4 ปี คสช. อำนาจเต็ม แต่ดับไฟใต้เหลว

“ดับไฟใต้ต้องทำอย่างไร.?

“ไฟใต้ยังลุกโชนอยู่ แม้รัฐบาลจะปลอบใจคนไทยว่าสถานการณ์ดีขึ้นมาก แต่ยังมีเหตุร้ายเป็นระยะๆ ไม่เว้นแม้แต่ในเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม หรือรอมฎอน มีการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เหตุเกิดหลังเสร็จสิ้นการทำละหมาดล่าสุด กลุ่มคนร้ายใช้เครื่องยิงระเบิดและปืนอาก้ายิงถล่มสำนักสงฆ์ แต่ไม่มีบาดเจ็บล้มตายความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปะทุขึ้นรอบใหม่ นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา

ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 14 ปี มีการสูญเสียเกือบ 7 พันชีวิต กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่ร้ายแรงของประเทศในยุคปัจจุบัน รัฐบาลที่ผ่านๆมาต่างประกาศว่าเข้าใจและเข้าถึงปัญหา แต่ไฟใต้กลับลุกลาม และโหมกระพือ แสดงว่ายังไม่ถูกทาง นับแต่ไฟใต้ลุกลาม รัฐบาล คสช.เป็นรัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ถึงกว่า 4 ปี เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจมากที่สุด และมีเอกภาพมากที่สุด ทั้งในการกำหนดนโยบาย และควบคุมระดับปฏิบัติการ ผู้นำรัฐบาลประกาศว่าจะดับไฟใต้โดยเร็ว และย้ำอีกว่าจะดับไฟเร่งด่วน ก่อนไทยเข้าร่วมประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558

แต่ผ่านไปแล้วกว่า 4 ปี ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้จะใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่างๆ ทั้งการใช้ทหารนำการเมือง หรือการเมืองนำการทหารสร้างทั้งพระเดชพระคุณ ทุ่มงบประมาณมากมายมหาศาลเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเอาชนะใจประชาชน

รวมทั้งใช้วิธีการพูดจาสันติสุข แต่ไฟใต้ก็ยังลุกโชนอยู่ การเจรจาดับไฟใต้รอบแรก มีขึ้นในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียกว่า “การพูดคุยสันติภาพ” โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ส่วนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ มีตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้าคณะ และมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเว้นไประยะหนึ่ง เพิ่งจะเริ่มใหม่ในรัฐบาล คสช.แต่การเจรจาก็ยังไม่คืบหน้า

มีรายงานข่าวว่า มีความเห็นต่างแม้แต่ในเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ในวิธีการดับไฟใต้ บางฝ่ายเน้นความสำคัญของโครงการ “นำคนกลับบ้าน” คือเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดมอบตัว เข้าอบรม และได้รับยกเว้นไม่ถูกดำเนินคดีอาญา แต่บางฝ่ายเร่งให้เปิด “พื้นที่ปลอดภัย” ใน 5 อำเภอ เพื่อทดสอบความจริงใจคู่เจรจา

แสดงว่าแม้จะพูดคุยกันมาหลายรอบ แต่ยังอยู่ในขั้นการสร้างความไว้วางใจอยู่ ทุกฝ่ายเห็นว่าจะต้องยุติความขัดแย้งด้วยการเจรจา แต่นักวิชาการเตือนว่าฝ่ายรัฐบาลจะต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในด้านอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ และศาสนาของประชาชนในพื้นที่ จึงจะดับไฟใต้ได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจและเข้าถึงปัญหาอย่างลึกซึ้งเพียงใด

 

Cr.ไทยรัฐ