ฟังอดีตเลขาธิการอาเซียน เล่าชีวิต “ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น”
รองเท้าไม่มีจนกระทั่ง 11 ขวบ
ที่เพิ่งเขียนหนังสือเล่มนี้ ก็เพราะเห็นว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีอะไรจะเล่า….
ชีวิตผมก็ธรรมดา ๆ เป็นเด็กบ้านนอก เกิดในชุมชนเชิงภูเขานครศรีธรรมราช 10 กิโลห่างจากตัวเมือง ดิ้นรนเรียนโรงเรียนวัด เดินเท้า ดูไม่มีอะไรแปลกไปจากคนไทยคนอื่น ๆ แต่ชีวิตดำเนินมา ได้มาเป็นอาจารย์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นรัฐมนตรีอยู่สองรอบ เป็นนักหนังสือพิมพ์บ้าง แล้วก็มาเป็นเลขาธิการอาเซียน จึงมีเรื่องที่จะเล่าให้ฟัง…ที่อยากจะแชร์
หลัง ๆ มานี้หลายท่านบอกว่า ดร.สุรินทร์ กับ ดร.ศุภชัย (พานิชภักดิ์) เป็นสองคนที่เป็นข้อยกเว้นสำหรับสังคมไทย คนอื่นทำไม่ได้ ลูกหลาน ลูกศิษย์ ของครูอาจารย์ ของพ่อแม่ในชนบทดูไว้เป็นตัวอย่าง แต่อย่าคิดว่าจะไปได้ถึงขนาดนั้น เพราะสองคนนั้นคือข้อยกเว้น
ตรงนี้บาดใจผมมาก เพราะถ้าทุกคนคิดอย่างนั้น ก็คือยอมแพ้ตั้งแต่เด็ก ผมก็เลยชอบพูดให้ใคร ๆ ได้ยินว่า อย่าให้ผมเป็นข้อยกเว้น
ผมก็เหมือนกัน ทำไมจากเด็กปอเนาะถึงไปฮาร์เวิร์ดได้ เพราะ ‘ความไม่ยอมแพ้และยอมจำนนต่อข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชีวิต’ ซึ่งมีอยู่เยอะมาก รองเท้าไม่มีจนกระทั่ง 11 ขวบ กางเกงมีตัวเดียว ปะแล้วปะอีก
คุณตาบอกว่า “มันขาดแล้วเราแก้มันไม่ได้ ที่เรารับผิดชอบคือให้มันสะอาด” เพราะเรามีชุดเดียว ปั่นจักรยานไปเรียนหนังสือ ถนนมันไม่มี ฝนตกแล้วถนนหาย บางทีรถมาจากข้างหลังกระแทกลงไปในหลุม สาดโคลนใส่เรา ก้มลงมาดู มีแค่นี้ ชุดนี้ อยากเป็นนายอำเภอ อยากจะมาราดยางถนนสายนั้น
เรียนไปเรียนมาก็ได้ทุนไปเรื่อย ๆ สอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ เปลี่ยนข้อจำกัดให้มันเป็นแรงดลใจ กลับมาบ้านอีกทีเค้าลาดยางเสียแล้ว ก็เลยต้องมาเป็นอาจารย์สอนนายอำเภอ สอนผู้ว่า ที่รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์
เติบโตมาท่ามกลางความหลากหลาย
สมัยเด็ก ผมอยู่ในปอเนาะ เป็นชุมชนที่ทุ่มเทเพื่อเรียนรู้หลักการวิถีปฏิวัติทางด้านศาสนา คุณตาผมเชี่ยวชาญเรื่องเทววิทยา สอนเด็กตั้งคำถามว่า พระเจ้ารู้ทุกอย่าง พระเจ้าทำ พระเจ้ากำหนดระบบ แล้วทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ แต่อีกสำนักหนึ่งเขาเชื่อว่า พระเจ้าต้องพูด ๆ ๆ ๆ ในทุกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะนกร้อง แดดออก ลมพัด ผึ้งบิน ผีเสื้อตอมโน่นตอมนี่
เรื่องเดียวกัน แต่คิดไม่เหมือนกัน เขาทะเลาะกันเรื่องนี้
นั่นคือ บรรยากาศทางความคิดในตอนเด็กที่รับมา สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องดลใจ สะกิดใจให้ต้องคิด ต้องตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา ได้คำตอบหรือไม่ได้ไม่รู้ แต่ต้องคิดตลอดเวลา และผมอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย เพราะคนที่อยู่รอบคุณตานี่เยอะแยะไปหมด ลูกศิษย์คุณตามาจากทุกอำเภอของภาคใต้ สำเนียงสุราษฏร์เป็นอย่างไร สำเนียงหัวไทรเป็นอย่างไร สำเนียงพัทลุง สำเนียงตรัง สำเนียงภูเก็ต พังงา ผมจำได้หมด เพราะฉะนั้น ผมจะอ่อนไหวต่อสิ่งเหล่านี้
พอเข้าธรรมศาสตร์ ได้ทุนไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศก่อน 1 ปี และกลับมาเรียนต่อด้านปรัชญาการเมือง รัฐศาสตร์สมัยนั้นสอนทุกเรื่อง ตีทะเบียนควายเขาก็เรียน เพราะเขาต้องไปอยู่กับชาวบ้าน นายอำเภอ ปลัดอำเภอ อาจารย์เสน่ห์ (จามริก) บอกว่า คุณต้องเรียนมากกว่านั้นนะ ไม่ใช่ผลิตคนเพื่อเข้าภาคการปกครอง ไม่ใช่ผลิตคนเพื่อเข้ากระทรวงการต่างประเทศ แต่รัฐศาสตร์ผลิตคนให้คิด เพื่อที่จะได้กรอบทางปัญญา หรือ Intellectual Framework
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างในการศึกษาเรื่องพวกนี้ก็คือภาษาอังกฤษ มีคนบอกว่า ดร.สุรินทร์ เป็นคนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างที่ใจคิด ทำไมเด็กที่โตมาจากเพลงกล่อมของแม่ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ จึงสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว
เพราะ….ผมอ่านอัลกุรอานตั้งแต่เด็ก อักขระในอัลกุรอานมีทุกเสียงในภาษาอังกฤษ จึงได้สำเนียงมาตั้งแต่ตอนนั้น
ตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ได้เรียน Public Speaking วิชานี้แข่งได้ที่หนึ่งชนะฝรั่ง
อีกส่วนหนึ่ง คือการเรียนทางนามธรรมที่ต้องอ่านหนังสือมาก ทำให้ภาษาอังกฤษดี ไม่เหมือนกับการจำสูตรทางคณิตศาสตร์
ส่วนถ้ามีคนบอกว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ของเรา นั่นเป็นข้อแก้ตัว ไม่ใช่คำอธิบาย
เสียวิญญาณให้ซาตาน!
ชีวิตที่ต้องเผชิญในต่ างประเทศของผม เริ่มต้นด้วยการสอบได้ทุนแลกเปลี่ยน AFS
คุณตาซึ่งเป็นคนเลี้ยงดูผมมา ชอบพูดเสมอว่า เราเลี้ยงลูกจระเข้อยู่ พ่อแม่เค้าไม่อยู่ ถ้าพลาด เรารับผิดชอบ แต่ตาก็ตัดสินใจส่งให้เข้าเรียนมัธยม ก็สอบชิงทุนไปอเมริกาได้
ก่อนปล่อยให้ไปก็เรียกประชุมที่ ปรึกษาคนรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นโต๊ะครูบ้าง โต๊ะอิหม่ามบ้าง มานั่งคุยกันว่า จะให้เด็กคนนี้ไปอเมริกามั้ย ครึ่งหนึ่งบอกว่า อย่าให้ไป เพราะคิดว่าจะเสียวิญญาณนี้ไปให้ ซาตานในอเมริกาแน่
อีกครึ่งหนึ่งบอกว่า ชีวิตเค้าจะไม่เหมือนเรานะ โลกมันกำลังเปลี่ยนไป ให้เขาไปเถอะ ครึ่งที่ไม่ให้ไปบอกว่า รับรองได้มั้ยว่าจะไม่สูญเสียไปให้ซาตาน อีกฝ่ายที่อยากให้ ไปก็บอกว่า แล้วรับรองได้มั้ยว่า ถ้าไปแล้วต้องสูญเสียให้ ซาตานแน่
คุณตาก็เลยบอกว่า “ฉันเลี้ยงมากับมือ อยากเสี่ยง” เลยให้ไป
…แล้วชีวิตผมก็เปลี่ยนไปตั้งแต่นั้น
ปัญหาชายแดนใต้ โครงสร้างยังเหมือนเดิม
ตอนเรียนปริญญาโท ผมทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ เพราะผมเห็นว่า โครงสร้างปัญหามันยังเหมือนเดิม คือคนกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษเป็นอัตลักษณ์ของเค้าเอง ที่ยึดมั่นถือมั่น ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ค่านิยม
สมัยก่อนเราเรียกพี่น้องส่วนนี้ ว่า เป็นคนไทยนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นการเลี่ยงความจริง วิทยานิพนธ์ของผมเป็นเอกสารด้านวิชาการชิ้นแรกที่เรียกเขาว่า “มาเลย์-มุสลิมในประเทศไทย” ต้องยอมรับว่า เค้ามีชาติพันธุ์นั้น
ตอนที่ผมเป็นสวนหนึ่งอยู่ ในคณะกรรมาธิการสมานฉันท์ คุณอานันท์ (ปันยารชุน) เป็นประธาน ประชุมครั้งแรก คุณอานันท์บอกว่า “ผมเนี่ย พ่อมอญ แม่เจ๊ก ใครบ้างห้าสิบกว่าคนที่นั่งอยู่ ในห้องนี้เป็นไทยแท้ร้อยเปอร์ เซ็นต์ไม่มีอะไรปน” หมอประเวศหลบ อาจารย์ชัยวัฒน์ หน้าแขกอินเดียหลบ พระไพศาลวิสาโล หลบ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมหลบ ทุกคนหลบหมด (หัวเราะ) เพราะคุณอานันท์บอก
“พวกเราทุกคน ไม่เกินสี่ชั่วอายุคนนับถอยหลัง มาจากที่อื่นทั้งนั้น แล้วเราคือใครในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไปกำหนดวิถีชีวิตให้ เค้า…”
เพราะฉะนั้นโครงสร้างของปั ญหาภาคใต้ยังเหมือนเดิม คือเรื่องของอัตลักษณ์ มันเป็นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ที่เขาต้องรักษาไว้ ถ้าเราทำตามรัฐธรรมนูญ คือกระจายอำนาจ ยอมรับในวัฒนธรรมท้องถิ่น ก็จะอยู่กันได้ ไม่มีปัญหา
ผมก็เหมือนกัน ถ้าถูกเอาศาสนามากั้น ก็คงไม่มีโอกาสได้เป็น ส.ส. ได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือเลขาธิการอาเซียน เพราะว่า เราแยกสิ่งเหล่านั้น แต่พอเราเปิด และยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเลิศในประเทศไทยมันจะออกมาเอง
เรียนจบปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ดแล้วมาสอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์พักหนึ่ง พ่อแม่ก็ทำใจได้แล้วตอนนั้นว่า โอเค มันไม่อยากเป็นครูปอเนาะ อยู่ ๆ วันหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออกข่าวว่าผมลงผู้แทนเขต 1นครศรีธรรมราช พ่อแม่รู้เข้าอยู่ไม่ถูก เรียกกลับไป โดนฉะ “สอนอยู่ดี ๆ ทำไมต้องไปเป็นผู้แทน”
อยากให้ผมเปลี่ยนใจ แต่ทางพรรคเขาแถลงไปก่อนแล้ว ฉะนั้นหลายอย่างในชีวิตมันก็เป็นเรื่องอุบัติเหตุ ผมก็บอกกับแม่ว่า ถ้าผม say noตอนนี้ ผมก็เสีย พรรคก็เสีย ผู้ใหญ่ในพรรคก็เสีย แต่อันที่จริงใจก็ไปแล้วนะ (หัวเราะ) คนแบบผมมันเป็นพวกอยู่นิ่งไม่ ได้ ต้องแอ็คทีฟ ก็เลยเข้าสู่วงการเมือง แล้วหลังจากนั้นทุกอย่างก็ผิดเพี้ยนหมด
จนกระทั่งได้มาเป็นเลขาธิ การอาเซียนเมื่อต้นปี 2551
ทุกคนทำได้ ขอให้เอาจริง
คนไทยเชื่อในเรื่องของชะตา เชื่อก็เชื่อเถอะ ไม่มีปัญหา แต่บางครั้งการเชื่อในโชคชะตา คือการยอมแพ้ตั้งแต่ต้นเหมือนกัน ผมคิดว่าชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตที่เกิดออกมาแล้วต้องดิ้นรน แต่ละคน ต้องต่อสู้ ต้องหาโอกาส คนที่ไม่พร้อม เมื่อโอกาสมาเราจะฉวยไม่ได้
เหมือนกับน้ำที่ไหลมาหน้าบ้าน ถ้าเราไม่สร้างเขื่อน สร้างทำนบ มันก็ไหลไปเรื่อย ๆ โอกาสจะมาสู่คนที่พร้อมอยู่ ตลอดเวลา
พุทธะ แปลว่าตื่นอยู่เสมอ เมื่อเราตื่นแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างเราจะเห็น โอกาสที่ผ่านมาเราจะจับฉวยได้
เรื่องที่ได้เล่าไปในหนังสือ เชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับคนอื่น ขออย่าเริ่มต้นด้วยการคิดว่า คนอื่นทำไม่ได้หรอก สุรินทร์เท่านั้นที่ทำได้ อยากให้ลบความคิดนี้ไปจากพจนานุกรมความคิดของคนไทย ทุกคนทำได้ ขอให้เอาจริงก็แล้วกัน
ศาสนาอิสลามบอกว่า ถ้าเราช่วยเหลือตัวเราเองก่อน พระเจ้าจะช่วยเราอีกครั้งหนึ่งให้สำเร็จ พระเจ้าจะไม่เปลี่ ยนแปลงสถานภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าเขาจะปรับเปลี่ยนวิถี ความคิด ทัศนคติ ของเขาก่อน นี่ก็เหมือนกัน อย่ายกทุกสิ่งทุกอย่างให้กับชะตา เหมือนที่เช็คสเปียร์เขียนไว้
“โชคชะตาไม่ได้อยู่กับดวงดาว แต่มันอยู่ที่ตัวคุณ”