และในอีก 7-8 เดือนต่อมา พี่ชาย ชัยยศ ที่มารับช่วงค้าเนื้อก็ถูกยิงเสียชีวิตอีกคน เหลือ ชาดากับมนัญญา ผู้เป็นน้องสาว แต่เขาก็ถูกยิงที่รอดชีวิตมาได้
‘คุณพ่อผมเสียตอนปี 2511 พ่อถูกลอบทำร้าย พอพ่อเสีย น้องชายพ่อก็ต่อสู้กันแบบมีเรื่องมีราวต่างๆ เกิดการฆ่าแกงกันวุ่นวายไปหมด ก็มีการล้างแค้นกันไปมา ภาพตอนนั้นมันเหมือนสงคราม เหมือนหนังจีนแบบหนังฮ่องกง ผมไปตลาดเห็นเขายิงกันวุ่นวายไปหมด มาจากปัญหาขัดกันเรื่องผลประโยชน์เรื่องค้าเนื้อ ก็มีคนมาเตือนพ่อผมว่า จะมีคนมาทำร้าย ท่านก็บอกว่าไม่มีหรอก เขาคงคิดว่าถ้าไม่มีพ่อผมเสียคน เขาคงได้ครอบครองกิจการ’ ชาดา เล่าชีวิตผ่านนิตยสารผู้นำท้องถิ่น
“ปี 2518 คุณแม่เสีย วันที่คุณแม่เสียผมอยู่ในเหตุการณ์ คือวันนั้นมีคนมาทำร้ายแม่ผม ผมอยู่ที่บ้าน แต่ผมไม่เห็น เพียงแต่ได้ยินเสียงปืน ก็วิ่งมาดู เห็นแม่ถูกยิงเสียชีวิต พอแม่ผมเสีย พี่ชายผมก็กลับมาทำกิจการรับช่วงต่อ ผมเองช่วงนั้นกำลังเป็นวัยรุ่น อายุประมาณสัก 14-15 ปี” ชาดา ย้อนวันเวลาแห่งความเศร้าระทม
หลังแม่เสีย ชาดา ได้ออกจากบ้าน จนเมื่อพี่ชาย เสียชีวิตอีกคน เขาจีงกลับมา พร้อมกับคำพูดของคนในตลาด ที่บอกว่า ‘ไอ้หนู อย่ามาอยู่เลย เดี๋ยวโดนเขารังแกอีก’ ทุกคนเจอหน้าผมเขาก็สงสาร เขาบอกให้ไปอยู่กับตายายดีกว่า”
เยวัชชา ปาทาน ผู้เป็นตา ได้มารับเขาไปอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี เพราะกลัวจะถูกฆ่าอีก แต่เพราะความที่คิดว่าไม่ใช่แผ่นดินบ้านเกิด ชาดา จึงกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งที่อุทัยธานีบ้านเกิด แต่เมื่อกลับอุทัยธานี ต้องเจอผู้จัดการมรดกโกงจนหมดตัว
‘แม่ผมมีเครื่องเพชร เครื่องทอง ทรัพย์สิน ที่ดินต่างๆ ที่เป็นของแม่ ก็ต้องมีผู้รับ แต่ช่วงนั้นผมอายุยังน้อย ไม่มีใครเป็นผู้จัดการมรดก ก็เลยต้องตั้งคนเป็นผู้จัดการมรดก ข้าวของของแม่ไม่มีอยู่ที่ผมเลย ผู้จัดการมรดกครอบครองหมด’ ชาดา กล่าว
ชาดา เริ่มธุรกิจขายเนื้อและโรงฆ่าสัตว์ ที่ปู่และพ่อเขาทำกิจการมา ด้วยเงิน 6,000 บาท ที่หยิบยืมมาจากลูกค้าคนหนึ่ง
‘ผมเริ่มค้าเนื้อตอนอายุ 14 ปี ผมก็ไม่มีลูกจ้าง มีแต่เพื่อนรุ่นเดียวกัน คนอื่นไม่มี มีแต่คนในตลาดอุทัยฯ ช่วงนั้นผมลำบากพอสมควร เราเด็กอายุ 14 ได้เพื่อนวัยรุ่นในตลาดที่เรียนมาด้วยกันมาช่วยกันทำงานซึ่งอยู่กันแบบไม่มีผู้ใหญ่ สักปีเศษก็มีกลุ่มนักเลงเข้ามารังแก มีอยู่วันหนึ่งเก็บเงินค่าเนื้อมา มาถึงปุ๊บก็หยิบเงินเราไปเฉยๆ ผมก็ไม่ยอม ก็มีการขัดขืน เพราะถ้าเราปล่อยให้เขารังแกเรา เราก็จะถูกรังแกแบบนี้ไปเรื่อยๆ ปี 2519-2520 เมื่อก่อนเงิน 5-6 หมื่นมากนะ พอเขาเห็นว่าเราไม่กลัวเขา เขาก็เลยไม่กล้ามา’
