นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยอมรับ มีการบังคัยเด็กแต่งงาน หวั่นเด็กเดินผิดทาง ด้านกรรมการกลางฯ เตรียมเสนอแก้ระเบียบห้ามอิหม่ามเด็กเด็ก
กรณีชายชาวมาเลเซีย อายุ 41 ปี แต่งงานกับเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ปี ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ถูกนำมาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิเด็ก และสื่อต่างประเทศนำไปตีแผ่ และถูกนำมาตั้งคำถามถึงความเหมาะสม บางส่วนอ้างหลักศาสนา หรือวิถีปฏิบัติของชาวท้องถิ่น รวมทั้งเห็นว่า กฎหมายมีความบกพร่องต่อการคุ้มครองสิทธิเด็กและผู้หญิง เป็นสิ่งที่ถูกนำมาเป็นคำถามในงานเสวนา “การแต่งงานกับเด็ก : จุดยืนทางศาสนา ช่องว่างทางกฎหมายกับสิทธิของเด็กหญิง” จัดโดยมูลนิธิผู้หญิง ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ณ โรงแรมวิคทรี ถนนพหลโยธิน และงานเสวนา “การแต่งงานของผู้เฒ่ากับเด็กน้อย” จัดโดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ
การเสวนาปูพื้นความเข้าใจถึง 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล ที่มีการยกเว้นใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนครอบครัวและมรดก อาทิ การสมรสต้องมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป แทนที่ด้วยกฎหมายอิสลามฯ พ.ศ.2489 ซึ่งไม่ได้ระบุอายุการสมรสหรือ “นิกะห์” ตายตัว แต่ให้ “ดะโต๊ะยุติธรรม” หรือผู้พิพากษาในกฎหมายอิสลาม พิจารณาจากสภาพร่างกายที่มีการเคลื่อนของน้ำอสุจิ และการมีประจำเดือน ก็สามารถทำการนิกะห์ได้ เด็กหญิงแต่งงานเป็นเรื่องปกติ
นางสาวตัสนิม เจ๊ะตู จากมูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า ซึ่งทำงานต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่า การแต่งงานของเด็กหญิงถือเป็นเรื่องปกติของคนในพื้นที่ เพราะเราเชื่อตามหลักศาสนาที่ว่า เมื่อมีประจำเดือนแล้วก็สามารถแต่งงานได้ ขณะที่การพูดคุยกับแม่ของเด็กผู้หญิง ส่วนใหญ่ยังบอกว่าหากลูกเรียนจบชั้น ป.6 แล้วมีใครมาสู่ขอ ก็จะให้ลูกสาวแต่งงานเลย ส่วนหนึ่งเพราะเกรงว่าหากไม่จับแต่งงานก่อน ลูกอาจไปมั่วสุมยาเสพติด แอบมีเพศสัมพันธ์ ถูกข่มขืนกระทำชำเรา ท้องไม่พร้อม ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในพื้นที่ อีกส่วนเพราะเห็นว่าเด็กมีความสัมพันธ์มาก่อน และบางครอบครัวก็จับลูกแต่งงานกับผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีเศรษฐสถานะเหนือกว่า โดยส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวที่ยากจนและไร้การศึกษา ทั้งนี้ ผลที่พบจากการแต่งงานในวัยเด็ก คือส่วนใหญ่ใช้ชีวิตคู่ไปไม่รอด และต้องหย่าร้างในที่สุด
นายเอกราช ซาบูร์ ผู้อำนวยการสถาบันสันติภาพศึกษานานาชาติ เครือข่ายมุสลิมเอเชีย กล่าวว่า กรณีแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ปี เป็นภาพสะท้อนความอ่อนแอของกฎหมายไทย ที่คนมาเลเซียนิยมหาช่องว่างทางกฎหมาย ข้ามมาแต่งงานภรรยามากกว่าหนึ่งคน แต่งงานกับภรรยาอายุน้อย เพราะการแต่งงานในมาเลเซียมีกฎหมายคุ้มครองเด็กและผู้หญิงชัดเจน อาทิ ผู้หญิงจะแต่งงานได้ต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผู้ที่จะขอแต่งงานกับภรรยาคนที่ 2, 3 ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน ซึ่งศาลพิจารณาตามคุณสมบัติ ตั้งแต่ภรรยาคนที่ 1 ต้องรับทราบและยินยอม ต้องผ่านการประเมินศักยภาพทางการเงินและพฤติกรรมว่าไม่เคยละเมิดผู้หญิงและสามารถดูแลผู้หญิงได้ รวมถึงผู้หญิงที่จะแต่งงานเองจะต้องยินยอมด้วย เหล่านี้ทำให้การแต่งงานในมาเลเซียยากมาก กระทั่งอดีตประธานศาลสูงสุดของมาเลเซียที่รู้กฎหมายดีที่สุด ก็ยังข้ามฝั่งมาแต่งงานภรรยาคนที่ 2, 3 ในไทย
