“ฟารีดา สุไลมาน” ผู้หญิง 2 วัฒนธรรม “พลังหญิง พลังเปลี่ยนโลก”

รวมทั้งการทำหน้าที่แม่และหน้าที่ของภรรยา

“ฟารีดา สุไลมาน” เกิดและเติบโตที่ อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ในพื้นที่มีมุสลิมเพียงน้อยนิด แต่เธอสามารถครองใจชาวบ้านได้รับการเลือกตั้งในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นที่ใกล้ชิดชาวบ้าน จนถึงระดับชาติ

“ฟารีดา” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปริญญาตรี และปริญญาโทและปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เธอก้าวลงสู่การเมืองก่อนมีระบบการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นประธานสุขาภิบาลระแงง ก่อนจะก้าวเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลระแงง จังหวัดสุรินทร์ และก้าวเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปี 2553

ในการเป็น ส.ส. ฟารีดาเล่าว่า จะต้องต่อสู้กับความขัดแย้งภายในระหว่างการเป็นมุสลิมที่ต้องการปฏิบัติตามหลักการอิสลามแต่อีกด้านหนึ่งจะต้องทำตัวเป็นตัวแทนของคนอีสาน

“ตอนเข้ามาเป็นส.ส.มีความขัดแย้งในใจมาก เพราะเมื่อเราเข้ามาเป็นส.ส.แม้จะมาจากอีสานแต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นมุสลิม สังคมมุสลิมก็ฝากความหวังเอาไว้ ตอนเข้าสภาก็อยากจะสวมฮิญาบเข้าสภา แต่อีกด้านหนึ่งก็มีปัญหาว่า คนอีสานก็บอกว่า เราเป็นตัวแทนของพวกเขา เป็นความขัดแย้งในใจที่อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องการปฏิบัติตามหลักศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งคนอีสานไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยน แปลงให้เป็นตัวแทนของพวกเขาเหมือนที่เคยเป็นมา ก็ปรึกษากับ ส.ส.มุสลิมหญิงหลายคน สุดท้ายก็ผ่านไปได้” ฟารีดา กล่าว ในระหว่างการแถลงเปิดตัวหนังสือ ผู้หญิง 2 วัฒนธรรม บนเส้นทางชีวิตการเมือง

ผู้หญิง 2 วัฒนธรรม ไม่เพียงเป็นหนังสือที่สะท้อนเส้นทางชีวิตของ “ฟารีดา สุไลมาน” แต่เปรียบเหมือนเส้นทางชีวิตของมุสลิมในประเทศไทย ที่อีกด้านหนึ่งจะต้องเชื่อตามหลักการอิสลาม ปฏิบัติตัวตามหลักศาสนา แต่อีกด้านหนี่งจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีความแตกต่างกันในความเชื่อและหลักปฏิบัติ

“การเกิดและเติบโตในพื้นที่ภาคอีสานทำให้มาเล่นการเมือง เพราะการเมืองก็มีความสำคัญในพื้นที่ภาคอีสาน แต่สิ่งที่สำนึกอยู่เสมอในคำสอนของพ่อคือ จะอยู่อย่างไรให้มีเพื่อนบ้านเป็นรั้ว จะอยู่อย่างไรให้มีความเอื้ออาทรต่อกัน พ่อบอกว่า พวกเราทุกคนเป็นพี่น้องกัน เป็นลูกหลานอาดัม ทำให้การอยู่ที่อีสานไม่มีความขัดแย้งกัน จึงอยากถ่ายทอดให้คนที่ไม่ได้อยู่ในบริบทของภาคอีสานได้เข้าใจว่า เป็นอย่างไร และอยากให้คนอีสานเข้าใจในพี่น้องภาคใต้ว่าเป็นอย่างไร ในลงพื้นที่ปกติเหมือนนักการเมืองทั่วไป ชาวบ้านเองก็รับรู้ และไม่ได้มองว่าแตกต่าง ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี สิ่งที่คนอีสานให้การยอมรับ คือ ความเอื้ออาทร และความจริงใจ” ฟารีดา กล่าว

ชีวิตมุสลิมในภาคอีสานเป็นมุสลิมที่มีความโดดเดี่ยวในผืนดินอันกว้างใหญ่ มีมุสลิมเพียงเล็กน้อย บางจังหวัดมีมุสลิมเพียงครอบครัวเดียว แต่ในความโดดเดี่ยวนั้น ได้รับการยอมรับในคุณสมบัติพิเศษที่อยู่ในตัวตน

“พวกเรารู้สึกโดดเดี่ยว และว้าเหว่ เราต้องการเรียนรู้อิสลาม แต่ทำได้ยากมาก ครูมาสอนไม่นานก็ไป มาสอนเพียงเล็กน้อยก็ไป แต่สิ่งที่พวกเรามีเต็มหัวใจ คือ ความรักในอิสลามเป็นที่สุด” ฟารีดา กล่าว

