อาหรับ 48 และความช่วยเหลือของตุรกีกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้อิสราเอล
เหตุการณ์ไฟไหม้ลามอิสราเอลขณะนี้ ถือเป็นความประสงค์ของอัลลอฮฺที่ต้องการให้บทเรียนแก่ผู้อธรรมและก่อความละเมิดบนหน้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นการลงโทษอันน้อยนิดหากเปรียบเทียบกับขุมนรกในวันแห่งการตัดสินที่ไม่มีผู้ใดสามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือใดๆ และสอนให้ชาวโลกรับรู้ว่า เมื่อทหารของประชาชาติมุสลิมบนโลกนี้ไม่สามารถต้านความอธรรมของจอมราวีได้ อัลลอฮฺก็ส่งทหารของพระองค์เพื่อตักเตือนผู้ที่ยังเหิมเกริม ว่าความจริงแล้วมนุษย์คือผู้อ่อนแอที่สุด มนุษย์สามารถวางแผนได้ แต่ทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของพระองค์เพียงผู้เดียว ข่าวคราวในลักษณะนี้ อย่างน้อยเป็นการบรรเทาความเจ็บแค้นของชนผู้ศรัทธาบ้าง ويشف صدور قوم مؤمنين
โดยเฉพาะหลังจากรัฐบาลยิวออกกฎหมายห้ามอะซานโดยใช้เครื่องลำโพงในมัสยิดอักศอและมัสยิดอื่นๆในเขตอิสราเอลโดยอ้างว่าเกิดมลภาวะทางเสียง
แต่เมื่อมีประเทศตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความช่วยเหลือไฟไหม้อิสราเอลครั้งนี้ บางคนอาจจะเอะใจว่าตุรกีมีจุดยืนอย่างไรกันแน่ และถูกต้องตามทัศนะอิสลามหรือไม่
เชื่อว่าหลายคนยังเข้าใจว่า เมื่อพูดถึงอิสราเอล ก็จะนึกถึงยิวผู้โอหังและฆาตกรใจเหี้ยมที่เข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ ความจริงประชากรของอิสราเอลยังรวมถึงคนอาหรับทั้งมุสลิม คริสต์ ดรูซที่ถือสัญชาติอิสราเอลรวมอยู่ด้วย หรือที่เรียกว่า อาหรับ 48
อาหรับ 48 มีชื่ออื่นอีกมากมายอาทิ อาหรับภายใน ชาวปาเลสไตน์ภายใน อาหรับอิสราเอล หรือชนกลุ่มน้อยอาหรับ ซึ่งหมายถึงชนอาหรับพื้นเมืองดั้งเดิมของปาเลสไตน์ที่อาศัยบนแผ่นดินนี้ตกทอดกันมาเป็นพันๆปีแต่หลังจากยิวได้บุกยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์จำนวน 78%ของพื้นที่ทั้งหมดในสงครามวิปโยคปี 1948 พื้นที่ส่วนนี้จึงถูกผนวกรวมเป็นประเทศอิสราเอล มุสลิมหรืออาหรับที่อาศัยบริเวณนี้ จึงถูกเรียกว่าอาหรับ 48 มีสัญชาติอิสราเอล ปัจจุบันชนกลุ่มนี้มีจำนวน 1.6 ล้านคน หรือประมาณ 20.4%ของประชากรยิวทั้งประเทศแยกเป็นมุสลิม 83% คริสเตียน 9-10% ดรูซ 7-8% อาศัยใน 5 เขตใหญ่คิอ อัลญะลีล อัลมุษัลลัส โกลาน อัลกุดส์ และนะก็อบ แต่ยิวก็บุกรุกเข้ามาสร้างนิคมยิวในเขตนี้ตลอดเวลา
อาหรับ 48 คือคนแปลกหน้าในมาตุภูมิของตนเอง ถูกปล้นแผ่นดิน บ้านเรือนและศักดิ์ศรีต่อหน้าต่อตา เหตุการณ์ถล่มบ้านเพื่อไล่ที่ การสร้างกำแพงสูง 20 ม. หรือการไล่ฆ่ามุสลิม ส่วนใหญ่เกิดในบริเวณนี้ รวมทั้งในเขตเวสต์แบ๊งก์