การไม่ยอมคนของ ชาดา ทำให้เขาถูกมองเป็นนักเลง เป็นผู้กว้างขวาง แล้ววันหนึ่ง ชีวิตของชาดา ก็ต้องเผชิญกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น กับพ่อ แม่ และพี่ชาย
‘มีกำนันที่มีอิทธิพลคนหนึ่งขโมยวัวมาขายต่อให้ผม ผมบอกเราไม่ซื้อ วัวควายเขามา ทำไปก็ไม่เจริญหรอก สงสารชาวบ้านเขา เขามีวัวควายคู่หนึ่งก็เหมือนกับชีวิตเขา แล้วไปขโมยเขามา มันไม่ถูก เขามาบังคับให้เราซื้อ ก็เรียกผมไปคุย ผมบอกผมไม่ซื้อ เขาขู่ว่าถ้าไม่ซื้อจะทำเนื้อขายแข่งกับผม ผมบอกก็ทำไปสิ คุณไปขออนุญาตตามกฎหมาย ก็ทำกันไป ผมไม่ว่าอะไร’
จากเหตุการณ์วันนั้น อีกไม่กี่วัน เขาก็ถูกลอบยิง ขณะนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้างไปคุยธุระ
‘พอจะขึ้นถนนใหญ่ คนร้ายก็ขี่สวนเข้ามา ไอ้คนซ้อนมันก็ชักปืนออกมายิงผม ผมก็ตกใจสะบัดหน้าหนี นัดแรกไม่ถูก มันจึงวิ่งตามมายิงผม ปรากฏว่าโดนที่แขน วิถีกระสุนพลาดไปโดนคนอื่น พอดีตำรวจเขามาพอดี ผมก็วิ่งหนีเข้าไปในบ้านคน ช่วงนั้นที่ อ.หนองฉาง มีเหตุยิง ตำรวจเขาเลยมาไว และก็สามารถจับมอเตอร์ไซค์ได้ มือปืนเป็นคนอื่น เราเห็นว่าไม่ใช่ ตอนหลังจึงสืบรู้ว่าเป็นใครที่มาทำร้าย’ ชาดา กล่าว
หลังวันนั้น เขาได้ร้องเรียนไปยังกรมตำรวจ ให้มีสอบสวน กำนันคนนั้น โดยไม่เกรงอิทธิพลว่า กำนันมีแรงหนุนจากข้าราการในจังหวัด ตำรวจเข้าตรวจค้น และพูดกับ ชาดาว่า ร้องเรียนทำไม กำนันเป็นคนดี แต่ไม่กี่วัน กำนันคนดังก็ถูกจับพร้อมอุปกรณ์การลักทรัพย์
หลังผ่านมรสุม ชาดา มุ่งมั่นกับธุรกิจค้าเนื้อ จนธุรกิจขยายใหญ่
‘รายได้ขึ้นอยู่กับความขยันของพวกเรา ผมจะเป็นคนดูแลหมด ออกไปซื้อวัวตามตลาดนัด หรือชำแหละเอาไปขายตลาด วัวส่วนใหญ่ที่ผมซื้อจะไปเอามาจากต่างอำเภอ อย่างเช่นที่ อ.สามเงา อ.แม่สอด จ.ตาก ผมก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปคนเดียว สะพายเงินในย่ามไป 7-8 หมื่นบาท ซื้อแล้วก็จ้างรถบรรทุกมา ผมไปเกือบทุกจังหวัด ผมไปบางที่เจอด่าน ค้นตัวพบเงินเยอะแยะ เขาถามผมว่า มาจากไหน ทำไมไม่เอาปืนผาหน้าไม้ ผมเด็กครับ ผมเอาไปไม่ได้ ไม่มีทะเบียน ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาก็ดีกับเรา อำนวยความสะดวกให้ บางครั้ง เข้าไปถึงเขตกะเหรี่ยงในพม่า พื้นที่ๆมีกับระเบิด เพื่อเข้าไปซื้อวัว’
