ดร.นัฐวุฒิ กอเซ็ม นักวิจัยไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ได้เขียนบทความ การสวมฮิญาบของนักเรียนมุสลิมในญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นประเทศที่ได้ชื่อว่า ดินแดนแห่งระเบียบวินัย มีทั้งกฏหมายและกฏของสังคมที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และเมื่อลูกๆเข้าโรงเรียน ก็ย่อมต้องปฏิบัติตามกฏของ ร.ร. อย่างเคร่งครัด
ด้วยความจำเป็นด้านศาสนาของครอบครัว จึงต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
“สิ่งพิเศษที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นการพูดคุยจนสิ้นสุดระหว่างผมในฐานะพ่อ และอาจารย์ฝ่ายปกครองและ ผ.อ. บรรดาเซนเซ (คุณครู) เลือกที่จะวางกฏระเบียบของ ร.ร. ไว้ข้างหลัง และหันมาสนใจข้อบังคับทางศาสนามากกว่า บนความเข้าใจที่นำไปสู่การปฏิบัติว่ากฏเกณฑ์ของโรงเรียนต้องสอดคล้องกับกฏหมายและไม่ริดรอนสิทธิทางศรัทธาของนักเรียนและครอบครัว”
ความจริงใจ ใส่ใจ สามารถสัมผัสได้จากแววตาและน้ำเสียงตลอดการสนทนา
เพราะ ร.ร. ต้องการสร้างคนที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคต การผลักดันให้เด็กได้ความรู้ และกล้าแสดงตัวตน ไม่ลืมอัตลักษณ์ของตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่โรงเรียนส่งเสริมและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ความเข้าใจและเข้าถึง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อผู้ดีต่อใจผู้รับ และเหนืออื่นใดมันสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่สูงส่งของผู้ให้อย่างมากมาย
ไม่แปลกใจ ว่าเหตุใดญี่ปุ่นจึงก้าวกระโดดมาเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะทุกหน่วยย่อยของสังคมนั้นสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