ศูนย์วิทย์ฯเปิดห้องปฏิบัติการฯ’Tan Sri Dr.Surin Pitsuwan’ยิ่งใหญ่

ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรำลึกถึงความดีงามของอดีตเลขาธิการอาเซียน ผู้ที่ได้สร้างคุณปการต่อสังคมไทยและสังคมโลก

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2561 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ทำพิธีเปิดห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” (Tan Sri Dr.Surin Pitsuwan Research and Innovation Halal Science Laboratory) เพื่อรำลึกถึง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีบุคคลที่ดร.สุรินทร์ ให้การเคารพนับถือ ร่วมพิธี อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย อดีตนายกฯนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตจากประเทศมุสลิมกว่า 16 ประเทศ อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายกรณ์ จาติกวนิช นายเทพไท เสนพงศ์ และครอบครัวพิศสุวรรณ คุณอลิสา (ภริยา) คุณฮุสนี (บุตรชาย) และคุณฮูไวดียะฮ์ (น้องสาว) รวมทั้ง ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ

ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลนี้เรียกกันสั้นๆว่า PS Halal Lab ตั้งอยู่บนชั้น 13 ของอาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนจุฬาลงกรณ์ 12 ติดกับอาคารสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ไม่ไกลจากอาคารสำนักงานอธิการบดีนัก ที่อาคารวิจัยที่ว่านี้ ศวฮ.มีที่ทำการอยู่บนชั้น 11, 12, 13 โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,000 ตารางเมตรจากทั้งหมด 4,400 ตารางเมตรที่ ศวฮ.ครอบครองอยู่ ส่วนของ PS Halal Lab ตั้งอยู่บนชั้นที่ 13 ของอาคารมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 500 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ ห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนวิทยาและคอสเมติกส์ และห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล

ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ ศูนย์วิทย์ฯ กล่าวว่า การใช้ชื่อห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นงานสำคัญของ ศวฮ.ตั้งตามชื่อ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เนื่องจากก่อนการจากไป ท่านเป็นกรรมการที่ปรึกษาของ ศวฮ.มาเนิ่นนานหลายปี ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ศวฮ.มาตั้งแต่ก่อนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ซึ่งศูนย์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ว่านี้เองได้พัฒนางานก้าวหน้ากระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งเป็น ศวฮ.ตอนปลาย พ.ศ.2547

ความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับ ศวฮ.เริ่มต้นจริงจังตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2542 เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้นท่านกรุณาเขียนคำนิยมให้กับหนังสือ Halal-HACCP ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกไม่เพียงเขียนคำนิยม ท่านยังแนะนำให้ผมเขียนโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากรัฐบาลซึ่งท่านเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนางานด้านฮาลาลซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศไทย

‘การเข้าดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ของผมในช่วงเวลาเดียวกันทำให้โครงการกว่าจะเขียนขึ้นสำเร็จใช้เวลาพอสมควร สุดท้ายถูกโอนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งชาติ ที่มีอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธาน กระทั่งได้รับงบประมาณสนับสนุนตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 กำเนิดเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนยกระดับขึ้นเป็น ศวฮ.ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด เดือนสิงหาคม พ.ศ.2556 ศวฮ.ครบรอบสิบปีจึงจัดตั้งห้องปฏิบัติการชีววิทยาโมเลกุลฮาลาล “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระคุณท่านอาจารย์วันนอร์ มาปีนี้ ศวฮ.ครบรอบสิบห้าปีจึงจัดตั้งอีกหนึ่งห้องปฏิบัติการตั้งชื่อว่า “ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ศวฮ.คลับคล้ายเป็นจุดเชื่อมผู้ใหญ่มุสลิมที่เป็นที่เคารพสองท่านเข้าด้วยกัน อันเป็นความภาคภูมิใจของชาว ศวฮ.’ ดร.วินัย กล่าว