เส้นทางชีวิตของ “ฟารีดา สุไลมาน” ไม่เพียง เป็นมุสสลิมอีสานที่ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมือง แต่ด้วยเส้นทางนี้ เธอได้พบรักและแต่งงานกับมุข สุไลมาน นักการเมืองจากจังหวัดปัตตานี ความเป็นคนอีสานแม้จะเป็นมุสลิมที่รู้น้อยมากเกี่ยวกับมุสลิมในภาคใต้ วัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ เป็นสิ่งที่เธอต้องเรียนรู้ ในฐานะสะใภ้ปัตตานี

“ในความเป็นมุสลิม เราคิดว่าหลายๆ อย่างคงเหมือนกัน แต่เมื่อลงไปสัมผัสในพื้นที่ จะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง คนใน 3 จังหวัด มีประเพณี วัฒนธรรม มีความรู้สึกอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน ไปปัตตานีก็ต้องเรียนรู้พี่น้องที่นั่น” เธอกล่าว

นั่นหมายความว่า ในด้านหนึ่งเธอเป็นผู้สะท้อนวัฒนธรรม ประเพณีของพี่น้องอีสานไปยังพี่น้องทั่วประเทศ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เป็นผู้สะท้อนวัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องภาคใต้ หรือความเชื่อแห่งอิสลาม บอกกล่าวให้คนอีสานได้รับทราบเพื่อเป็นการรับรู้และความเข้าใจกันและกัน

ความยากลำบากของนักการเมืองสตรีอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเป็นแม่และภรรยาที่มีหน้าที่ดูแลครอบครัว ซึ่งครอบครัวสุไลมานนั้น ตอนอยู่ในตำหน่งส.ส.ค่อนข้างจะมีปัญหา เพราะลูกอยู่สุรินทร์ ฟารีดามาทำงานกรุงเทพฯ ส่วนคุณมุข สุไลมาน ต้องลงพื้นที่ปัตตานี

ซึ่งเมื่อมาปฏิบัติหน้าที่ที่สภา เธอต้องฝากลูกไว้กับครอบครัวที่สุรินทร์ แต่ก็มีเหตุการณ์ให้สะเทือน ใจของความเป็นแม่

“มีครั้งหนึ่งลูกประสบอุบัติเหตุที่ตาต้องผ่าตัด ตอนนั้นใกล้จะเลือกตั้งต้องลงพื้นที่หาเสียงหนัก 7 วันสุดท้ายพาลูกมาผ่าตัดที่ศิริราช ผ่าตัดเรียบร้อยครั้งหนึ่งแล้ว แต่หมอก็บอกว่า จะต้องผ่า เฝ้าอยู่ที่โรงพยาบาลไม่กลับหาเสียง ทีมงานก็โทรมาตาม จนคุณหมอผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งมาจากอเมริกา ก็บอกว่า จะดูแลให้กลับไปหาเสียง ก็ตัดสินใจลงพื้นที่ เพื่อปราศรัย ครั้งสุดท้าย ก่อนขึ้นเวทีก็ใจชื้นขึ้นมาเมื่อหมอโทรมาบอกว่าไม่ต้องผ่าตัดแล้ว แผลสมานดีแล้ว” ฟารีดาสะท้อนถึงการต้องดูแลครอบครัว กับการทำงานทางการเมือง

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ยังฝังอยู่ในใจอดีต ส.ส. ฟารีดา เหตุเกิดเมื่อครั้งที่มีการต่อสู้ระหว่าง เสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ตอนนั้นเธอเป็นส.ส. พรรคไทยรักไทย และได้กลายเป็นข่าวไปทั่วประเทศ เมื่อกัปตันการบินไทยให้ลงจากเครื่องบิน บอกว่าเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา

“เหตุการณ์นี้กระทบไปถึงลูกเมื่อเขาทราบเรื่องก็ถามว่าทำไมต้องทำกับแม่อย่างนี้ และจากนั้นเขาก็ไปเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงโดยที่ตัวเองไม่รู้ ไปกับคนขับรถ และบอกว่า โตขึ้นจะเล่นการเมือง” ฟารีดากล่าว

ชีวิตของฟารีดา สุไลมาน ที่สะท้อนผ่านหนังสือ ผู้หญิง 2 วัฒนธรรม บนเส้นทางชีวิตการเมือง แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ฝ่าฟันของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการสะท้อนปัญหา นำปัญหาของพี่น้องประขาชนในภาคอีสาน และพี่น้องในภาคใต้ เป็นผ้หญิงที่มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ที่สำคัญมีความเข้าอกเข้าใจกัน ไร้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน

นับเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้หญิงสองวัฒนธรรม บนเส้นทางชีวิตการเมือง ของ “ฟารีดา สุไลมาน” ติดตามเรื่องราวของเธอได้ในหนังสือเล่มนี้

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559