Forbes Media เป็นบริษัทสื่อชั้นนำระดับโลกที่มุ่งนำเสนอข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ การลงทุนเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ และผู้นำทางธุรกิจ ได้ประกาศรายชื่อ 50 อันดับอภิมหาเศรษฐีของไทย ประจำปี 2561 โดยใช้ข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากครอบครัวและผู้ที่ได้รับการจัดอันดับ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ และหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวในหลายรุ่น ทั้งนี้มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนคำนวณจากราคาหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 20 เมษายน ส่วนทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
กลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของไทยมีทรัพย์สินรวมกันทะยานขึ้นเป็นกว่า 1.62 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (5.06 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นหนึ่งในสามจากปีที่แล้ว โดยผู้ที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย มีถึงสองในสามที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เฉพาะสี่อันดับแรกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 2.5 หมื่นล้านเหรียญ (7.81 แสนล้านบาท) หลังผ่านพ้นช่วงเวลาซบเซาสั้น ๆ เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มกลับมากระเตื้องอีกครั้ง ธนาคารโลกคาดการณ์เป็นครั้งแรกนับจากปี 2555 ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยาย ตัวกว่าร้อยละ 4 ในปี 2561 หลังการส่งออกเพิ่มขึ้นผนวกกับความต้องการในประเทศฟื้นตัวแม้เศรษฐกิจจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ทรัพย์สินของบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาดหุ้นขาขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่าสี่อันดับแรกในทำเนียบ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงสุด
โดยพี่น้องตระกูล”เจียรวนนท์”แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังครองอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องด้วยทรัพย์สินมูลค่าสูงสุดเป็น ประวัติการณ์ที่ 3 หมื่นล้านเหรียญ (9.37 แสนล้านบาท) ด้วยแรงหนุนจากราคาหุ้นของบริษัทสำคัญ ๆ ที่ทะยานขึ้น อาทิ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ได้อานิสงส์จากบรรยากาศการบริโภคที่สดใส และบริษัทประกัน ภัย Ping An ที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนในธุรกิจฟินเทค อันดับที่สองประจำทำเนียบเป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์แห่งกลุ่มเซ็นทรัล มาพร้อมทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นแตะ 2.12 หมื่นล้าน เหรียญ (6.62 แสนล้านบาท) จาก 1.53 หมื่นล้านเหรียญ ในปีที่ผ่านมา, นายเฉลิม อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดงมาในอันดับที่ 3 โดย
มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 8.5 พันล้านเหรียญ เป็น 2.1 หมื่นล้านเหรียญ (6.56 แสนล้านบาท) ในปีนี้นายเจริญ สิริวัฒนภักดี (อันดับ 4) แห่งกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ มีทรัพย์สินเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 2 พันล้านเหรียญ รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สิน 1.74 หมื่นล้านเหรียญ (5.43 แสนล้านบาท)
ขณะที่ Aloke Lohia (อันดับ 9) เป็นมหาเศรษฐีอีกหนึ่งท่านที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก ทะยานแตะ 3.3 พันล้านเหรียญ (1.03 แสนล้านบาท) พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 89 การบรรลุข้อตกลงที่สำคัญนับตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL)เข้าเป็นเจ้าของกิจการ 16 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกิจการในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในปี 2560 บริษัทรายงานตัวเลขรายได้ 8.4 พันล้านเหรียญ เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 17
