ฮิวแมนไรท์วอทช์ เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย สั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการกองทัพของอินโดนีเซียยุติการ “ตรวจพรหมจรรย์” ในผู้หญิงที่สมัครทำงานกับกองทัพและตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตามข้อผูกพันด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ การยุติการตรวจดังกล่าวยังเป็นการทำตามเป้าหมายของวันสากลเพื่อขจัดความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง (International Day for the Elimination of Violence against Women) ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ด้วย
ทหารและตำรวจอาวุโสซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับนโยบาย “ตรวจพรหมจรรย์” บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า หน่วยงานความมั่นคงเหล่านี้ยังคงบังคับใช้ “การตรวจสอบ” ที่เลือกปฏิบัติและโหดร้ายต่อไป “ด้วยเหตุผลด้านศีลธรรมและสุขภาพจิต” โดยทางการถือว่า การ “ตรวจพรหมจรรย์” เป็นการตรวจสอบ “ด้านจิตใจ”
- คุณแม่ชาวอินโดฯ รวมพลังเปิดโปงกลุ่มล่วงละเมิดเด็กออนไลน์
- ศาลอิสลามอินโดฯ สั่งโบยชายรักเพศเดียวกัน 85 ที
- ตำรวจอินโดฯ บุกซาวน่าเกย์ในจาการ์ตา
ด้านนิชา วาเรีย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสิทธิสตรีของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงเพิกเฉยต่อ ‘การตรวจพรหมจรรย์’ ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดของกองกำลังความมั่นคง สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความตั้งใจทางการเมืองเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงอินโดนีเซียอย่างน่าตกใจ
“การทดสอบเหล่านี้เป็นการลดทอนคุณค่าและเลือกปฏิบัติ ส่งผลกระทบต่อความเท่าเทียมของโอกาสในการได้งานในตำแหน่งสำคัญ” นิชา กล่าว
นอกจากนี้ฮิวแมนไรท์วอทช์ ยังระบุด้วยว่า การตรวจพรหมจรรย์เป็นรูปแบบของความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศอย่างหนึ่ง และการปฏิบัตินี้ไม่ได้รับการเชื่อถืออย่างกว้างขวาง โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกแนวปฏิบัติที่ระบุว่า “ไม่ให้การรับรองการตรวจพรหมจรรย์ (หรือ ‘การตรวจสอบโดยใช้ 2 นิ้ว’) เพราะ มันไม่มีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์”
แพทย์ของกองทัพอินโดนีเซีย บอกกับ ฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ผู้นำของกองทัพอินโดนีเซียรับรู้ถึงข้อโต้แย้งในการ “ตรวจพรหมจรรย์” เป็นอย่างดี แต่ไม่ยอมยกเลิก แพทย์คนดังกล่าว ระบุด้วยว่า การยุติการตรวจสอบจำเป็นต้องมีคำสั่งโดยตรงและชัดเจนจาก พล.อ.กาตอต นูร์มานต์โย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโดนีเซีย
การตรวจสอบพรหมจรรย์ เป็นการ “การตรวจสอบโดยใช้ 2 นิ้ว” เพื่อดูว่าเยื่อพรหมจารีของผู้สมัครหญิงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่การตรวจเช่นนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือในทางวิทยาศาสตร์ ผู้หญิงที่ผ่านการตรวจเปิดเผยกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า รู้สึกเจ็บ อาย และเป็นบาดแผลในใจ
เจ้าหน้าที่กองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายเปิดเผยกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า กองกำลังความมั่นคงทั้งสองแห่งกำลังหาความชอบธรรมให้กับการตรวจดังกล่าวว่า เป็นวิธีในการใช้ตรวจการตั้งครรภ์ในผู้สมัครหญิงได้ โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า “การตรวจสอบโดยใช้ 2 นิ้ว” ไม่สามารถระบุสถานะการตั้งครรภ์ได้ และการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานบนพื้นฐานของการตั้งครรภ์ ยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งขัดต่อข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศของอินโดนีเซีย
ทุกหน่วยงานของกองทัพอินโดนีเซีย ทั้งกองทัพอากาศ กองทัพบก และกองทัพเรือ ได้ใช้ “การตรวจพรหมจรรย์” มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว และในบางกรณีก็ยังกำหนดให้ตรวจคู่หมั้นของเจ้าหน้าที่กองทัพด้วย โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 พล.อ.โมเอลโดโก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอินโดนีเซียในขณะนั้น ตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ “การตรวจพรหมจรรย์” ว่า “แล้วมีปัญหาอะไรหรือเปล่า? มันเป็นเรื่องดี ทำไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ด้วย”
นานาชาติถือว่า “การตรวจพรหมจรรย์” ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะที่ระบุว่า “บุคคลจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้ามิได้” ซึ่งอยู่ในข้อ 7 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และข้อ 16 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ซึ่งอินโดนีเซียได้ให้สัตยาบันไว้ทั้งสองฉบับ
Cr.BBCไทย