ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ : ผู้เชื่อมโยงระหว่างไทยกับโลกมุสลิม

บทความ
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยังรู้สึกใจหายกับการจากไปของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ผู้เป็นที่รักและเคารพของพวกเรา ท่านเป็นบุคคลต้นแบบและเป็นผู้นำทางความคิดในหลาย ๆ ด้าน แต่ในฐานะที่ผมเป็นคนสนใจงานด้านการต่างประเทศ โดยเฉพาะกิจการของโลกมุสลิม อาจารย์สุรินทร์ถือเป็นปรมาจารย์ที่ทรงคุณค่ายิ่งในด้านนี้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มงานที่เป็นประโยชน์ต่อไทยและประชาคมโลกไว้หลายเรื่อง บางเรื่องมีความก้าวหน้าไปไกล แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่รอการสานต่อจากคนรุ่นใหม่

สำหรับผม ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือผู้เชื่อมโยงระหว่างไทยกับโลกมุสลิม อันทำให้ความสัมพันธ์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นมิติที่สร้างสรรมากที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ไทยได้มีโอกาสเข้าไปนั่งประชุมกับองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ในฐานะสมาชิกผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเป็นงานที่ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้ผลักดันตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ช่วงหลังจากที่ท่านลงจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และกำลังรอไปนั่งในตำแหน่งใหม่ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานมัสยิดบ้านตาลเมื่อ พ.ศ. 2551 และสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไป ทำไมไทยถึงได้รับการยอมรับจากโลกมุสลิมให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสังเกตการณ์ใน OIC ซึ่งเป็นองค์การระดับรัฐข้ามภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหประชาชาติ มีสมาชิก 57 ประเทศทั่วโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศมุสลิม

ท่านตอบอย่างนี้ครับ

อันที่จริงประเทศไทยไม่ค่อยสนใจ OIC มากนักในตอนต้น เหตุผลเพราะไม่มีใครรู้เรื่องและไม่มีใครเป็นสื่อที่จะนำไปสัมผัสกับสมาชิก แม้มาเลเซีย (หนึ่งในสมาชิกที่สำคัญของ OIC) จะเป็นเพื่อนบ้านเรา แต่ในมิติที่เกี่ยวข้องกับ OIC เราไม่ค่อยได้เข้าเกี่ยวข้องกับเขามากนัก เพราะไม่มีบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานตรงนั้น ทั้งบรูไนและอินโดนีเซียต่างก็อยู่ในอาเซียนแต่ประเทศเราไม่ได้ใช้ประเทศเหล่านี้เป็นสื่อนำไปสู่การเป็นสมาชิกภาพหรือเป็นผู้สังเกตการณ์อย่างถาวร

เมื่อถึงสมัยที่ผมตำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทรวงการต่างประเทศ มันมีความสอดคล้องกันในด้านนโยบายว่าด้วยความต้องการที่จะติดต่อทำงานร่วมกับกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ หรือ Organization Of American States (OAS) เราก็ได้สถานภาพเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ในองค์กรนี้ หรือ Organization Of Security Cooperation in Europe (OSCE) เราก็เป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์เช่นกัน ซึ่งในเอเชียมีอยู่แค่ 2 ประเทศก่อนหน้าประเทศไทย คือ ญี่ปุ่นกับเกาหลี ไทยคือประเทศแรกนอกจากสองประเทศนี้ในเอเชียตะวันออก การประชุมอาเซียนเราเชิญตัวแทนของ Gulf Cooperation Council (GCC) มาร่วมการประชุมสำคัญๆ เราก็พยายามที่จะเชิญกลุ่มต่างๆ ทั่วโลกให้มาร่วม

เหตุผลเพราะการทูตช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้องเป็นการทูตเชิงรุก เนื่องจากเราไม่มีอำนาจต่อรองด้านอื่นๆ ทั้งนี้เศรษฐกิจของเราไม่ดี บรรยากาศการลงทุนก็ไม่มี การผลิตเพื่อการส่งอออกก็ไม่คึกคัก เพื่อนบ้านต่างก็ประทบกระเทือนกันไปหมด

ดังนั้น มันจึงมาตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เราจึงต้องมารุกเรื่องการทูต มารุกเรื่องการสร้างภาพพจน์และบทบาทในเรื่องที่เรามีจุดแข็งอยู่ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์กันแล้วจุดแข็งของเราก็มีประการเดียว คือประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนและการเป็นประเทศที่เปิดกว้างด้านสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการนับถือศาสนา

ในขณะนั้น อาจารย์วันนอร์เป็นประธานรัฐสภา ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในแง่ที่เป็นสิทธิเสรีภาพในความเสมอภาคในการนับถือศาสนา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนมุสลิมไม่มีปัญหาและไม่มีประเด็นอะไรเลย ผมเคยไปเยี่ยมก็อซซาฟีย์ในเต๊นกลางทะเลทราย เขาพูดประโยคนี้ออกมาว่า “ประเทศไทยไม่มีปัญหาแล้ว ก็รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นมุสลิมเสียแล้ว ไม่มีอะไรแล้วที่จะเป็นห่วง” ผมจึงคิดวิธีการที่จะไปสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ให้กว้างขึ้น ให้มากขึ้น

OIC คือกลุ่มประเทศและองค์กรหนึ่งที่จำเป็นจะต้องเข้าไปรู้จักผูกพัน แต่เราไม่ได้ทำแค่นั้น เราเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับ OAS เราเสริมความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียใต้หรือ SAARC เราเสริมความสัมพันธ์กับ GCC การประชุมอาเซียนทุกครั้งเราเชิญผู้แทนของกลุ่มต่างๆเหล่านี้ กลุ่ม Andean Groups จากลาตินอเมริกาเราก็เชิญ

เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เฉพาะว่าเป็น OIC แต่มันเป็นนโยบายด้านการทูตเพื่อมาทดแทน (Compensate) กับข้อต่อรองอื่นๆ ที่เราขาดหายไป นั่นก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการลงทุน เรื่องการค้า และด้านอื่นๆ ประเทศไทยเราไม่มีอะไรที่จะเสนอให้ใครตื่นเต้นกับเรา ซึ่งเราก็ต้องมามุ่งด้านนี้และมุ่งเรื่องสิทธิมนุษยชน มุ่งเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น Ticket ที่ทำให้เราไปได้ไกลพอสมควร

บทสัมภาษณ์ยังไม่จบแค่นี้ครับ ยังมีอีก แต่ต้องรอติดตามหน่อยนะครับ
ข้อมูลเฟส  Srawut Aree