รองปลัดยุติธรรมยันข้าวหมากเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ผิดกฎหมาย

คดีจับคนจนขายข้าวหมาก เรียกปรับ 50,000 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยันข้าวหมากเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่เข้าข่ายกฎหมายสุรา

ตามที่มีข่าวสรรพสามิตจังหวัดบุรีรัมย์ จับนางเสน่ห์ ป่วงรัมย์ อายุ 60 ปี ชางบุรีรัมย์ แม่ค้าขายข้าวหมาก ข้อหาจำหน่ายเหล้าสาโทโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเรียกค่าปรับสูงถึง 5 หมื่นบาท โดยมีการต่อรองค่าปรับลดลงเหลือ3 หมื่นบาทและลดลงเหลือแค่ 1 หมื่นบาทเพื่อแลกกับการปล่อยตัวนั้น

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธวัชชัย ไทยเขียวได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความรู้ด้านกฎหมาย โดยระบุว่า มีการถอดลูกแป้งข่าวหมากของจากพรบ.สุราแล้ว โดยถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผมไม่มีข้อเท็จจริงในคดีนี้ จึงไม่สามารถวิพากษ์ได้ แต่อยากให้ความรู้เป็นการทั่วไปในส่วนที่เกี่ยวข้องครับ

ข้าวหมักหรือข้าวหมาก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มีส่วนผสมสำคัญจาก “ลูกแป้งข้าวหมาก” พบมากที่สุด จากหลายๆ ที่ ทำกันอย่างเปิดเผย ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ผิดกฎหมายแล้ว เพราะได้แยกลูกแป้งข้าวหมากออกจาก พรบ. สุราแล้ว และส่วนผสมก็มีไม่มาก

“ลูกแป้งข้าวหมักหรือข้าวหมาก” จะมีเชื้อราสกุล Mucor sp., Amylomyces rouxii , Rhizopus oryae ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เชื้อราที่เป็นโทษ เชื้อราทำหน้าที่สร้างเอนไซม์อมิเลสออกมาย่อยแป้งในข้าวเหนียวให้เป็นน้ำตาลในช่วงหนึ่ง คือ ๒-๓ วัน หลังจากนั้น ก็เป็นหน้าที่ของยีสต์ ในสกุล Sacchacomyces sp., saccharomycopsis fibuligera , hansenula anomala , Endomycopsis ที่หมักน้ำตาลในข้าวหมากกลายเป็นแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่มาก ลูกแป้งทำข้าวหมากจะให้ความหวานมากกว่าแอลกอฮอล์ไม่เหมือนกับลูกแป้งเหล้า จะให้ แอลกอฮอล์มากกว่าความหวาน

จำได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยมีมติ ๘:๖ ให้ถอดแป้งข้าวหมาก ออกจาก พ.ร.บ.สุราฯ ระบุละเมิดภูมิปัญญาชาวบ้าน และการประกอบอาชีพ

เนื่องจากคำว่าเชื้อสุรา ตามนิยามของความหมายใน มาตรา ๔ ของ พ.ร.บ.สุรา ระบุให้หมายความว่า แป้งเชื้อสุรา แป้งหมัก หรือเชื้อใดๆ ซึ่งเมื่อหมักกับวัตถุ ของเหลวอื่นแล้ว สามารถทำให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำสุราได้ก็ตาม แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า แป้งข้าวหมักมีลักษณะที่ไม่ใช่เชื้อสุราในตัวเอง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น อาหาร ยา

ดังนั้น การที่มาตรา ๒๔ บัญญัติว่า ทำหรือขายเชื้อสุรา ที่มีความหมายรวมถึงแป้งข้าวหมัก จึงเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐ รวมทั้งยังเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ ที่บัญญัติให้บุคคลซึ่งรวมตัวกับเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และของชาติด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีบทกฎหมายบัญญัติรองรับมาตราดังกล่าว จึงไม่สามารถอ้างได้ว่า มาตรา ๒๔ ขัดหรือแย้งกับ มาตรา ๔๖ (คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๕/๒๕๔๗. (๒๔๔๗, ๔ ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๙๒๑ ตอนที่ ๖๓ ก)

