วาฮาบี ลัทธิสุดโต่ง ปัญหาของยุคสมัย
วาฮาบี ลัทธิสุดโต่ง
ปัญหาของยุคสมัย
อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรมต.ต่างประเทศ บรรยายพิเศษ ระบุ การขาดความถ่อมตนทางวิชาการ คือรากเหง้าของอิสลามสุดโต่งและคลั่งไคล้ อาเซียนเผชิญความท้าทายจากอาระไบเซชั่น ซึ่งก็คือ “วะฮาบี” ยี่ห้อของอิสลามที่สุดโต่ง สัมบูรณนิยม และ ดันทุรังไร้เหตุผล
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรมต.ต่างประเทศ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ทางสายกลาง : วิถีอิสลามในการเผชิญสถานการณ์โลกช่วงเปลี่ยนผ่าน และผลกระทบต่ออาเซี่ยน-ไทย” (Moderation’ as Islamic Approach to the Impact of Global Transition on ASEAN – Thailand) ซึ่งจัดโดยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพุธที่ 5 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาและความท้าทายจาก “ลัทธิสุดโต่ง” (Extremism) และ “พวกคลั่งหลักการศาสนา” (Fundamentalism) รวมทั้งกิ่งก้านสาขาที่แตกออกมาจาก 2 กลุ่มนี้ ก็คือ “การขาดหาย” ในสิ่งที่นักปรัชญาเรียกว่า “ปรัชญาความอ่อนน้อมถ่อมตน” (Philosophical Humility) ความหมายก็คือการตระหนักว่า “ฉันรู้ว่าสิ่งที่ฉันรู้นั้นยังน้อยมาก” ซึ่งนี่คือวิถีของอิสลาม
“ภูมิปัญญาแห่งปอเนาะ จากสถานศึกษาศาสนาในภาคใต้ของไทยไปจรดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก็คือ ในตอนจบของการอ่านสอนหนังสือให้แก่นักเรียน ไม่ว่าอัลกุรอานหรือหนังสือเล่มใด อาจารย์ผู้สอนก็จะกล่าวเน้นย้ำว่า “อัลลอฮุอะลัม” (อัลเลาะห์ทรงรู้ยิ่งกว่า)” บนเวทีปาถกฐา ดร.สุรินทร์ ได้หยิบหนังสือ “อัลมุก็อดดิมะฮ์” (Al-Muqaddimah) ซึ่งเขียนโดย “อิบนิคอลดูน” ขึ้นมาแสดงและบอกผู้เข้าร่วมประชุมว่า เขาเป็นปราชญ์ด้านประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 15 อีกยังถูกยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มากมายหลายสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา เศรษฐศาสตร์ ชาติพันธ์ ศึกษา เป็นต้น
“ในตอนจบสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งว่าด้วยประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เขาเขียนว่า “อัลเลาะห์ทรงรู้ยิ่งกว่า” ดร.สุรินทร์ กล่าวและอธิบายว่า การสำนึกและตระหนักเข้าใจจากตรงนี้ คือเราต้องยั้งใจในการที่จะไปพิพากษาผู้อื่น
“ปัญหาของพวกคลั่งไคล้และสุดโต่งงอกเงยขึ้นมาจากตรงนี้ ก็คือ การปราศจากการยอมรับความจริงที่ว่า “ฉันยังรู้น้อยมาก” ดร.สุรินทร์ กล่าว
อดีตเลขาธิการอาซียนยังชี้ว่า ทางสายกลาง (Moderation) จะยืนหยัดอยู่ได้ก็ต้องเข้าใจปรัชญาที่ว่า ความรู้ที่แท้จริงนั้นยังคงเปิดอยู่ตลอดเวลา และมนุษย์เป็นสิ่งถูกสร้างของพระเจ้าโดยพระองค์ทรงนำทางด้วย “วิทยปัญญา” (Hikmah) ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่จะใช้สติปัญญาเพื่อทำความเข้าใจ
“อัลกุรอาน และฮาดีษ (วจนะศาสดา) รวมทั้งประเพณีการศึกษาของอิสลามแบบดั้งเดิม ได้บันทึกไว้มากมายว่า มนุษย์นั้นคือสัตว์ที่มีความสามารถในการใช้เหตุผล -ภาษาอาหรับเรียกว่า อินซานุนนาติก-”
ดร.สุรินทร์เน้นย้ำว่า ทางสายกลางจะสามารถมีที่ทางอยู่ได้ก็ต้องด้วยปรัชญากระบวนการคิดที่จะต้อง “ไม่ตัดสินแบบฟันธงเด็ดขาด” โดยเว้นช่องไว้สำหรับความผิดพลาด เพราะสิ่งที่เราสอน สิ่งที่เราเขียน สิ่งที่สื่อสาร สิ่งที่เราวินิจฉัย หรือสิ่งที่เราพิพากษานั้น อาจจะไม่ถูกต้องทั้งหมด หรืออาจจะถูกต้องเพียงส่วนน้อยก็ได้
“ทางสายกลางก็คือ ผมจะระงับตัวเองจากการเรียกขานคุณว่ากาเฟร (ผู้ปฏิเสธ), ละเว้นการพูดว่าสิ่งที่คุณกำลังปฏิบัตินั้นฮาหร่าม (ผิดหลักศาสนา) ละเว้นการพูดว่าทัศนะของผมเป็นเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง” ดร.สุรินทร์ กล่าวและอธิบายว่า ตรงกันข้ามนั้นก็คือ ลัทธิสัมบูรณนิยม (Absolutism) การดันทุรังไร้เหตุผล และความคิดที่คับแคบ
