รู้กันยัง! BRN ตั้ง “หน่วยสไนเปอร์” ขึ้นแล้ว มิพักจะพูดแค่การสร้าง “นักรบรุ่นใหม่”
ไชยยงค์ มณีพิลึก ผู้สื่อข่าวอาวุโสในพื้นที่ภาคใต้ ได้เขียนบทความ ลงในคอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ ถึงสถานการณ์ในภาคใต้ โดยระบุถึงความล้มเหลวใจการแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นการจับกุมผู้กระทำผิด ทั้งที่อ้างว่ารู้ตัว ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบขยายตัว และมีจำนวนเพิ่มขึ้นแถมได้ฝึกในอาวุธทันสมัย มีสไนเปอร์ด้วย
ยังเป็นช่วงเวลาที่น่าเป็นห่วงสำหรับสถานการณ์ความรุนแรง หรือความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเกิดจากการก่อการร้ายของ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ที่นำโดย “บีอาร์เอ็นฯ” ที่ก่อเหตุรุนแรงอย่างค่อนข้างอุกอาจตั้งแต่ปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2562 และเวลานี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้
กรณีการจับ “ครูจ้อง-นายอมตะ สโมทานทวี” แขวนคอและชิงรถยนต์ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา แล้วนำไปประกอบ “คาร์บอมบ์” ใช้ก่อวินาศกรรมเจ้าหน้าที่ของ “ฉก.สงขลา” ที่ตั้งอยู่ อ.เทพา จ.สงขลา กรณีมีกลุ่มแต่งกายเลียนแบบทหารเข้าไปยิง “อาสาสมัคร (อส.) 4 ศพ” ที่โรงเรียนบ้านบูโกะ ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พร้อมกับชิงปืนไปด้วย กรณีการโจมตี “สภ.นาประดู่” จ.ปัตตานี กรณียิง “จนท.ประจำป้อมยาม” เสียชีวิตพร้อมชิงปืนและเสื้อเกราะ ซึ่งทั้งหมดเป็นการโจมตีกลางวันแสกๆ
กรณีเหล่านี้ยังเป็นประเด็นที่ประชาชนกล่าวขวัญกันมากถึง “ความรุนแรง” และ “ความเหิมเกริม” ของ “โจรใต้” หรือ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
แต่ที่มี “เสียงวิพากษ์วิจารณ์” กันมากคือ ประชาชนไม่เข้าใจว่า “ไฟใต้” ที่ลุกลามผ่านมาแล้วกว่า 14 ปี และกำลังเดินเข้าสู่ปีที่ 15 ทำไมผ่านรัฐบาลมาแล้วหลายยุคสมัยจึงไม่เคยมอดดับ แถมขณะนี้เป็น “รัฐบาลทหาร” ภายใต้ปีกโอบของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาลพลเรือน เวลานี้ “มีอำนาจเบ็ดเสร็จ” ซึ่งสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง และอยู่มาแล้วเป็นปีที่ 5 ทำไม่จึงยังดับไฟใต้ไม่ได้
นี่คือประเด็นที่มีการพูดกันมาก และมีการตั้งข้อสงสัยต่างๆ นานาถึง “ความล้มเหลว” ของการสร้างความสงบให้แก่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ประเด็นที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขรมอีกประเด็นหนึ่งคือ หลังการก่อเหตุรุนแรงในทุกพื้นที่ “การแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ” จะมีการระบุอย่างรวดเร็วว่า “ผู้ที่ก่อเหตุ” เป็นคนนั้น คนนี้ แบบระบุชื่อเสียงเรียงนามจริง ซึ่งล้วนแต่เป็นโจรใต้ที่คนในพื้นที่ “คุ้นชื่อ” และ “คุ้นหน้า” จากภาพถ่ายที่เจ้าหน้าที่นำมาแสดงต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องยาวนาน