ด้วยวิธีของ ชาดา ไปซื้อของถูกเข้ามา ทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จากนั้น ชาดาเริ่มขยับขยายที่จะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจประเภทอื่นอีกมากมาย เช่นอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ทำเหมืองหิน ทำธุรกิจโรงแรม รวมถึงเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ในยุคที่ธุรกิจเรียลเอสเตทกำลังเฟื่องฟู และที่สุดก็เข้าสู่แวดวงการเมือง
จากความฝันต้องการเป็นกำนัน ได้เกิดเหตุการณ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี เสียชีวิต จึงพลิกผันให้ ชาดา ย่างก้าวสู่ การสมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี ท่ามกลางเสียงโจมตีว่า เป็นผู้มีอิทธิพล
ตอนหาเสียงฝ่ายตรงกันข้าม กำหนดวันปราศรัย แต่เมื่อถึงเวลาประกาศยกเลิก อ้างว่า เกรงจะถูกระเบิด เป็นการโยนปัญหาไปให้กลุ่มคุณธรรมของชาดา สถานการณ์ของทีมจึงตกเป็นรอง
‘ผมจึงตัดสินใจพาลูกทีมจัดปราศรัยเปิดใจที่ห้าแยกหอนาฬิกา มีสมาชิก 18 คนมายืนอยู่ด้วย ส่วนตัวผมยืนอยู่บนรถปิกอัพ รถก็วิ่งไปเรื่อยๆ ไม่มีการจัดฉาก ผมพูดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคนเริ่มหยุดรถหันมาฟังผมพูด ผมเปิดเผยความรู้สึกทั้งหมด ผมเล่าว่า ผมคือใคร พ่อแม่ผมถูกทำร้ายเสียชีวิต และผมซึ่งอยู่ในตระกูลที่เป็นนักเลงในอดีต แต่ผมจะเป็นคนดีไม่ได้หรือ ผมปราศรัยจนกระทั่งคนรู้จักตระกูลผมดี คนแก่คนเฒ่าที่ฟังบางคนถึงกับน้ำตาไหล’
จากเหตุการณ์วันนั้น ทีมคุณธรรม ของชาดา ได้รับการเลือกตั้งยกทีม 18 คน ชาดา นั่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองอุทัยธานี และได้เข้าไปเปลี่ยนรูปแบบการบริหารเทศบาล
‘ผมใช้คติที่ว่า ‘ประชาชนถูกเสมอ’ และบริหารแบบเทศบาลคือกึ่งรัฐกึ่งเอกชน เพราะเป็นนิติบุคคล คือผมเอาระบบราชการกับเอกชนมาผสมผสานซึ่งกันและกัน อย่างหลักของความฉับไว กล้าตัดสินใจของผู้บริหารมา RUN (ปรับ) สู่ระบบราชการให้ไว้ขึ้น ให้งานเดินหน้ารวดเร็ว ”
ชาดา ได้เข้าไปแก้ปัญหาที่หมักหมมหลายอย่าง ระบบน้ำประปาของเทศบาลที่มีเคยมีปัญหาคาราคาซังมาหลายยุคหลายสมัยได้รับการแก้ไขทันที และกิจการประปาที่มีหนี้สิน กลับมามีกำไรไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4-5 หมื่นบาท รวมถึงการเวนคืนที่ดินให้กับชาวบ้านที่เทศบาลจะเข้าไปพัฒนาหรือทำโครงการต่างๆ ค่าตอบแทนหรือค่าเวนคืนที่ประชาชนได้รับต้องคุ้มค่า
