เครือข่ายผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จี้แม่ทัพออกมาตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก สตรี

เครือข่ายผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนใต้ จี้แม่ทัพออกมาตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็ก สตรี ชายแดนใต้ เรียกร้องทุกฝ่ายใช้กระบวนการทางกฎหมายคุ้มครองเด็ก หลังเกิดเหตุทหารล่วงละเมิดทางเพศเด็ก จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าว เจ้าหน้าที่ทหารล่วงละเมิดทางเพศเด็กนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.ปัตตานี ความคืบหน้าเรื่องนี้ พ.ต.ท.เชิด ทองฉายวัฒนะ รอง ผกก.(สอบสวน) หัวหน้างานสอบสวน สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของคดี ว่า เรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องร้องทุกข์แล้ว และทุกอย่างจะต้องว่าไปตามกฎหมาย เนื่องจากผู้เสียหายเป็นเด็ก ไม่สามารถยอมความได้ ถึงแม้ว่าจะมีการยอมเจรจาไกล่เกลี่ยไปแล้วก็ตาม ขณะนี้รอให้ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารส่งตัวคนที่ก่อเหตุมา ซึ่งได้รับการประสานว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้น ตำรวจจะได้สอบปากคำ ออกหมายจับ ส่งตัวฝากขังเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ส่วนเด็กผู้เสียหายก็ต้องเรียกตัวมาสอบปากคำโดยทีมสหวิชาชีพ ในเบื้องต้น ตั้งข้อหากระทำการอนาจารชัดเจนตามที่มีการยอมรับเบื้องต้นแล้วที่มีการแถลงจากหน่วยงานทหาร ขณะที่ นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กหญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาทางสังคมที่น่าเป็นห่วง และไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงเท่าที่ควร ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้หญิงได้รับการร้องเรียนมาก ซึ่งมีทั้งกรณีผู้เสียหาย ผู้กระทำเป็นเด็กทั้งคู่ ผู้เสียหายเป็นเด็กผู้กระทำเป็นผู้ใหญ่ แต่สุดท้ายไปจบกันที่ไกล่เกลี่ยโดยไม่ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ผู้กระทำผิดไม่ถูกดำเนินคดี ส่วนผู้เสียหายไม่ได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยา กรณีที่เกิดขึ้นกับน้องอายุ 13 ปี ที่ ต.ปุโละปูโย อ.หนองจิก ก็เช่นกัน มีความพยายามจะไกล่เกลี่ยยอมจ่ายเงินเพื่อปกปิดความผิด แต่ลืมไปว่าปัจจุบันการสื่อสารไปไกลโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ไม่สามารถปกปิดได้ จึงมีการแฉข้อมูลเพราะผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะด้วยประสงค์ต้องการลดเครดิตการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่หรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่เรื่องนี้มีมูลจริง ทางโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องออกมาแถลง จนปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชน กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกการคุ้มครองเด็กอ่อนแอ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาสิทธิเด็ก เริ่มตั้งแต่ตำรวจที่ไม่รับแจ้งความตั้งแต่แรก เพราะเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2561 ความผิดที่ 2 ไม่ประสานไม่ส่งต่อทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัด มีบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งเขามีคณะทำงานคุ้มครองเด็กฯ มีท่านผู้ว่าฯ เป็นประธาน ต้องรับทราบเรื่องนี้ และสาม จนถึงขณะนี้ทีมสหวิชาชีพยังไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้การคุ้มครองเด็กช่วยเหลือเด็กแต่อย่างใดประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จชต.กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่จะต้องเอาจริงกับเรื่องนี้โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และ ขอเรียกร้องให้ทางกองทัพภาค 4 มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับกำลังพลที่มาปฏิบัติในพื้นที่อีก ในส่วนของทีมสหวิชาชีพก็ต้องกล้าหาญที่จะดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ทางด้าน น.ส.อัญชนา หีมนิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า เรื่องที่ทหารถูกกล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กนั้น มีความน่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง.เพราะในช่วงปีนี้การกระทำที่ละเมิดต่อเด็กปรากฏขึ้นมากมาย เช่น กรณีการทำร้ายเด็กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด กรณีที่มีการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ใหญ่ในสังคมและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการตามกลไกการปกป้องคุ้มครองเด็กเลย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งนี้ จากกรณีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กที่มีครูสังเกตเห็นนำไปสู่การสอบถามเด็ก และพาเด็กไปตรวจร่างกาย แต่ที่เป็นปัญหาคือ การไปที่สถานีตำรวจแล้วเจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความในเบื้องต้น และไม่แจ้งเรื่องราวให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาดำเนินการให้การคุ้มครองเด็ก และเข้าสู่กลไกการคุ้มครองซึ่งจะจัดให้มีการตรวจรักษาทางร่างกายและจิตใจทันที ถ้าเห็นสมควรสืบเสาะและพินิจ ก็อาจส่งตัวเด็กไปสถานแรกรับก่อนได้ หรือถ้าจำเป็นต้องให้การสงเคราะห์ก็ให้การสงเคราะห์ ถ้าจำเป็นต้องพื้นฟูสภาพจิตใจก็ให้ส่งเด็กไปสถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กกรณีที่มีการล่วงละเมิดทางเพศ น.ส.อัญชนา กล่าวต่อว่า ในการสืบสวนจะต้องประกอบด้วย ทีมสหวิชาชีพ เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี หากถูกกระทำอนาจารหรือล่วงละเมิดทางเพศ ผู้กระทำ และเด็กนั้นไม่ใช่ภริยาของผู้กระทำแม้เด็กนั้นยินยอม ก็ยังถือว่าเป็นความผิดต้องรับโทษหนักทั้งจำคุก และชดใช้ค่าเสียหาย กลไกการคุ้มครองเด็กในระดับจังหวัดจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐหลายๆ ภาคส่วนเป็นคณะกรรมการ แต่จากการติดตามข่าวก็พบว่า กลไกต้นทางมีปัญหา ซึ่งตอนนี้เมื่อทุกคนทราบเรื่องแล้วก็อยากให้กลไกการคุ้มครองเด็กที่มีอยู่ได้ดำเนินการให้การคุ้มครองเด็ก ฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กไม่ให้เด็กได้รับการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ และนำคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพื่อมิให้เกิดการกระทำซ้ำ โดยเฉพาะบุคลากรในภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้คนในสังคม