ชาวเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยื่นฟ้องศาลปกครอง ถูกจับกรณียื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่

เครือข่ายเทใจให้เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยื่นฟ้องทั้งแพ่งทั้งปกครอง กรณีถูกจับคดีปกป้องบ้านเกิด ลั่น! “เราจะฟ้องกลับเพื่อจะบอกว่า ประชาชนจะต้องไม่ถูกรังแกโดยรัฐ”

วันที่ 26 พ.ย. เครือข่ายเทใจให้เทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลใน 2 จังหวัดคือ สงขลาและสตูล พร้อมด้วยชาวบ้านในเครือข่ายที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาจากทางการแจ้งความและคดีขึ้นสู้ศาลไปแล้วรวม 17 คน รวมทั้งทนายความ ได้รวมตัวกันเดินทางไปยังศาลจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นเอกสารการฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก จังหวัดสงขลา และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะโฆษกรัฐบาล

ในคดีแพ่ง 2 คดี จากนั้นได้เดินทางไปยังศาลปกครองจังหวัดสงขลาเพื่อยื่นฟ้องคดีปกครองอีก 1 คดี ทั้งนี้ สาเหตุที่กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายเทใจให้เทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องดำเนินการฟ้องกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก จังหวัดสงขลา และ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในวันนี้โดยไม่รอผลการพิจารณาคดีที่ทางการฟ้องสมาชิกในเครือข่ายทั้ง 17 คน และศาลจังหวัดสงขลานัดอ่านคำพิพากษาใน ธ.ค.2561 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากหากไม่ดำเนินการฟ้องคดีก็จะหมดอายุความภายใน 1 ปี วันนี้จึงเป็นวันสุดท้ายเนื่องจากได้ถูกสลายขบวนระหว่างเดินเท้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่นำคณะเดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2560 ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24-27 พ.ย.2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพาเพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในตัวอำเภอเมืองสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ย.60 ชาวบ้านผู้ร่วมกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ร่วมกันเข้าสกัดกั้นและใช้กำลังเข้าจับกุม จนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้าน จำนวน 17 คน (หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี) ในหลายข้อหา ทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ข้อหากีดขวางการจราจร, ข้อหาพกพาอาวุธ (ไม้คันธง) ไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คดีนี้ต่อมามีการสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดสงขลา และมีการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย ใช้เวลากว่า 5 เดือน จนเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค.2561 เวลา 9.00 น.

จากการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ ทางเครือข่ายเทใจให้เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เห็นว่า การกระทำดังกล่าวที่มิชอบด้วยกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางเครือข่ายฯ และยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ได้กระทำการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญให้เสื่อมเสียต่อเสรีภาพการชุมนุมที่ทางเครือข่ายฯจักกระทำได้

ทางเครือข่ายฯจึงอาศัยสิทธิทางศาลเพื่อให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าว จำนวน 2 คดี 1.คดีปกครอง ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองสงขลา ซึ่งทางเครือข่ายฯจะยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และจังหวัดสงขลา จากเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดทั้งสามร่วมกันเข้าสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้เป็นไปตามแนวทาง และขั้นตอนปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 2.คดีแพ่ง ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดสงขลา ซึ่งทางเครือข่ายฯจะยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และจังหวัดสงขลา จากเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดทั้งสามร่วมกันเข้าจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อนึ่งในวันที่ 28 พ.ย.2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิดอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทย ซึ่งออกอากาศไปทั่วประเทศ กรณีมีกระแสข่าวว่านายมุสตาซีดีน วาบา หรือ แบมุส ได้หายตัวไปหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมโดยระบุว่า “ทหาร และตำรวจไม่ได้จับตัวไป แต่ท่านไม่ได้กลับบ้าน มีคนตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเหมือนที่สะบ้าย้อย ที่ตอนแรกคิดว่าถูกจับตัวไป แต่ปรากฏว่า หนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวของท่านที่สตูล อันนี้ตั้งข้อสังเกต ผมไม่ได้ว่าคุณแบมุสนะ” อีกทั้งยังได้กล่าวหาว่าชาวบ้านเครือข่ายเทใจให้เทพาฯไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ ลงไปนอนดิ้นอยู่บนพื้น และได้ใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งทางนายมุสตาซีดีน วาบา หรือ แบมุส และเครือข่ายฯ เห็นว่า การกระทำดังกล่าว ให้ร้ายแก่ตนและเครือข่ายฯ จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ จึงยื่นฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดสงขลา

อีกคดีหนึ่งด้วย แถลงการณ์เครือข่ายเทใจให้เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเรื่อง “ฟ้องกลับ” เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจรัฐรังแกประชาชน การถูกจับและดำเนินคดีของพี่น้องประชาชนเครือข่ายเทใจให้เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 นั้น ถือเป็นความไม่ชอบธรรมกับผู้ต้องหาที่ถูกจับดำเนินคดีทั้ง 17 คน และรวมถึงประชาชนทุกคนที่ได้ออกมาแสดงสิทธิของตนในเวลานั้น จึงถือเป็นความไม่ชอบด้วยเหตุและผล และถือเป็นการกระทำที่มีเจตนาต้องการปิดกั้น และปิดปากประชาชนที่ต้องการเรียกร้อง และบอกกล่าวถึงความทุกข์ร้อนที่กำลังเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อันเป็นโครงการของรัฐ ที่พวกเราต้องการให้นายกรัฐมนตรีได้รับรู้ และรับฟังในโอกาสที่ท่านและคณะรัฐมนตรีเดินทางมาประชุมสัญจรที่จังหวัดสงขลาระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นสิทธิที่พวกเราพึงกระทำได้โดยการเดินอย่างสงบ เรียบร้อย และพยายามปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกฎหมายต่างๆ อย่างดีที่สุด จากข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้อ้างเพื่อดำเนินคดีกับพวกเราในฐานะผู้ต้องหาทั้ง 17 คนนั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาที่เกินความจริง หากแต่ได้ทำให้เกิดความเสียหายจนเกินกว่าเหตุ คือการทำให้พวกเราต้องสูญเสียอิสรภาพจากการถูกจับกุมด้วยวิธีการใช้กำลัง ถูกคุมขังจองจำอยู่ในเรือนจำ ต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สูญเสียวิถีชีวิตปกติ และหลายคนต้องสูญเสียหน้าที่การงานและรายได้จากอาชีพของตน เนื่องจากต้องใช้เวลาในกระบวนการยุติธรรมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และที่มากไปกว่านั้นคือการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อปกป้องชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนอย่างไร้ความชอบธรรมจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งโดยฝ่ายปกครองของจังหวัดสงขลา ,เจ้าพนักงานตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ,เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพบก และรวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองบางคน ที่ได้ร่วมกระทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าว เครือข่ายเทใจให้เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่อาจยอมรับการกระทำดังกล่าวนั้นได้

เราจึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้องดำเนินการแก้ต่างต่อเหตุของความไม่ชอบธรรมนั้น ด้วยการ “ฟ้องกลับ” หน่วยงาน และเจ้าพนักงานเหล่านั้น เพื่อแสดงให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่า “การใช้อำนาจรัฐจะต้องไม่กระทำไปเพื่อรังแกประชาชน” ทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องมีความระมัดระวังต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผ่านการใช้อำนาจเหล่านั้น และที่สำคัญคือเพื่อต้องการปกป้องสิทธิเสรีภาพของพวกเรา ตลอดถึงประชาชนทุกคน ด้วยหลักการที่ว่า “ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิตามกฎหมายของรัฐที่จะเรียกร้อง หรือนำเสนอความทุกข์ร้อนของตนเองต่อสาธารณะหรือต่อรัฐได้อย่างเสรี” ดังนั้น จึงถือได้ว่าเหตุดังกล่าวนี้ คือการใช้คดีเพื่อลิดรอนสิทธิ เพื่อปิดกั้น และปิดปากประชาชน อันเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ จึงถือเป็น “ความผิด” ที่รัฐจะต้องรับผิดชอบ และกระบวนการยุติธรรมจะต้องรับฟัง ด้วยการตรวจสอบพฤติการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

‘”ขอแสดงความนับถือ เครือข่ายเทใจให้เทพา ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ศาลจังหวัดสงขลา

Cr.mgr