อย่างถ้าก่อเหตุใน จ.สงขลา และคาบเกี่ยวกับพื้นที่ จ.ปัตตานี หรือ จ.ยะลา โจรใต้ที่ถูกระบุชื่อก็มักต้องเป็น “บูคอรี หลำโซะ” หรือ “เสรี มามุ” แต่ถ้าเหตุเกิดใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ก็จะมักมีการระบุทันที่ว่าเป็น นายนั่น นายนี่ ซึ่งเป็นชื่อที่ระบุล้วนมีหมายจับเป็นพวงด้วย และบอกว่าเป็นโจรใต้ที่ก่อเหตุมาแล้วอย่าง “ซ้ำซาก” ต่อเนื่องมา
จนกลายเป็นคำถามให้แซดว่า จริงหรือ? และถ้าเป็นจริง! โจรพวกนี้เป็นพวก “วิเศษ” หรือ “เก่งเกินคน” กระนั้นหรือ?! เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เคยสามารถติดตามจับกุมได้เลย มิพักต้องพูดถึงวิสามัญเพื่อที่จะได้ลดจำนวนผู้ก่อเหตุเหล่านี้ เนื่องเพราะฟังไปฟังมาเหมือนกับว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วบีอาร์เอ็นฯ มี “มือก่อการร้ายเพียงไม่กี่คน” เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่มากมายก่ายกองกลับไม่สามารถจับโจร หรือยิงโจรที่มีอยู่ไม่กี่คนนี้ได้เท่านั้น
ดังนั้น การแถลงข่าวทุกครั้งที่มีการก่อการร้ายเกิดขึ้น โดยระบุชื่อคนร้ายแบบซ้ำซาก นอกจากจะสร้างราคาให้แก่บรรดาโจรใต้ว่าเป็น “โจรวิเศษ” ที่หายตัวได้แล้ว ยังเป็นการ “ตอกย้ำ” ถึง “ความขี้เท่อ” ของหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการกระจายกันไปเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีความสามารถที่จะรู้ว่าโจรใต้ที่มีเพียงไม่กี่คนอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร หรือแฝงตัวอย่างไร
หรือว่า ณ วันนี้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ “สิ้นไร้ไม้ตอก” หรือ “หมดปัญญา” ที่จะจัดการกับบรรดาหัวโจกของบีอาร์เอ็นฯ เพียงไม่กี่คน แล้วที่ต้องยกให้หัวโจกพวกนี้เป็นผู้ก่อเหตุทุกครั้ง เป็นเพราะต้องการ “หาแพะ” เป็นเบื้องต้น เพราะเจ้าหน้าที่เองก็ “มืดแปดด้าน” ถ้าไม่โยนให้แก่หัวโจกพวกนี้ก็ไม่รู้ว่าจะรายงานกับ “นาย” อย่างไร มิพักต้องรายงานอะไรให้ประชาชนได้ทราบหรอก
ประเด็นนี้จึงเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะแสดงให้เห็นว่าหลายปีที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นฯ ไม่มีการสร้างคนเพิ่มขึ้น โดยคนที่เป็น “หัวโจก” มีอยู่เท่าเดิม ซึ่งหากเป็นจริงอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นโชคดีของรัฐบาลและประชาชนไทย แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น โดยเป็นอย่างที่ “งานการข่าว” ระบุว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา บีอาร์เอ็นฯ สร้าง “นักรบรุ่นใหม่” ปีละนับหลายร้อยคน มีทั้งระดับ “มือก่อวินาศกรรมรุ่นใหม่” แถมมีการฝึกฝนแล้ว ตั้งแม้แต่ “หน่วยสไนเปอร์” ขึ้นมาใหม่ด้วย อีกทั้งมีการสร้าง “ฐานทางการเมือง” แล้ว “ขยายมวลชน” จากพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ให้ขยายออกไปจนครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย
การ “อำพรางความจริง” ไม่ว่าจะต่อ “คนบนหอคอยงาช้าง” หรือประชาชนในพื้นที่ และทั่วทั้งประเทศ นั่นย่อมนำมาซึ่ง “ความหายนะ” แก่ประเทศชาติและประชาชนในอนาคตแน่นอน นี่คือประเด็นแรกที่เป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่งกับกระบวนการการดับไฟใต้
