ไอแบงก์รอด! ครม.อนุมัติ 1.6 หมื่นล้านเพิ่มทุน เร่งหาพันธมิตร

ครม.เห็นชอบนำเงินกองทุนแบงก์รัฐเพิ่มทุนไอแบงก์ 1.6 หมื่นล้านบาท เร่งหาพันธมิตรเพิ่มทุน เจียดงบ 650 ล้านบาท พัฒนาฟินเทคของแบงก์รัฐรองรับการเงินสมัยใหม่

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบนำเงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (กองทุนแบงก์รัฐ) วงเงิน 1.6 หมื่นล้าน สำหรับเพิ่มทุนให้กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) บาท จากยอดเงินเพิ่มทุนทั้งหมด 1.8 หมื่นล้านบาท หลังจากครั้งที่ผ่านได้อนุมัติเงินเพิ่มทุนไปแล้ว 2 พันล้านบาท การเพิ่มทุนดังกล่าวทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นในไอแบงก์ร้อยละ 99.71 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด หลังจากสรรหาพันธมิตรใหม่มาร่วมทุนได้แล้ว กระทรวงการคลังจะลดการถือหุ้นเพื่อเปิดให้เอกชนมาร่วมบริหาร โดยกำหนดแผนวัดผลงานจากบริหารงาน ทั้งความเสี่ยงจากสินเชื่อใหม่ ประสิทธิภาพการบริหาร สัดส่วนหนี้สินต่อทุน (LOA)

ด้านไอแบงก์มั่นใจว่า หลังประสบปัญหาขาดทุนในปี 57 จำนวน 9,500 ล้านบาท ลดลงในปี 59 เหลือขาดทุน 3,000 ล้านบาท ปี 60 ขาดทุน 3,000 ล้าบาท กองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ติดลบร้อยละ 53 เพื่อทำการเพิ่มทุนแล้ว คาดว่าในปี 61 จะมีผลกำไร 828 ล้านบาท ปี 62 มีกำไร 1,300 ล้านบาท และในปี 63 กำไร 2,000 ล้านบาท ปี 65 กำไร 2,800 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 8.5 หลังจากไอแบงก์ปฎิบัติการตามแผนฟื้นฟูของ คนร. คาดว่าจะมีผลกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.ยังเห็นชอบนำกองทุนแบงก์รัฐไปใช้ดำเนินจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน จำนวน 650 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนการเรียนรู้นวัตกรรมทางการเงิน พัฒนาฟินเทคสมัยใหม่ทั้งหมด ผ่านความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ นำความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีฟินเทคสมัยมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเตรียมวัดผลดำเนินงานในช่วง 24 เดือน ผลักดันให้แบงก์รัฐใชระบบฟินเทครองรับการเงินสมัยใหม่ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ กองทุนแบงก์รัฐอนุมัติเงินให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 31 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลของธนาคารให้มีความทันสมัยรองรับการบริการให้กับผู้ขอสินเชื่อ เพื่อยกระดับให้เป็นตลาดกลางดิจิทัล นำสินทรัพย์รอการขยายของกรมบังคับคดี รับซื้อหนี้เสียของธนาคารเข้ามาเปิดจำหน่าย เป็นฐานข้อมูล (Bigdata) ขนาดใหญ่ ด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ ให้กับชาวบ้านที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ล่าสุดยอดเงินกองทุนแบงก์รัฐมีจำนวน 2.18 หมื่นล้านบาท โดยมีการนำส่งเข้ากองทุนตามยอดเงินฝากของแต่ละธนาคาร โดยแบงก์รัฐนำส่งเงินให้กองแบงก์รัฐปีละ 2 ครั้ง เพื่อใช้สร้างความเข้มแข็ง