สภาฯผ่านฉลุยแก้พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 49 เพื่อฟื้นฟูกิจการ สนช. ดาหน้าจี้รัฐบาลลากตัว คนทุจริตธนาคาร 50,000 ล้านมาลงโทษเด็ดขาด
วันนี้(2ก.พ.2561) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้กระทรวงการคลังถือหุ้นได้เกิน 49%เพื่อฟื้นฟูธนาคาร
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางให้บริการทางการเงินที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม การดำเนินงานเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 มีจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ส่งผลต่อฐานะเงินทุนสำรองและขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน จนถึงปี พ.ศ. 2557 ธนาคารประสบปัญหามากขึ้น และเพื่อให้ธนาคารสามารถดำเนินการต่อไปได้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจึงเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยการแยกหนี้เสียออกจากหนี้ดี และโอนหนี้เสียให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด ทำหน้าที่บริหารจัดการ และเร่งรัดการตรวจสอบฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้ธนาคารเสียหาย ทั้งนี้ธนาคารได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูกิจการระยะยาว ปี 2561-2565 และแผนปฏิบัติการ ปี 2561 และมีการปรับโครงสร้างทางการเงิน
“ภาครัฐยังคงสนับสนุนให้ธนาคารดำเนินการตามพันธกิจแก่ประชาชนตามหลักศาสนาอิสลาม โดยได้กำหนดแนวทางการฟื้นฟูกิจการควบคู่ไปกับการเพิ่มทุน เพื่อให้ธนาคารสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามภารกิจและเจตนารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ในครั้งนี้ แก้ไขเพียงประเด็นเดียวคือ ให้กระทรวงการคลังสามารถถือครองหุ้นของธนาคารเกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินได้อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับการดำเนินงานของธนาคารและสรรหาพันธมิตรที่เหมาะสมเข้าร่วมทุนต่อไป” รมช.คลัง กล่าว
นายอนุมัติ อาหมัด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อภิปรายปรายว่า 2 ปีที่ผ่านมาข่าวของธนาคารอิสลามเป็นไปด้วยความสับสนว่าจะมีการปิดกิจการ พี่น้องประชาชนที่ฝากเงินก็เกิดความหวั่นไหว ตนได้มีโอกาสพบกับรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้รับการยืนยันว่า จะไม่มีการปิดธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ธนาคารฯ จะได้ให้บริการพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะมุสลิมต่อไป
“ผมสนับสนุนการเพิ่มทุนของธนาคาร เพื่อฟื้นฟูธนาคารให้กลับมาให้บริการประชาชนตามปกติ แต่ขอเสนอให้มีการปรับปรุงการบริหารให้มีประสืทธิภาพมากขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนกรรมการธนาคารให้มีมุสลิมมากขึ้น ให้มีการจัดตั้งกองทุนกิจการฮัจย์เพื่อส่งเสริมฮัจย์ของมุสลิมในประเทศไทย เหมือนที่มาเลเซียประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกัมปงฮัจย์ที่เริ่มจากคนไม่กี่คน” นายอนุมัติ กล่าว และว่า นอกจากนี้ ธนาคารอิสลามฯ ควรมีบทบาทในการส่งเสริมธุรกิจฮาลาล ให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเข้าถึงแหล่งงินทุนเพื่อดำเนินกิจการ ซึ่งธุรกิจฮาลาลนับว่า มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศมียอดการส่งออกปีละหลายแสนล้านบาทและมีสัดส่วนการเติบโตสูง
“เห็นด้วยให้มีการเพิ่มทุนเพื่อฟื้นฟูกิจการ แต่อยากให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารธนาคารให้สามารถตอบสนองประชาชนได้มากขึ้น” สนช. สายมุสลิม กล่าว
ในการอภิปราย มีสนช.หลายท่าน อาทิ นายสมชาย แสวงการ ได้เรียกร้องให้ธนาคารและรัฐบาล เร่งดำเนินการหาตัวคนโกง คนทุจริตจนธนาคารได้รับความเสียหายมาลงโทษ
“ธนาคารมีหนี้เสีย(NPF)มากกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งจะต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปแบกรับ จึงจะต้องหาตัวคนที่โกง คนทุจริต ที่มีประมาณ 200 กว่าคนมาลงโทษ ขอให้ธนาคารเปิดเผยรายชื่อ และให้คำมั่นว่า จะเร่งดำเนินการ ให้รู้ว่า รัฐบาลชุดไหน มีนักการเมืองพรรคไหนเข้าไปแทรกแซงการปล่อยสินเชื่อ ให้กับรายใหญ่ๆ 200 ราย ปล่อยกู้โดยมีหลักประกันต่ำกว่าสินเชื่อ เงิน 50,000 ล้านบาท แต่นำไปบริหารสินทรัพย์เพียง 20,000 กว่าล้านบาท จะต้องมีคนรับผิดชอบ ผมจะถามเรื่องนี้จนถึงการพิจารณาใรวาระ 2 และ 3″นายสมชาย กล่าว
ในการอภิปราย สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่รัฐเสนอแก้ไขให้กระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้วทั้งหมดเป็นการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และแก้ไขการดำเนินงานของธนาคารให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมแนะให้ประกาศต่อสาธารณะว่า บุคคลใดที่ฉ้อโกงธนาคารและต้องดำเนินคดี รวมถึงต้องปรับปรุงโครงสร้าง วางแผนการฟื้นฟูและวางมาตรการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การอภิปรายดำเนินไปประมาณ 2 ชั่วโมง ที่ประชุมได้มีมติรับหลัก 167 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง กำหนดระยะเวลาแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน