กอจ.หลายจังหวัดยื่นมหาดไทย ตีความระเบียบการตรวจฮาลาลนำเข้า ยันกฤษฎีกาตีความชัด ขัดต่อกฎหมายต้องยกเลิกระเบียบ ผ่านมากกว่า 1 ปียังเงียบ อาจจะถูกฟ้อง เผยรายได้ปีละนับ 10 ล้าน
มีรายงานว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด(กอจ.)หลายจังหวัด อาทิ กอจ.กรุงเทพฯ กอจ.ฉะเชิงเทรา กอจ.สมุทรปราการ กอจ.ปทุมธานี กอจ.พระนครศรีอยุธยาเป็นต้น ได้ยื่นต่อกระทรวงมหาดไทย ให้ตีความกฎหมายระเบียบการให้อำนาจฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กรณี การตรวจรับรองฮาลาลนำเข้า ซึ่งกระทรวงมหาดไทย จะได้ยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ผลออกกฤษฎีกา เห็นว่า ระเบียบของคณะกรรมการกลางแห่งประเทศไทย ขัดต่อกฎหมาย
ตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ 0320/04908 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2560 ลงนามโดยนายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงประธานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย (จุฬาราชมนตรี) ให้พิจารณาระเบียบกอท.ว่าด้วยกอจการฮาลาล ข้อ 14 วรรค โดยกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาอำนาจหน้าที่ในการให้การรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลามพ.ศ.2540 ได้วินิจฉัยไว้ว่า การรับรองเกี่ยวกับเอกสาร การรับรองว่าบุคคลเป็นมุสลิม และการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารที่อนุมัติให้มุสลิมบริโภคได้ (ฮาลาล) เป็นอำนาจของคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย แล้วแต่กรณี ซึ่งในการรับรองอาหารฮาลาล กอท.มีอำนาจตามมาตรา 18(6)หรือ (9) ออกประกาศและให้คำรับรองในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
ส่วนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีอำนาจตามมาตรา 26 (13) ออกประกาศและรับรองเกี่ยวกับศาสนาอิสลามในจังหวัด ซึ่งตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แบ่แยกอำนาจไว้ชัดเจน ดังนั้น การที่กอท. ได้ออกระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามฯ ข้อ 14 วรรค 4 กำหนด ให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายและใช้ในกิจการของผู้ประกอบการ บริษัท โรงงาน สถานที่จัดเก็บสินค้าหรือโกดังนั้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดใดก็ตามให้เป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ของกอท. เข้าไปดำเนินการตรวจและให้การรับรองและใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล ระเบียบนั้นขัดต่อพ.ร.บ.การบริหารองค์กรอิสลามฯ มาตรา 66(13) ที่อำนาจในการออกประกาศและให้คำรับรองเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลามในจังหวัดเป็นอำนาจของกอ.ประจำจังหวัด กอท.จะออกระเบียบขัดกับพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าไม่ได้
ตามหนังสือดังกล่าว พล.ต..สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ลงนามรับทราบ และให้ฝ่ายกิจการฮาลาลของกอท.ดำเนินการ ซึ่งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ผ่านมากว่า 1 ปี ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
ตามข้อมูลโดยประมาณการ พบว่า โรงงานที่มีการนำเข้าสินค้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล กอท. เข้าไปตรวจสอบโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย มีจำนวนหลายร้อยโรงงาน อาทิ กทม. 90 กว่าโรงงาน สมุทรปราการ 70 กว่าโรงงาน รวมทั่งประเทศแล้ว มีรายได้จากการตรวจสอบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายกิจการฮาลาล รับประโยชน์ที่ไม่สมควรได้มาตลอด ซึ่งจะต้องคืนให้กอจ.จังหวัด ซึ่งเป็นเงินหลายสิบล้านบาม ซึ่งกอจ. สามารถฟ้องร้องได้