ส่วนประเด็นที่สอง คือ เรื่องปฏิบัติการของโจรใต้หรือแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 15 แล้วในเวลานี้ ขณะที่ “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” ที่นำมาใช้ไม่มีอะไรใหม่ เช่น การแต่งกายเลียนแบบกองกำลังรัฐทำทีไปตรวจเยี่ยมกำลังพลด้วยกันในฐานปฏิบัติการ หรือในโรงเรียน หรือในที่ตั้งของ ชรบ. จากนั้นเปิดปฏิบัติการยิงทิ้ง หรือจับมัดเพื่อแย่งอาวุธและยุทธภัณฑ์เอาไปใช้
หรือการตั้งจุดตรวจเลียนแบบเจ้าหน้าที่ หรือการทำคาร์บอมบ์ หรือ จยย.บอมบ์จากรถยนต์ หรือ จยย.ที่ปล้นชิงไปจากพลเมืองดี หรือการโจมตีฐานปฏิบัติการแบบฉาบฉวย อย่างการโจมตี สภ.นาประดู่ จ.ปัตตานี ล้วนเป็นยุทธการที่ทำแบบ “ซ้ำซาก” ของบีอาร์เอ็นฯ จึงมีคำถามจากประชาชนคนในพื้นที่คือ เมื่อไหร่เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถ “ป้องกันตัว” และ “ป้องกันฐานที่ตั้ง” ได้โดยที่ไม่สูญเสีย
เพราะการสูญเสียแต่ละครั้งของเจ้าหน้าที่ไม่ได้หมายความว่า หน่วยงานและครอบครัวของคนตายจะแบกภาระเหล่านั้นไว้แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสูญเสียของทั้งประเทศชาติและประชาชนด้วย ที่สำคัญมากคือการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อผู้เป็น “แม่ทัพ” และ “นายกอง” การสูญเสียความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ “กองทัพ” มีต่อ “รัฐบาล” มีต่อ “ท่านผู้นำ” ซึ่งการสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งหมดทั้งปวงที่เกิดขึ้นนั่นคือ “วิกฤตศรัทธา” ที่บั่นทอนต่อ “นโยบายดับไฟใต้” ด้วยนั่นเอง
เมื่อระดับหน่วยใหญ่อย่าง “ฉก.” ของตนเองยังคุ้มครองไม่ได้ เมื่อ “ฐานปฏิบัติการ” ยังคุ้มครองไม่ได้ เมื่อ “โรงพัก” ยังคุ้มครองไม่ได้ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการฝึกในการต่อสู้มาอย่างดีและมีอาวุธอยู่ในมือ แต่ต้องกลายเป็นเหยื่อของโจรใต้ที่ด้อยกว่าในแทบจะทุกด้าน แล้วจะบอกประชาชนว่าจะให้ความคุ้มครองประชาชนได้อย่างไรเล่า
นี่คือประเด็นที่สำคัญที่สุดที่หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนหรือผู้นำท้องที่ เพียงเขาตระหนักว่าถ้าไปให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ กับหน่วยงานของรัฐ พวกเขาจะต้องตกเป็นเหยื่อของโจรใต้ในที่สุด เพราะหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ต่างไม่สามารถคุ้มครองชีวิตคนในครอบครัว และทรัพย์สินของเขาได้นั่นเอง
นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุดที่ประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ 50 ยังวางเฉยกับสถานการณ์ความรุนแรง เพื่อการอยู่รอดของเขา ซึ่งหากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังปล่อยให้เกิดสถานการณ์ของความสูญเสีย และปล่อยให้หัวโจกของบีอาร์เอ็นฯ เพียงไม่กี่คนที่หน่วยงานของรัฐระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเสมอมายังลอยนวลอยู่ได้ จงอย่าได้หวังพึ่งความร่วมมือจากประชาชนและจากผู้นำท้องที่เลย