“ช่องว่างของการแต่งงานตามศาสนานี้ ได้รับความนิยมจนถึงขั้นทำเป็นธุรกิจ มีประกาศผ่านเว็บไซต์ในมาเลเซีย อีกทั้งการันตีว่าหากทำไม่ได้ยินดีคืนเงิน โดยพบว่าต่อวันมีหลายร้อยเคสที่เข้ามาแต่งงานในไทย มูลค่าของธุรกิจก็น่าจะมหาศาลเช่นกัน ตรงนี้เองยังทำให้เกิดปัญหาค้ามนุษย์ที่มีขบวนการนำเด็กผู้หญิงลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทยข้ามไปมาเลเซีย เพื่อถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ โดยอ้างช่องว่างของการแต่งงานตามศาสนา”
เอกราช เป็นห่วงผู้หญิงและลูกที่เกิดจากการแต่งงานในไทยจะไม่ถูกรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมายมาเลเซีย ฉะนั้นหากผู้ชายมาเลย์จะทิ้งภรรยาและลูกที่สมรสนอกกฎหมาย ก็สามารถทำได้ง่ายๆ และจากกรณีแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ปี ทำให้เกิดการพูดคุยระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและรัฐบาลไทยเพื่อขอให้ไทยดำเนินการปรับปรุงกฎหมายให้มีความเข้มข้นเท่ากัน รวมถึงประสานข้อมูลระหว่างกันอย่างรวดเร็วที่สุด
นายวิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการรับทราบข้อมูลกรณีแต่งงานเด็กหญิงวัย 11 ปี พบว่าครอบครัวของเด็กหญิงมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพาราให้กับเจ้าของผู้ชายชาวมาเลเซีย จากนั้นก็ให้ลูกแต่งงานกับเจ้าของสวน ซึ่งอาจเป็นการแต่งงานเพื่อยกฐานะครอบครัว ถือว่าไม่เหมาะสมทางศาสนา แต่ทราบว่าได้ผ่านพิธีนิกะห์ไปแล้วโดยอิหม่ามในพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการอิสลามจังหวัดไม่ได้รับทราบและรับรอง ฉะนั้นจึงจะมีมาตรการป้องกันจากนี้ว่า หากพ่อแม่จะให้ลูกที่อายุไม่เกิน 17 ปี เข้าพิธีนิกะห์ ต้องเสนอมายังคณะกรรมการอิสลามจังหวัดก่อน จะไม่ผ่านอิหม่ามอีกต่อไป
“ขณะนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ประสานสํานักจุฬาราชมนตรี เตรียมออกระเบียบที่เหมาะสมใช้กับอิสลามทั่วประเทศเร็วๆ นี้ ในการคุ้มครองเด็กและผู้หญิง เช่น การมีผู้หญิงในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เบื้องต้นในการจัดทำระเบียบดังกล่าวจะต้องรับฟังเสียงจากผู้หญิงและผู้เสียหายด้วย” วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ปลุกพลังสตรีเรียกร้องสิทธิ
ในงานเสวนายังมีนักสิทธิเด็ก นักสิทธิสตรีมาแสดงความคิดเห็น อย่าง นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่มองการสมรสไม่ได้มีเพียงมิติการมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังมีมิติการสร้างครอบครัว การถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ซึ่งวัยเด็กยังไม่มีทักษะเหล่านี้เพียงพอ ยิ่งทักษะการเป็นสามีภรรยา เป็นพ่อแม่ยิ่งไม่มี
ส่วน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวในพื้นี่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเข้าไม่ถึงความยุติธรรม ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืนแล้วถูกจับให้แต่งงานกับผู้กระทำ ฉะนั้นอยากให้ผู้นำศาสนาปกป้องสิทธิ์เด็กและผู้หญิงด้วยการไม่บังคับให้แต่งงาน และเอาผิดผู้กระทำผิดการข่มขืนตามกฎหมายอาญา ส่วนผู้หญิงควรกล้าที่จะตั้งคำถามถึงความไม่ยุติธรรม และกล้าออกมาเรียกร้องให้มีระเบียบหรือกฎหมายให้ที่ออกมาปกป้องเด็กและผู้หญิงในพื้นที่
ที่สัมมนา เห็นด้วยให้แก้กฎหมาย กรณการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และการกำหนดการสมรส จากเดิม 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์
ขอบคุณข้อมูล มติชน