ดร.สุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้นจำเป็นเบื้องต้นจึงต้องหาปรัชญาและพื้นฐานหลักการว่าทางสายกลางนั้นเป็นเช่นไร “สำหรับผม คุณจะต้องยอมรับชุดความคิดใหม่ ชุดความคิดที่ได้ยินเสียงแห่งความชาญฉลาดของมนุษย์ ซึ่งอิบนิคอลดูลเรียกมันว่า นิสัยแห่งสติปัญญา (Habit of intellection) ซึ่งหมายความว่า คุณใช้เหตุผลและศักยภาพ ในการอนุมาน วาดข้อสรุป เปรียบเทียบ และสรุปว่าอะไรเป็นอะไร ฝั่งไหนคือสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด ด้วยตัวคุณเอง ด้วยความสามารถของคุณเอง แน่นอนว่ามีกรอบของมันอยู่ มีฮาดีษ มีอัลกุรอาน แต่ด้วยความพยายามของคุณเอง การอิจติฮาด (การวินิจฉัย) มีอยู่ตรงนั้น และคุณต้องรับผิดชอบกับมัน”
“อัลเลาะห์จะไม่ทรงมอบหมายภารกิจที่หนักเกินกว่าความสามารถของเขาผู้นั้น อัลกุรอานได้กล่าวไว้ ดังนั้นตรงนี้คือวาระปัจเจกที่ให้ทำด้วยเหตุผลของตัวคุณเอง ด้วยการวิเคราะห์ของคุณเอง ด้วยการยอมรับของคุณเอง” ดร.สุรินทร์ กล่าวและว่า
“ดังนั้นเมื่อกลับไปพิจารณาแนวคิดของลัทธิสัมบูรณนิยม – พวกเขาคิดว่า- เส้นทางนี้ของเราเท่านั้นที่ถูกต้อง คนอื่นผิดหมด และไม่มีผู้ใดอีกที่จะเข้าใจฮาดีษ และมรดกที่เราได้รับมา 1,400 ปีที่แล้วนั้นไม่มีใครสามารถตัดสินในเรื่องดังกล่าวได้ยกเว้นฉันคนเดียว ซึ่งนั่นก็คือรากเหง้าของความสุดโต่ง รากเหง้าของสัมบูรณนิยม ที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้งในหมู่พวกเราและระหว่างพวกเรา”
“ตรงนี้แหละคือตัวปัญหา!!” ดร.สุรินทร์เน้นย้ำและว่า “มันถูกเรียกว่า อะราไบเซชั่น (Arabization) ในอิสลาม” Arabization ที่ดร.สุรินทร์ กล่าวถึง ก็คือ กระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอาหรับ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นเรื่องเชื้อชาติ แต่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลอาหรับที่มีต่อผู้ที่ไม่ใช่อาหรับ โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรมและทัศนคติวิธีคิด
ดร.สุรินทร์ บอกว่าปัญหาการรุกคืบจากแนวคิดอะราไบเซชั่นที่เข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้คุณค่า วัฒนธรรม อุปนิสัย ในแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกเหวี่ยงทิ้ง และแทนที่ด้วยแนวคิดสัมบูรณนิยม จนกระทั่งผู้นำในอาเซียนมิอาจเพิกเฉย ต้องออกมาเน้นย้ำให้หันกลับมาใส่ใจ่วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.สุรินทร์ยกตัวอย่างเช่น สุลต่าน แห่งรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย “อิบรอฮีม อิสกันดาร์” และองค์กรนะห์ดาตุลอุลามาห์ (Nahdlatul Ulama) ขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการเมืองและสังคมในอินโดนีเซียที่ได้ออกมากระตุ้นให้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากแนวคิดดังกล่าว อันจะทำให้สังคมแบบดั้งเดิมที่เคยเป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันทางวัฒนธรรมที่หลากกลาย กลายเป็นสังคมที่ปะทะกันทางวัฒนธรรม
ดร.สุรินทร์ ได้เน้นย้ำว่า การให้ความสำคัญกับ “ความแตกต่างและความหลากหลาย” นั้นเป็นเรื่องสำคัญ และไม่เพียงพอด้วยแค่การพูดว่า มนุษยชาติทั้งมวลถูกสร้างขึ้นจากคู่หนึ่ง คืออาดัมและฮาวา “ใช่นั่นคือสาส์น แต่เราเข้าถึงจิตวิญญาณของสาส์นดังกล่าวหรือไม่? เราดำเนินชีวิตด้วยสาส์นนั้นหรือไม่? เรานำมันมาปฏิบัติจริงและทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราหรือไม่?” ดร.สุรินทร์ตั้งคำถาม และว่า “เราต้องการความสงบสุขและความสามัคคีในชุมชนของเรา ในประเทศของเรา ในสังคมของเรา ผมคิดว่ามันเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน”
ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า ปัญหานี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ชุมชนมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ซึ่งตอนนี้มันแพร่กระจาย และเป็นสิ่งที่ท้าทายเราทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประชาคม “อาเซียน” แห่งนี้ “การรักษาความหลากหลายนี้ไว้ ก็ด้วยการเปิดรับกันและกันเท่านั้น เคารพซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันและกันพยายามที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน การเริ่มต้นทำดังที่กล่าวมานี้ คุณต้องไม่ยึดกระบวนการคิดที่แตะต้องไม่ได้แบบสัมบูรณนิยม” ดร.สุรินทร์ กล่าว
ดร.สุรินทร์ อธิบายว่า สำหรับตน ลัทธิสุดโต่ง หรือลัทธิก่อการร้าย ก็คือการไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาได้พบว่าตัวเขาตกอยู่ในนั้น พวกเขาไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่เปิดซึ่งไม่มีผู้ใดเสี้ยมสอน ไม่มีใครบงการ ที่ซึ่งพวกเขาต้องใคร่ครวญด้วยตัวเองว่าอันใดดีหรือไม่ดี
“ผมคิดว่าคนที่ติดตามปัญหาในประชาชาตินี้ย่อมเข้าใจ ผมไม่รู้ว่าจะทำให้ผู้คนหรือเพื่อนฝูงจากภายนอกประชาคมนี้เข้าใจได้อย่างไร เว้นเสียแต่คงต้องกล่าวว่า วะฮาบี (Wahhabism) ก็คือยี่ห้อของอิสลามที่สุดโต่ง สัมบูรณนิยม และดันทุรังไร้เหตุผล” ดร.สุรินทร์ กล่าวและย้ำว่า “กระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอาหรับ (Arabization) ก็คือ กระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นวะฮาบี (Wahabization)”
“ส่วนมากของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ – สำนักคิด – ชาฟีอี (Shafie) และเราสามารถสื่อสารได้อย่างที่เราเคยทำมาในอดีต ซึ่งขณะนี้กระบวนการอาระไบเซชั่น ได้เข้ามาสร้างความตึงเครียด การเผชิญหน้า และความขัดแย้ง”
“ดังนั้นเมื่อคุณยึดแนวคิดประเภทนั้น จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกที่กว้างไพศาล ที่ซึ่งสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน เปลี่ยนแปลงและแกว่างไกวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณไม่อาจควบคุมมันได้” ดร.สุรินทร์ กล่าว
ดร.สุรินทร์ ทิ้งท้ายในการบรรยายพิเศษครั้งนี้ว่า “เราต้องถ่อมตนมากขึ้นเกี่ยวกับความรู้ที่เราคิดว่าเรามี จากนั้นเราอก็นุญาตให้คนอื่นเข้ามา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พิจารณาด้วยกัน แล้วเราเรียนรู้ด้วยกันและกัน ด้วยประการฉะนี้เราจะไปถึงยังสิ่งที่เรียกว่า ทางสายกลาง ดุลยภาพ ประชาชาติที่ดีเลิศ ประชาชาติตัวอย่าง หรือไม่ว่าในชื่ออะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะบรรลุได้ก็ด้วยการปฏิบัติเป็นกิจวัตร โดยเริ่มต้นจากการอนุมานว่าเรายังรู้น้อยมาก เราต้องการจะเรียนรู้เพิ่มอีก และผู้อื่นจะช่วยเรา และเราก็ต้องทำร่วมกับผู้อื่น”
“ด้วยการร่วมมือกัน เราจะสามารถสร้างยุคสมัยแห่งการฟื้นฟูวิทยาการ (Renaissance) ขึ้นอีกครั้ง โดยขับเคลื่อนด้วยสำนึกแห่งความถ่อมตนและทางสายกลาง ที่นักปราชญ์ ผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตเคยใช้เป็นแรงบันดาลใจและทางนำในการสร้างอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ท่าม กลางความหลากหลาย”
“ความท้าทายของเราทุกคนในอาเซียนคือ จะจัดการอย่างไรกับความหลากหลายนั้น จะดำเนินชีวิตอย่างไรกับความหลากหลายนั้น ครึ่งหนึ่งของอาเซียนคือมุสลิม กว่าครึ่งพูดภาษามลายู และครึ่งนี้จะต้องหาทางเพื่อดำเนินไปข้างหน้า… จะสามารถทำได้อีกครั้ง ก็ต่อเมื่อลดอัตตาของเราลงเท่านั้น และ
ทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วยความเคารพกันและกัน” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนกล่าว
หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ฉบับที่ 64 ประจำเดือนเมษายน 2560