ยุติปัญหายืดเยื้อมาหลายปี เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาการปลด “อิหม่ามเฟาซัน หลังปูเต๊ะ” ของคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามกฎหมาย แถลงยืนยันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและหลักการศาสนา “อิหม่าม” ลั่นขอพิสูจน์ตัวเอง
เมื่อวันที่ 22 เมษายน หลังคำพิพากษาของศาลฎีกา คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยนายวิศรุต เลาะวิถี รักษาการรองประธาน นายสมัย เจริญช่าง และนายอะหะหมัด ขามเทศทอง กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าว กรณีศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่นายพัฒนา หลังปูเต๊ะ อดีตอิหม่ามมัสยิดต้นสนฟ้องให้ศาลถอดถอนคำสั่งของกอ.กทม.ออกจากตำแหน่งและเรียกค่าเสียหาย 40 ล้าน
กรณีการปลด เกิดจาการฟ้องร้องของนายมนูญพันธ์ รัตนเจริญ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ประมาณปี 2553 ระบุว่า อิหม่ามมัสยิดต้นสนขณะนั้น มีพฤติการณ์ที่นำมาซึ่งความเสียหายต่อมัสยิด บกพร่องต่อหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและประโยชน์ของมัสยิด ซึ่งกอ.กทม.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาไต่สวนต่อมาได้มีมติปลดนายพัฒนา ออกจากตำแหน่งอิหม่าม นายเฟาซันได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกลางฯ ซึ่งกอท. มีมติยืนตามมติกอ.กทม.
นายพัฒนาจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งธนบุรี ฟ้องกอ.กทม. 21 คนและฟ้องกรรมการกลางฯ 18 คน รวม 40 คน เรียกค่าเสียหาย 40 ล้านบาท โดยระบุว่า การถอดถอนออกจากตำแหน่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกลั่นแกล้งทำให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากบุคคลทั่วไป เป็นการละเมิดโดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายพัฒนาชนะคดี แต่ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาและศาลฎีกาได้ยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เห็นว่า มติของกอ.กทม.และกอท.ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบและหลักการศาสนาในการแถลงข่าวของทั้ง 3 คน ใช้เวลา ประมาณ 2 ชั่วโมง จากเวลาประมาณ 14.16 น. ถึงเวลา 16.00 น. โดยนายสมัยได้ย้อนอดีตความเป็นมาของมัสยิดต้นสน เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งบอกว่าต้นตระกูลเป็นคนต้นสน ทวดเคยเป็นสัปบุรุษมัสยิดต้นสน
“ทวดผมนายซอและ เจริญช่าง เป็นสัปบุรุษมัสยิดต้นสน แต่ได้ย้ายไปหนองจอก ในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ที่มาพูดไม่ได้เป็นการกล่าวอ้าง เพื่อให้ได้รับประโยชน์และผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น” นายสมัย กล่าว
นายสมัยได้เล่าประวัติการออกกฎหมายเกี่ยวกับอิสลามและมัสยิด เพื่อชี้ให้เห็นว่า มัสยิดมีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด การถอดถอนอิหม่ามออกจากตำแหน่งจึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และให้โอกาสทั้ง 2 ฝ่ายในการชี้แจงหลักฐาน
“มัสยิดต้นสนมีปัญหา เนื่องจากมีกรรมการไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด จากการที่คอเต็บ บิหล่านเสียชีวิต ตามกฎหมายจะต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 9 คน และไม่เกิน 15 คน ซึ่งคอเต็บ บิหล่าน เป็นส่วนประกอบของกรรมการตามตำแหน่ง ได้มีความพยายามให้มีการเลือกตั้งกรรมการ แต่มีการ
โต้แย้งเรื่องรายชื่อสัปบุรุษ ต่อมาได้มีร้องเรียน จึงได้มีการพิจารณาการร้องเรียน โดยกอ.กทม. ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย”
“ตอนที่มีการอุทธรณ์ ตอนนั้นผมเป็นรองประธานกอท.คนที่ 1 นายพัฒนา ยื่นภายหลังจากที่กฎหมายกำหนด แต่ผมบอกให้รับไว้ และในการเพิ่มพยาน ผมก็บอกให้เพิ่มพยานได้ ในวันลงมติ ผมได้ออกนอกห้องประชุม ไม่ทราบผลการประชุมเลย จนมาลงนามรับรองการรายงานการประชุมในเดือนถัดมาจึงทราบว่า มีมติยืนตามกอ.กทม.” นายสมัยกล่าว
ขณะที่นายอะหะหมัด ซึ่งมีเสียงติดขัดเล็กน้อยในตอนเริ่มต้นแถลง ได้กล่าวยืนยันในการให้โอกาส นายพัฒนาในการชี้แจง ถึง 3 ครั้ง
