ศาลฎีกานักการเมืองรับฟ้องคดี‘ทักษิณ’ ไฟเขียวคลังฟื้นฟูทีพีไอโดยไม่มีอำนาจ
6 มิ.ย.61 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดฟังคำสั่งรับหรือไม่รับฟ้อง คดีหมายเลขดำ อม.40/2561 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
กรณีนายทักษิณ ให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ
โดยคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 และได้ยื่นฟ้องคดีเอง เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา พร้อมยื่นเอกสารหลักฐาน 21 กล่อง 120 แฟ้ม ที่มีมติชี้มูลความผิดอาญานายทักษิณให้ศาลพร้อมคำฟ้อง
ก่อนพิจารณาคำฟ้อง วันนี้องค์คณะทั้ง 9 คน ก็ได้ประชุมกันภายในเพื่อเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คนก่อน แล้วจึงพิจารณาคำฟ้องซึ่งเห็นว่า แม้การฟ้องไม่มีตัวจำเลย แต่จำเลยคดีนี้ก็ถูกยื่นฟ้องในคดีของศาลฎีกานี้ซึ่งได้ออกหมายจับไว้แล้ว ขณะที่คำฟ้องคดีก็ถูกต้องตามกฎหมาย และ ป.ป.ช.โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ.2560 มาตรา 27 ที่จะประทับรับฟ้องคดีไว้พิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป โดยให้สำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลยและปิดหมายแจ้งจำเลยทราบตามที่อยู่ในฟ้อง (บ้านพักย่านจรัญสนิทวงศ์) ซึ่งให้การปิดหมายมีผลทันที ตาม วิ อม.มาตรา 19
โดยองค์คณะฯ กำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ เวลา 8.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากวันนัดพิจารณาครั้งแรก นายทักษิณไม่มาศาล ในวันนัดดังกล่าวองค์คณะฯ ก็มีอำนาจพิจารณาออกหมายจับให้ติดตามตัวมาดำเนินคดี และตาม วิ อม. มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติว่า หากออกหมายจับแล้ว 3 เดือน ยังไม่ได้ตัวจำเลย ศาลมีอำนาจพิจารณาได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย (ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลย) แต่ไม่ตัดสิทธิที่จำเลยจะแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทนตนได้
สำหรับคดีนี้ ถือเป็นสำนวนที่ 7 ที่ นายทักษิณ อดีตนายกฯ ถูกยื่นฟ้องนับจากพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549
สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา, นายไสลเกษ วัฒนพันธ์ รองประธานศาลฎีกา, นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา, นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา, นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกา, นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา, นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และนายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา