อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ตอบอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความถึงดรสุรินทร์ พิศสุวรรณว่า
ผมเรียกคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ว่า ‘อาจารย์’ ทุกครั้งที่ได้เจอกัน เพราะท่านเคยเป็นอาจารย์ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ท่านเคยศึกษาอยู่สองปีก่อนจะไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกา
อาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นคนธรรมศาสตร์ ที่ชาวธรรมศาสตร์ภาคภูมิใจเสมอมา ทั้งด้วยเกียรติคุณ ความสามารถ และคุณงามความดี ที่เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ทั้งในประเทศและนานาชาติ จนสภามหาวิทยาลัยได้มีมติแต่งตั้งอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น ‘ธรรมศาสตราภิชาน’ ในปี 2556 ซึ่งน้อยคนนักจะได้รับตำแหน่งนี้
สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือ ทุกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชิญอาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ มาปาฐกถา หรืออภิปราย เท่าที่ผมได้ประสบกับตัวเอง และได้ยินได้ฟังมา ถ้าอาจารย์ไม่ติดภารกิจสำคัญที่มีกำหนดนัดมาก่อนแล้ว อาจารย์ไม่เคยปฏิเสธเลยแม้แต่ครั้งเดียว และทุกครั้งทั้งชาวธรรมศาสตร์ และสาธารณชนก็ได้ประโยชน์จากสติปัญญาอันลุ่มลึกและประสบการณ์ในระดับนานาชาติของอาจารย์ทุกครั้งไป
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาจารย์สุรินทร์มาปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3 ครั้ง และผมมีโอกาสได้ไปต้อนรับและไปนั่งฟังอาจารย์จนจบทั้ง 3 ครั้ง อาจารย์สุรินทร์เป็นนักพูดชั้นเลิศที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมี ลีลาการใช้ภาษา จังหวะการพูด โดยเฉพาะการพูดเรื่องยากๆ หรือวิจารณ์ผู้มีอำนาจอย่างสุภาพ นุ่มนวล เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน แต่เร้าใจ และทรงพลัง โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครจะสามารถเอาอย่างได้คือ การยิ้มขณะพูด ที่ไม่ใช่แค่ปาก หรือแววตา แต่คือการยิ้มทั้งใบหน้า ผมไม่เคยเห็นใครว่าคนด้วยเนื้อหาแบบหนักๆ แต่สุภาพ ด้วยรอยยิ้มทั้งใบหน้าเช่นนี้มาก่อน
ในการปาฐกถา 3 ครั้งสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ครั้งที่ประทับใจผมที่สุดคือในเดือนกันยายน 2559 ในงานมหกรรมจิตอาสา ซึ่งจัดที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ท่ามกลางคนฟังกว่า 400 คนทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ อาจารย์ปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษ ในเรื่องความหมายของจิตอาสา และการเป็นพลเมือง ที่สร้างความประทับใจที่สุดให้กับทุกคน โดยเรียกเสียงปรบมือได้เป็นระยะตั้งแต่ต้นจนจบ
ทำไมผมจึงประทับใจการปาฐกถาครั้งนั้นที่สุด? นี่คือถ้อยคำบางส่วนในช่วงที่สำคัญที่สุด ที่ผมขอถอดความจากภาษาอังกฤษจากความทรงจำครับ
“.. พวกเราทั้งหลายคือพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศ ประเทศและโลกของเราต้องการพลเมืองดังเช่นท่านทั้งหลายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยมือของพวกเรา” อาจารย์สุรินทร์กล่าวอย่างทรงพลัง ด้วยรอยยิ้มทั้งใบหน้าจนตาหยีอันเป็นเอกลักษณ์
“สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ เรามีประวัติศาสตร์ที่พลเมืองเคยมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองมาหลายต่อหลายครั้ง” อาจารย์สุรินทร์กล่าวต่อ
“ท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ผมเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องให้พลเมืองได้ปกครองตนเอง และแก้ปัญหากันเองอีกครั้ง ..” อาจารย์พูดพร้อมกับผายมือไปด้านหลัง ซึ่งเป็นสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“อย่าให้พลเมืองเจ้าของประเทศต้องมาทวง!
อย่าให้สนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องแน่นไปด้วยผู้คนนับแสนๆ คนอีก!”
ผมไม่ทราบว่าในคราวนั้นการปาฐกถาของอาจารย์จะได้ยินไปถึงผู้มีอำนาจหรือไม่ ผมจึงขอแสดงความคารวะด้วยการนำสารนั้นมาลงในที่นี้ ด้วยหวังว่าเจตนา ความปรารถนาดีต่อบ้านเมืองของอาจารย์ที่ไดัแสดงไว้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองในขณะนึ้
ประเทศไทยได้สูญเสียนักการต่างประเทศ และนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่สุดคนหนึ่งไปแล้ว .. เราจะไม่ได้ฟังถ้อยคำฉลาดๆ จาก อาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณ อีกแล้ว เราจะไม่ได้เห็นรอยยิ้มทั้งใบหน้าของอาจารย์อีกต่อไป แต่อาจารย์จะเป็นแบบอย่าง และทุกสิ่งอย่างจะอยู่ในใจของพวกเราตลอดไป
ด้วยความคารวะและอาลัยอย่างสุดซึ้ง