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว การผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวหมักก็สามารถจำหน่ายนอกพื้นที่ที่ยื่นขออนุญาตไว้ได้ เรื่องที่เกรงว่าจะนำไปผลิตสุราเถื่อนนั้น ไม่ต้องห่วงเนื่องจากการผลิตสุรา เถื่อนไม่นิยมนำแป้งข้าวหมักมาใช้ในการผลิตเพราะดูแลยาก อีกทั้งตัวแป้งข้าวหมักจะต้องคอยควบคุม อุณหภูมิและไม่คุ้มต้นทุน และสุราที่ได้จะมีแรงแอลกอฮอล์เพียง ๕ ดีกรี จึงมักนิยมใช้ส่าเหล้ามาผลิต มากกว่า ในส่วนของการผลิตอาหารและยารักษาโรคที่ต้องใช้แป้งข้าวหมักเป็นส่วนผสมในการผลิตนั้น ก็ สามารถใช้แป้งข้าวหมักได้อย่างเสรีโดย“แป้งข้าวหมัก”ไม่เป็น“เชื้อสุรา”ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.๒๔๙๓ แล้วครับ

นอกจากนี้คำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับความหมายของคำว่า สุราที่น่าสนใจ…!!

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ใกล้เคียงกับกรณีนี้ไว้เป็นกรณีศึกษา คือคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๙/๒๕๐๙ เจ้าพนักงานสรรพสามิตจับจำเลยพร้อมด้วยของกลางคือข้าวหมักผสมสีอินดิโก ๑ โอ่ง ปริมาณ ๗๐ ลิตร กรรมวิธีในการทำใช้ข้าวเหนียวกับลูกแป้งเชื้อสุราหมักทิ้งไว้ ๒-๓ วัน แล้วจึงเอาสีผสมที่จำเลยใช้ย้อมผ้าเป็นสีครามของกลางรายนี้มีสีผสมอยู่ สรรพสามิตอำเภอเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าไม่ทราบว่าข้าวหมักผสมสีอย่างรายของจำเลยจะมีคนเอามาดื่มกินหรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์ชี้แจงผลการพิจารณาตัวอย่างที่กรมสรรพสามิตนำส่งและที่เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์ไปเก็บตัวอย่างมาพบว่ามีสีอินดิโก (indigo) ผสมอยู่ทุกตัวอย่างอาจใช้ดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา ถ้าผู้บริโภคไม่ทราบถึงคุณสมบัติของสีที่ใช้ผสมจะเป็นพิษอันตรายหรือไม่ เพียงใด ของกลางที่จับได้จากจำเลยเป็นข้าวหมักผสมสีอินดิโก เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตไม่แน่ใจว่าจะดื่มได้อย่างสุราธรรมดา ทั้งไม่ทราบว่าจะมีคนเอามาดื่มกินกันหรือไม่ ตามความเห็นของกรมวิทยาศาสตร์ปรากฏชัดอยู่ว่าข้าวหมักผสมสีอินดิโกใช้ดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุราเฉพาะผู้บริโภคท่ีไม่ทราบถึงคุณสมบัติของสีที่ใช้ผสมว่าจะเป็นพิษอันตรายเท่านั้นโดยเหตุนี้ของกลางในคดีนี้จึงมิใช่สุราตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้อง

ส่วนการผลิตข้าวหมักหรือข้าวหมากขาย ซึ่งไม่ใช่เป็นผลิตแป้งข้าวหมากนั้น ยอมรับว่า ผมไม่มีความรู้ว่าชาวบ้านต้องไปขออนุญาตอย่างไรหรือไม่ แต่ถ้ามี…ขั้นตอนแรกควรสร้างความรู้ความเข้าใจ และตักเตือนก่อน แล้วให้ไปทำเสียให้ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกให้ด้วย ถ้าไม่ทำและยังฝืนกฎหมายทำต่อ จึงค่อยบังคับใช้กฎหมายกันต่อไปดีไหมครับ