หอนาฬิกาที่บริเวณห้าแยกที่มีภูมิทัศน์ไม่สวย ก็ได้รับการพัฒนาจนสวยงาม จัดตั้งชุมชน 15 ชุมชน การขยายฐานภาษีให้เป็นธรรม การลดรายจ่ายประจำ เทศบาลมีการจัดงานพบประชาชนทุกเดือน หรือแม้กระทั่งงานประเพณีตักบาตรเทโวที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุทัยธานีก็มีการจัดงานยิ่งใหญ่ตระการตา มีการแสดง แสง สี เสียงและกลิ่นตำนานพุทธประวัติเป็นครั้งแรก จนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจมาเที่ยวชมงานจนแน่นขนัด
ผลงานที่ออกมาชัดเจน ส่งผลให้ทีมคุณธรรมได้รับเลือกตั้งติดต่อกันมา จนเขาส่งไม้ต่อให้น้องสาว มนัญญา ส่วนตัวเอง ผันไปสู่การเมืองระดับชาติ โดยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคชาติไทย เมื่อปี 2550 และเป็น ส.ส.ติดต่อกันมา จนมีการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมาธิการงบประมาณ และผลักดันให้ เผด็จ นุ้ยปรี เป็นนายกอบจ.อุทัยธานี
ก่อนหน้านั้น ปี 2546 ชาดา ถูก กล่าวหาจ้างวานฆ่า สมเกียรติ จันทร์หิรัญ เลขานุการของ นายประแสง มงคลศิริ ส.ส.พรรคไทยรักไทย แต่ปี 2548 ศาลยกฟ้อง
ปี 2554 ชาดา ถูกลอบยิง ขณะเดินทางไปเขาใหญ่ ส่งผลให้ ‘ฟารุต’ ลูกชายเสียชีวิต ขณะที่ ชาดา นั่งอยู่บนรถอีกคัน
หลังการยึดอำนาจ ชาดา ถูกเจ้าหน้าที่บุกค้นบ้าน 3 ครั้ง ตามยุทธการตรวจค้นบ้านผู้มีอิทธิพล รวมทั้ง ถูกกรมสิบสวนคดีพิเศษ เข้าไปตรวจค้นพื้นที่ของชาดา ที่ทำเป็นเหมืองแร่มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ถูกตำรวจตรวจค้นขบวนรถ ขณะกลับจากงานศพ
ในการเลือกตั้งปี 2562 ชาดา ย้ายจากพรรคชาติไทย มาสังกัด ภูมิใจไทย และได้รับเลือกตั้ง พร้อมหลานชาย เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ภายหลังเลือกตั้ง ชาดา มีชื่อเป็น รมช.มหาดไทย แต่ชีวิตที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้กว้างขวาง เป็นผู้มีอิทธิพล ชื่อ ชาดา ถูกหลบไปเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ แต่เมื่อถึงมือบิ๊กตู่ กลับไม่ปลื้ม จึงมีชื่อ มนัญญา เข้ามาแทน
นี่คือชีวิตของ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ จากพ่อค้าเนื้อสู่เจ้าพ่อสะแกกรัง แม้วันนี้ ยังไม่สมหวังกับตำแหน่ง รัฐมนตรี แต่ยังมีเวลาให้เขาพิสูจน์ตัวเอง