ก็เพราะเข้าใจในความรู้สึกของคนในพื้นที่ดีในระดับหนึ่ง จึงไม่กล้าที่จะเรียกร้องให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาเพื่อร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ หรือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการดับไฟใต้ตามที่รัฐต้องการ ทั้งที่รู้ดีว่าพลังของคนในพื้นที่คือ “พลังของการดับไฟใต้ที่ได้ผล” แต่ถ้าเขาออกมาแล้วต้องกลายเป็นเหยื่อสถานการณ์ การอยู่เฉยๆ ของพวกเขาคือสิ่งที่น่าจะถูกต้องที่สุด
แต่หน่วยงานของรัฐถ้าจะแสวงหาความร่วมมือจากคนในพื้นที่และผู้นำท้องที่ให้ได้อย่างประสบผลสำเร็จ มีแต่กำลังในพื้นที่ต้องแสดงให้เห็นว่า “พวกเขามีศักยภาพ” ที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามที่มีอยู่เพียงหยิบมือ และหน่วยงานในพื้นที่ต้องไม่ทำให้เกิดความสูญเสียหรือเพลี่ยงพล้ำต่อโจรใต้ด้วยวิธีการง่ายๆ แบบที่เคยเกิดขึ้นซ้ำซากอย่างที่กล่าวมา
ถึงวันนี้ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือ มีการ “โจรกรรมรถจักรยานยนต์” เฉลี่ยวันละ 6 คันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามที่จะทำให้ “นาย” เชื่อว่าเป็นเรื่องของ “อาชญากรรมธรรมดา” ที่มีการโจรกรรมรถ จยย.เพื่อไปขายต่อ อันเป็นเรื่องของ “พวกขี้ยา” ที่ต้องการเพื่อให้ได้เงินไปซื้อยาเสพติด จึงทำให้ไม่มีการติดตามจับกุมคนร้ายเพื่อยึดของกลาง และไม่มีการ “วิเคราะห์” ที่มาที่ไปว่าเป็นการโจรกรรมเพื่อนำไปใช้ทำอะไร หรือนำไปประกอบเป็น จยย.บอมบ์หรือไม่ รวมทั้งไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง มีเพียงการแจ้งให้ทราบว่ามีการโจรกรรมรถ จยย.เกิดขึ้นเท่านั้น
ดังนี้แล้ว ถ้ารถ จยย.ที่ถูกโจรกรรมเฉลี่ยวันละ 6 คันเป็นการนำไปทำ จยย.บอมบ์เล่า นั่นจึงมิเท่ากับว่าวันนี้บนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลายเป็น “แผ่นดินอันตราย” ไปแล้วหรือไม่ เพราะไม่มีใครรู้ว่า จยย.เหล่านี้จะกลายเป็น จยย.บอมบ์ และถูกนำมาก่อวินาศกรรมเมื่อไหร่ หรือที่ไหน
ถ้าเข้าใจว่าปัญหาที่ยกมาเขียนทั้งหมดเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่สมควรต้องเข้าไปจัดการแก้ไขอะไร นั่นก็ต้องถือว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดใหญ่หลวง เพราะปัญหาใหญ่ๆ ความสูญเสียใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น แทบทุกอย่างเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ต่าง “ละเลย” ต่อการแก้ปัญหาเล็กๆ นี้ทั้งสิ้น
ถึงอย่างไรก็ขอชื่นชม พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ที่มี “ความมุ่งมั่น” กับการดับไฟใต้ แม้ว่าระยะแรกอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง “นโยบาย” อาจจะไม่ต้องกับสถานการณ์ “ยุทธการ” ยังไม่สอดคล้องกับ “ยุทธวิธี” ของโจรใต้หรือแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งอาจจะต้อง “ปรับเปลี่ยน” เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ “กำลังพลในพื้นที่” ที่ยังต้องมีการปรับปรุงให้รู้เท่าทันยุทธศาสตร์ วิทยาวิธี และกลยุทธ์ของการสู้รบแบบ “กองโจร” ของบีอาร์เอ็นฯ
ก็ขอเป็นกำลังใจให้ความมุ่งมั่นในการดับไฟใต้ของ “แม่ทัพ” ให้เป็นผลสำเร็จในเร็ววัน
ภาพประกอบจากอินเตอรเน็ต