สิ่งสะท้อนความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นคือปีนี้มีถึง 32 อันดับที่มีทรัพย์สินระดับพันล้านเหรียญขึ้นไป เพิ่มจากปี 2560 สี่อันดับ (5 ท่าน) โดยสองในนี้เป็นมหาเศรษฐีใหม่ที่เพิ่งเข้าอันดับเป็นครั้งแรกหลังพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอแห่ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)(อันดับ 7) ซึ่งเข้าตลาดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ร่ำรวยที่สุดด้วยทรัพย์สินมูลค่า 3.4 พันล้านเหรียญ (1.06 แสนล้านบาท) และอีกหนึ่งคือนายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA (อันดับ 14) เข้าทำเนียบมาเป็นปีแรกด้วยทรัพย์สินสุทธิ 2.1 พันล้านเหรียญ (6.56 หมื่นล้านบาท) อีกสองมหาเศรษฐีหน้าใหม่ประจำทำเนียบมาจากธุรกิจความสวยความงามที่กำลังเฟื่องฟู ได้แก่ นพ.สุวินและธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ แห่งบมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY)(อันดับ 40) โดยทั้งคู่มีทรัพย์สินรวมกัน 715 ล้านเหรียญ (2.23 หมื่นล้านบาท) และนายสราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดู เดย์ ดรีม (DDD)(อันดับ 45) กับมูลค่าทรัพย์สิน 675 ล้านเหรียญ (2.11 หมื่นล้านบาท) ทำรายได้อย่างงามจากกระแสคลั่งไคล้ผิวขาว
ในบรรดามหาเศรษฐีนี 9 คนที่เข้าสู่ทำเนียบในปีนี้ สองคนเป็นผู้ที่กลับเข้าสู่อันดับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมถึง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (อันดับ 28) ประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ด้วยทรัพย์สิน 1.3 พันล้านเหรียญ (4.06 หมื่นล้าน บาท) ด้าน Nishita Shah Federbush (อันดับ 32, 1.06 พันล้านเหรียญ) ทายาทธุรกิจขนส่งทางทะเลผู้กุมบังเหียนจีพี กรุ๊ป เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีนีที่โดดเด่นด้วยมูลค่าทรัพย์สินของตระกูลมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญเป็นครั้งแรก โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้น จากการเข้าถือหุ้นร้อยละ 51 ใน บมจ. เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ บริษัทยาและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพที่ Kirit พ่อของเธอเป็นผู้ก่อตั้งใน ปี 2525 จากการกำหนดทรัพย์สินสุทธิขั้นต่ำของผู้ที่ได้รับการจัดอันดับที่ 600 ล้านเหรียญ ทำให้มีมหาเศรษฐีเจ็ดคนหลุดจากทำเนียบ
50 อภิมหาเศรษฐีไทยไปในปีนี้ รวมทั้งภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ของเขาทำรายได้และผลกำไรลดลงจากอุปสงค์ที่อ่อนแรงและราคาวัตถุดิบที่ถีบตัวสูงขึ้น
รายชื่อตระกูลและอภิมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของไทย
1. พี่น้องเจียรวนนท์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.0 หมื่นล้านเหรียญ
2. ตระกูลจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สิน 2.12 หมื่นล้านเหรียญ
3. เฉลิม อยู่วิทยา มูลค่าทรัพย์สิน 2.1 หมื่นล้านเหรียญ
4. เจริญ สิริวัฒนภักดี มูลค่าทรัพย์สิน 1.74 หมื่นล้านเหรียญ
5.วิชัย ศรีวัฒนประภา มูลค่าทรัพย์สิน 5.2 พันล้านเหรียญ
6. กฤตย์ รัตนรักษ์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.7 พันล้านเหรียญ
7.สารัชถ์ รัตนาวะดี มูลค่าทรัพย์สิน 3.4 พันล้านเหรียญ
8. นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มูลค่าทรัพย์สิน 3.35 พันล้านเหรียญ
9.Aloke Lohia มูลค่าทรัพย์สิน 3.3 พันล้านเหรียญ
10. วานิช ไชยวรรณ มูลค่าทรัพย์สิน 3 พันล้านเหรียญ
ทั้งนี้ สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เป็นเศรษฐีหน้าใหม่ที่ติดอันดับปีแรก โดยติดอันดับ 7 จากผลพวงที่นำบริษัทเข้าตลาดเมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยเขาเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ จากเซาท์แคลิฟอร์เนีย ยูนิเวอร์ซิตี้ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ ตั้งแต่ปี 2537 จนปัจจุบันกลุ่มกัลฟ์ ได้กลายเป็น เป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานชั้นนำของประเทศไทย โดยได้จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมผ่านรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) โดยบริหารและพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง รวม 11,125.6 เมกะวัตต์
มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 17 โครงการ ได้แก่ โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ โครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ (Cogen) จำนวน 11 โครงการ และโครงการ VSPP พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) จำนวน 4 โครงการ และมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจำนวน 11 โครงการ ได้แก่ โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ โครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ (Cogen) จำนวน 8 โครงการ และโครงการ SPP ชีวมวล 1 โครงการ