ประโยชน์ต่อสุขภาพของการอดอาหารแบบรอมฎอนและอดเป็นช่วงแบบท่านนบี
มุสลิมทั่วโลกที่อยู่ในวัยศาสนภาวะ ได้ถือศีลอดตลอดเดือนรอมฎอน การถือศีลอดหรืออดอาหารเช่นนี้มีแพทย์และนักวิจัยจำนวนมากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจึงนำไปดัดแปลงเพื่อให้คนทั่วไปได้ปฏิบัติ ดังเช่น ไมเคิล มอสเลย์ (Michael Mosley) แพทย์นักเขียนชาวอังกฤษนำเอาการถือศีลอดแบบอิสลามไปดัดแปลงโดยให้อดอาหารวันเว้นวัน สัปดาห์ละสองวัน โดยวันที่อดอาหารนั้นกำหนดให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงหนึ่งในสี่ของพลังงานที่ควรได้รับ เรียกกันว่าการอดอาหารแบบ 5 ต่อ 2 หรือการอดอาหารเป็นช่วง (Intermittent fasting หรือไอเอฟ) ซึ่งเป็นแนวทางที่ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ศาสดาในศาสนาอิสลามถือปฏิบัติเป็นปกตินอกเดือนรอมฎอน โดยอดอาหารทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ปรากฏว่าการอดอาหารตามแนวทางดังกล่าวให้ผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน เป็นต้นว่าช่วยยืดอายุ ช่วยป้องกันมะเร็ง ช่วยป้องกันโรคทางเมแทบอลิซึมหลายต่อหลายโรค ตั้งแต่โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงโรคทางสมอง
ประโยชน์แรกที่ค้นพบในทางการแพทย์คือการอดอาหารทั้งแบบรอมฎอนและแบบไอเอฟหรืออดเป็นช่วงช่วยให้การทำงานของฮอร์โมนอินสุลินและเล็พติน (Leptin) เป็นปกติ การใช้พลังงานของไมโตคอนเดรียภายในเซลล์มีประสิทธิภาพดีขึ้น การอดอาหารช่วยให้อินสุลินไม่ทำงานหนักเกินไป ร่างกายมีการใช้ไขมันเป็นพลังงานจึงช่วยลดปัญหาของไขมันสะสม ภาวะดื้อต่ออินสุลินและดื้อต่อเล็พตินที่ก่อปัญหาโรคอ้วนจึงไม่เกิดขึ้น เล็พตินคือฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์ไขมันช่วยกระตุ้นสมองให้สร้างกลไกอิ่ม ยังมีฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งเรียกว่าฮอร์โมนหิวมีชื่อว่า “เกรลิน” (Ghrelin) สร้างจากกระเพาะพบว่าการอดเป็นช่วงจะช่วยให้ภาวะของฮอร์โมนตัวนี้เป็นปกติ นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน HGH (Human Growth Hormone) ได้มากขึ้นตั้งแต่ 1,300-2,000 % ส่งผลให้กระบวนการแก่ชะลอตัวลง สุขภาพและความฟิตของร่างกายดีขึ้น
การอดอาหารทั้งแบบรอมฎอนและแบบเป็นช่วงยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดเครียดของเซลล์จากภาวะอ็อกซิเดชั่น (Oxidative stress) ได้ด้วยส่งผลทางอ้อมให้อายุขัยยืนยาวขึ้น นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าช่วยยับยั้งกลไกในเซลล์ที่เรียกว่า mTOR pathway ที่เร่งอายุขัย การอดแบบเป็นช่วงและแบบรอมฎอนหากทำอย่างถูกต้องจึงช่วยให้แก่ช้า อายุยืนยาว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานวิจัยเสริมอีกว่าการอดอาหารเป็นช่วงคืออดอาหารช่วงกลางวัน กินน้อยลงในเวลากลางคืน ช่วยให้ร่างกายสร้างโปรตีนในสมองที่ชื่อว่า BDNF (Brain-derived neurotrophic factor) ได้มากขึ้น โปรตีนตัวนี้ช่วยให้สมองสร้างเซลล์ประสาทใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเซลล์ประสาทที่เกิดใหม่มีผลต่อการป้องกันโรคทางสมองอย่างเช่นอัลไซเมอร์สและพาร์กินสัน นายแพทย์มาร์ค แมทท์สัน (Mark Mattson) แห่งสถาบันวิจัยความชราแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าการอดอาหารแบบเป็นช่วงโดยได้รับพลังงานหนึ่งในสามหรือหนึ่งในสี่ที่ร่างกายต้องการในวันที่อดอาหารจะทำให้การสร้างเซลล์ประสาทสมองเพิ่มขึ้นได้จริงๆ ส่วนมุสลิมที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนทว่าไม่ได้รับประโยชน์ตามที่กล่าวมาเป็นเพราะอดเฉพาะกลางวันทว่ากินมากเกินไปในเวลากลางคืน
Dr.winai dahlan