“นายพัฒนาอ้างว่าป่วยไม่มาชี้แจงซึ่งคณะทำงานเห็นว่า ไม่น่าที่จะป่วยถึงขั้นไม่สามารถให้การได้ จึงได้ลงมติตามสำนวนการสอบสวนเท่าที่มีอยู่ ซึ่งศาลก็บอกว่า เราให้โอกาสมากแล้ว ซึ่งถ้าเป็นศาลกรณีคู่กรณีไม่มาให้การครั้งเดียวไม่ไปให้การจบเลยศาลพิพากษาได้เลย แต่เราเป็นองค์กรอิสลาม
จึงพยายามอะลุ่มอล่วย ให้โอกาสอย่างดีที่สุดแล้ว และในเรื่องนี้ศาลก็บอกว่าเป็นการประวิงเวลาด้วย” นายอะหะหมัด กล่าว
“หลังคำพิพากษาคณะของกอ.กทม.ได้เดินทางไปมัสยิดต้นสน เพื่อนำหนังสือไปมอบให้นายพัฒนา ให้ส่งมอบข้อมูลของมัสยิดและปรึกษาหารือในการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป แต่มีสื่อมุสลิมบอกว่า เราจะไปยึดมัสยิดต้นสน ถือเป็นการบิดเบือนความจริง รวมทั้งมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มกล่าวอ้างและให้ข่าวผ่านสื่อว่ากอ.กทม.ขาดคุณสมบัติ พ้นจากการเป็นกอ.กทม.แล้วนั้นก็ไม่เป็นความจริงคำพิพากษาของศาลฎีกา เป็นสิ่งยืนยันได้ การกล่าวว่า กอ.กทม.ขาดคุณสมบัติจึงไม่เป็นความจริง” นายอะหะหมัด ขามเทศทอง กล่าว
เมื่อถามว่าตามที่การร้องเรียนว่านายพัฒนา ได้สร้างความเสียหายให้กับมัสยิด หลังมีการถอดถอนได้มีการเข้าไปตรวจสอบและพบความผิดอะไรหรือไม่ นายอะหะหมัด กล่าวว่า หลังมีการถอดถอนแล้ว ได้มีการแต่งตั้งบุคคลไปรักษาการ ได้มีการทำหนังสือถึงนายพัฒนาอย่างเป็นทางการให้ส่งมอบ โดยเจตนาเพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง ให้มัสยิดต้นสนได้รับประโยชน์ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ โดยที่นายพัฒนาไม่ยอมรับคำสั่ง มีการยื่นอุทธรณ์ แต่เราได้เข้าไปทำแล้ว แต่ผลยังไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจจะมีปัญหาแต่เรายังไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่าความผิดไม่ชัดเจนแต่ได้ลงมติไปแล้ว นายอะหะหมัด กล่าวว่า ชัดเจนแล้วจึงได้มีคำสั่ง เราไม่มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบว่าเสียหายอะไรบ้าง สิ่งที่เราทำคือทำเท่าได้รับข้อมูลได้รับคำให้การจากพยานเอกสาร ถามว่าย้ำว่า เหมือนสหรัฐฯ บุกอิรักหรือไม่
ขณะที่นายสมัยกล่าวว่า เท่าที่มีข้อมูลมัสยิดต้นสนมีการเวนคืนที่ดินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ การรับค่าเวนคืนหรือการต่อรองค่าเวนคืน จะต้องมีมติคณะกรรมการมัสยิดลงมติ เมื่อไม่มีคณะกรรมการมัสยิดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ทำให้มัสยิดเสียประโยชน์เมื่อถามว่า หากมีการเลือกตั้งอิหม่าม
ใหม่นายพัฒนาสามารถลงสมัครได้หรือไม่
นายอะหะหมัด กล่าวว่า เป็นไปตามมาตรา 7 ตามพ.ร.บ.บริหารกิจการอิสลาม 2540 สำหรับพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ในมาตรา 7 ได้กำหนดคุณสมบัติไว้ 10 ประการ ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติกรณีถูกถอดถอนจากตำแหน่ง เพียงแต่กำหนดไว้ในข้อ 4 ว่า เป็นบุคคลที่ปฏิบัติตามหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัดสำหรับการแถลงข่าวของกอ.กทม.มีผู้เข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุน กอ.กทม. มีสื่อมวลชนไปร่วมเพียงไม่กี่คน เป็นที่น่าสังเกตว่า นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา มือกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมรับฟังด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังคำสั่งศาลฎีกา ผู้ได้รับมอบให้รักษาการอิหม่ามมัสยิดต้นสนไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่ได้ เนื่องจากสัปบุรุษของมัสยิดไม่ยินยอม ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในกรณีที่เกิดขึ้น ในขณะที่อิหม่ามเฟาซัน ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการของมัสยิดอีก
“ยอมรับคำสั่งของศาลฎีกา ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่อยากถามว่า เมื่อผมยอมรับ ฝ่ายอื่นยอมรับด้วยหรือไม่ เพราะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งอยู่” ดาโต๊ะพัฒนากล่าวและว่าหากมีการเลือกตั้งอิหม่ามมัสยิดต้นสนก็ต้องการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต
หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับที่ 65 ประจำเดือนพฤษภาคม 2560