สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบของการก่อความไม่สงบรายวัน นับจากหมุดหมายคือเหตุปล้นปืนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน นับรวมได้ 13 ปีเต็มแล้ว
แม้ระดับนโยบายที่เข้ามาแก้ปัญหาจะสลับหน้ากันมาถึง 8 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะคลี่คลายสู่สันติสุขอย่างแท้จริง
มีข้อมูลน่าสนใจอยู่ชุดหนึ่ง ก็คือแม้รัฐบาลจะเปลี่ยนหน้ากันเข้ามา handle ปัญหาภาคใต้ แต่ในระดับแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ล้วนเป็นคนหน้าเดิม โดยเฉพาะบรรดา “ผบ.ทบ.” หรือผู้บัญชาการทหารบกในแต่ละห้วงเวลา
เพราะ “ทหาร” เข้าไปมีบทบาทในการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาแบบ “ตำรวจ” ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคาบเกี่ยวในช่วงปี 2544 ถึงก่อน 4 มกราฯ 2547 ทำให้สถานการณ์ปะทุรุนแรงบานปลายมาจนทุกวันนี้ (ทั้งๆ ที่กลุ่มแยกดินแดนน่าจะบ่มเพาะการต่อสู้มาตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้านั้น)
เมื่อตั้งสมมติฐานกันแบบนี้ ภาระหน้าที่สำคัญๆ ในสมรภูมิภาคใต้จึงอยู่ในกำมือทหาร ทั้งผ่านการมอบหมายจากรัฐบาลพลเรือน และผ่านโครงสร้างที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2549 อย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.
ไล่เรียงรายชื่ออดีต ผบ.ทบ.ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของไฟใต้ ก็จะพบชื่อเหล่านี้…พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช
ที่น่าตกใจก็คือ เกือบทั้งหมดของรายชื่อข้างบนนี้ ปัจจุบันมีภาระหน้าที่ในระดับนโยบาย จัดการปัญหาภาคใต้ ได้แก่พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และประธาน คปต. (คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้) พล.อ.อนุพงษ์เป็น รมว.มหาดไทย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช เป็นรมช.กลาโหม และเป็นประธาน ครม.ส่วนหน้า หรือ คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่สำคัญ ทุกคนมีตำแหน่งแห่งที่ใน คสช. หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ องค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศอยู่ในปัจจุบัน
วันนี้ “ศูนย์ข่าวอิศรา” จะพาไปย้อนดูผลงานของพวกเขาเหล่านั้น เมื่อครั้งยังเป็น ผบ.ทบ.ว่าโชว์ผลงานดับไฟใต้เอาไว้น่าชื่นชมขนาดไหน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2547 – 30 ก.ย.2548 รวม 1 ปีงบประมาณ มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น จำนวน 905 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 258 ราย
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2548 – 30 ก.ย.2550 รวม 2 ปีงบประมาณ
-ปีงบประมาณ 2549 (1 ต.ค.2548 – 30 ก.ย.2549) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 1,123 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 373 ราย
-ปีงบประมาณ 2550 (1 ต.ค.2549 – 30 ก.ย.2550) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 1,821 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 373 ราย
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2550 – 30 ก.ย.2553 รวม 3 ปีงบประมาณ
-ปีงบประมาณ 2551 (1 ต.ค.2550 – 30 ก.ย.2551) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 867 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 377 ราย
-ปีงบประมาณ 2552 (1 ต.ค.2551 – 30 ก.ย.2552) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 774 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 317 ราย
-ปีงบประมาณ 2553 (1 ต.ค.2552 – 30 ก.ย.2553) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 641 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 310 ราย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2553 – 30 ก.ย.2557 รวม 4 ปีงบประมาณ
-ปีงบประมาณ 2554 (1 ต.ค.2553 – 30 ก.ย.2554) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 619 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 315 ราย
-ปีงบประมาณ 2555 (1 ต.ค.2554 – 30 ก.ย.2555) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 648 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 300 ราย
-ปีงบประมาณ 2556 (1 ต.ค.2555 – 30 ก.ย.2556) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 568 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 270 ราย
-ปีงบประมาณ 2557 (1 ต.ค.2556 – 30 ก.ย.2557) มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 519 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 250 ราย
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557 – 30 ก.ย.2558 รวม 1 ปีงบประมาณ มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 595 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 110 ราย
พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2558 – 30 ก.ย.2559 มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 641 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 107 ราย
เราจะฝากความหวังไว้กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันนี้ได้หรือไม่…ประชาชนในประเทศนี้มีสิทธิ์เพียงแค่รอดู!
———————————————————————
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.อุดมเดช
Cr.issaranews