เป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับจากทั่วประเทศ กับโครงการก้าวคนละก้าว วิ่ง 2,150 กิโลเมตร จากเบตง-แม่สาย หาทุนเพื่อโรงพยาบาล 11 แห่ง ของนักร้องดัง”ตูน บอดี้สแลม” ได้รับการยอมรับให้เป็นปรากฏการณ์ที่มีคนเข้าร่วมและสนใจมากที่สุด เป็นปรากฏการณ์แห่งปีและอีกหลายปี
“ตูน บอดี้สแลม” หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย เกิดเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนสุพรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 115 (OSK 115) ชื่อรุ่น รสช. และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหลานของยืนยัน โอภากุล หรือแอ๊ด คาราบาว และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ตั๊ก บงกช คงมาลัยด้วย
ตูน เป็นเด็กที่ขยัน และเรียนเก่ง จึงได้มีโอกาสเรียนในสถาบันที่ดี และเมื่อจบการศึกษาเคยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับ(สจ๊วต)บนเครื่องบินสายการบินกัมพูชาแอร์ไลน์ ได้ประมาณ 2 ปี และส่วนตัวเป็นคนชอบเล่นกีฬา ลงขันกีฬาให้กับโรงเรียนและจังหวัดสุพรรณบุรีหลายรายการ อาทิ การแข่งขันรายการเทเบิลเทนนิสชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554 และ 2555และได้จับคู่กับอดีตนักกีฬาทีมชาติไทย อย่างสุริยะ พ่วงสมบัติ ลงแข่งประเภทชายคู่ด้วย รวมทั้ง ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเข้าร่วมทีมเทเบิลเทนนิสของจังหวัดเจ้าภาพ และเป็นตัวแทนนักกีฬากล่าวคำปฏิญาณตนในพิธีเปิด ชื่นชอบในการเล่นฟุตบอล, ปั่นจักรยาน รวมถึงยังเคยลงแข่งขันไตรกีฬา
การเข้าสู่วงการเพลง ตูน ได้เข้าประกวดเวทีฮอตเวฟมิวสิคอวอร์ดครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2539 และเป็นสมาชิกวง ละอ่อน และได้เซ็นสัญญากับทางค่าย มิวสิค บั๊กส์ ก่อนที่สมาชิกบางส่วนในวงได้ไปศึกษาเรียนต่อและในเวลาต่อมานี้ ได้ก่อตั้งวงบอดี้สแลม ร่วมกับ ธนดล ช้างเสวก , รัฐพล พรรณเชษฐ์ มีเพลงที่โด่งดัง อาทิ แสงสุดท้าย เรือเล็กควรออกจากฝั่ง เป็นต้น
ด้านชีวิตส่วนตัว ตูน ได้คบหาดูใจกับดีเจสาวและนักแสดงสาว ก้อย รัชวิน วงศ์วิริยะ ที่ได้ร่วมวิ่ง อยู่เคียงข้าง”ตูน” ไม่หวั่นแม้วันแดดมาก ที่สาวๆส่วนใหญ่หวั่นกลัว จนได้รับการชื่นชม เป็น “ราชินีบนถนน”
ตูน เป็นคนที่ทำอะไรทำจริงจัง ในปี พ.ศ. 2559 เมื่อโรงพยาบาลติดต่อขอให้ร่วมโครงการ “ก้าวคนละก้าว เพื่อโรงพยาบาลบางสะพาน” โดยให้ดารา นักร้องผลัดกันวิ่ง แต่ ตูน ขออาสาวิ่งเพียงคนเดียว วิ่งจากกรุงเทพมหารนครสู่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1-10 ธันวาคม พ.ศ. 2559 วันละ 40 กิโลเมตร รวมระยะทาง 400 กิโลเมตร ได้เงินบริจาคมอบให้โรงพยาบาลบางสะพานในการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ จำนวน 86 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 70 กว่าล้านบาท ในคราวนี้ ตูน จึงคิดใหญ่ขึ้นเพื่อหาทุนให้โรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มจากอ.เบตง จ.ยะลา-อ.แม่สาย จ.เชียงราย เหนือสุดของประเทศไทย
โครงการของเขา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ด้านบวกและด้านลบ ในด้านลบ มีคนมองว่า แม้ตูน จะวิ่งได้เงินมากเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโรงพยาบาลประสบปัญหาได้ หรือกระแสว่า รัฐบาลนำเงินไปซื้ออาวุธ แต่ตูนต้องมาวิ่งเพื่อช่วยโรงพยาบาล เป็นต้น รวมทั้ง เสียงท้วงติง กรณีไปวิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงอันตรายจากการก่อความไม่สงบ
ตูน ไม่ได้สวนใจกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย “ผมไม่ได้อ่านคำวิจารณ์” ตูน กล่าว แต่มุ่งหน้าวิ่งตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแข็งขัน ไม่ย่อท้อ ทำให้ตลอดเส้นทาง เขาได้รับการต้อนรับอย่าง “หนาแน่น” ในทุกพื้นที่ๆวิ่งผ่าน เริ่มตั้งแต่ เบตง ยะลา ปัตตานี พื้นที่ของพี่่น้องมุสลิม ได้รับการตอบรับสูง พี่น้องมุสลิมทุกวัยออกมาต้อนรับตูนในทุกพื้นที่ แม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ที่กำเงิน 20 บาทที่อาจจะใช้ในหลายวันมาให้ “ตูน” ท่ามกลางรอยยิ้ม จนมีเสียงพูดว่า ตูน ทำให้เกิดรอยยิ้มใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ไม่เคยเห็นในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้มุมมองต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ “ตูน” และก้อยรัชวิน เปลี่ยนไป เขาบอกว่า ทุกพื้นที่เป็นสีชมพู วึ่งส่งผลให้มุมมองของคนนอกพื้นที่ๆมอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย สังคมมองว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความดีงาม และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มียอดบริจาคในช่วงที่ตูน วิ่งผ่าน เบตง ธารโต บันนังสตา และยะลา หนองจิก โคกโพธิ์ ปัตตานี เทพา จะนะ สงขลา ระยะเวลา 8 วัน 300 กิโลเมตรได้เงินบริจาค 96 ล้านบาท
ความมุ่งมั่น อย่างแม่ย่อท้อของ “ตูน” ได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้นๆ ขจรขยายไปกวง้างไกลถึงต่างประเทศ จนกลบเสียงวิจารณ์แทบหมดสิ้น ทุกคนยอมรับในการเสียสละเพื่อส่วนรวมของ”ตูน”ยากที่่จะหาใครเทียบเท่า และเห็นว่า การหารายได้ช่วยโรงพยาบาลเป็นผลพวงหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่ “ตูน”ทำ คือ ทำให้คนไทย ตื่นตัวมาออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง โดยไม่ต้องพึ่งหมอ พึ่งโรงพยาบาล
ความทุ่มเทของ “ตูน” ได้ถูกยกให้เขาเป็น “ฮีโร่” แต่ตูน ได้พูดอย่างถ่อมตนว่า คนที่่เป็นฮีโร่อย่างแท้จริง คือ หมอและพยายาลที่ได้วิ่งเพื่อคนไข้ตลอดชีวิต
ในวันนี้ “ตูน” จึงเป็นปรากฏการณ์ “ตูน” ผู้สร้างตำนานความเสียสละ ที่จะถูก พูดถึงไปอีกนานแสนนาน
จากนิตยสาร Mtoday ฉบับเดือนพฤษจิกายน 2560