ส่วนในบริเวณกาซ่า ยิวไม่สามารถเข้าไปยึดครองแม้แต่คืบเดียว รัฐยิวจึงโจมตีกาซ่าทางอากาศ ซึ่งเป็นทางเดียวที่ยิวสามารถกระทำได้ แต่ชาวกาซ่ายังคงรักษาแผ่นดินไว้อย่างเหนียวแน่น ภายใต้การดูแลของสมาชิกพรรคฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในสายตายิว
ในขณะที่เวสต์แบงก์ ภายใต้การดูแลของพีแอลโอที่มีมะห์มูด อับบาส(นับถือบาไฮ) ก็ถูกอิสราเอลยึดครองทีละน้อยๆ จนกระทั่งพีแอลโอในปัจจุบันได้กลายเป็นอาสาสมัครปกป้องยิวและปราบปรามหะมาสไปโดยปริยาย
ส่วนไฮฟา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ครั้งนี้มากที่สุด ห่างจากอัลกุดส์ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 158 กม. จากเมืองที่มีมุสลิมเกือบ 100 % ในอดีต แต่หลังจากสงคราม 48 มีมุสลิมอาศัยอยู่จำนวนน้อยมาก และได้รับการปฏิบัติสองมาตรฐานจากรัฐบาลยิวมาโดยตลอด
พี่น้องมาถึงตรงนี้ คงสามารถคิดแทนตุรกีได้เลยว่า ทำไมตุรกีจึงตอบรับการขอความช่วยเหลือดับไฟไหม้ที่นายเนทันยาฮูติดต่อทางโทรศัพท์ถึงปธน แอร์โดกานเป็นการส่วนตัว
อย่าลืมว่า หลังจากสถาปนารัฐยิวอิสราเอลในปี 1948 คล้อยหลังไปเพียงปีเดียวคือปี 1949 ตุรกีเป็นประเทศมุสลิมประเทศแรกที่ให้การรับรองรัฐไซออนิสต์นี้ ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอล จึงไม่ใช่เป็นไปในรูปแบบของคู่สงคราม แต่เป็นพันธมิตรทางการทูตที่มีความผูกพันอย่างยาวนาน แม้กระทั่งในตุรกีปัจจุบันมียิวมากมากมายที่มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจระดับประเทศ ดังนั้น ถึงแม้จะมีเรื่องบาดหมางระหว่างกันอยู่หลายเรื่อง แต่การใช้อำนาจการต่อรอง ยุทธศาสตร์การถือไพ่ทางการเมืองที่เหนือและฉลาดกว่า การแสดงอารยธรรมที่ประเสริฐกว่า การซื้อใจเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง การใช้หลักมะกอศิด ชะรีอะฮฺ(หลักยึดผลประโยชน์แห่งชะรีอะฮฺ) หรือหลักมนุษยธรรม สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือศาสตร์อันลุ่มลึกในอิสลามที่ต้องอาศัยคนปฏิบัติที่เหมาะสม ในสถานการณ์ที่เหมาะสม ช่วงเวลาที่เหมาะสม กับฝ่ายที่เหมาะสม เพื่อแสดงถึงความสวยงามของอิสลามและประชาชาติมุสลิม ยังไม่รวมถึงอภิมหาโครงการแผนพัฒนาและบูรณะกาซ่าทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ตุรกีได้บรรลุข้อตกลงกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการมาแล้ว และขณะนี้มีหลายโครงการที่ตุรกีกำลังเร่งดำเนินการในกาซ่าโดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง
นอกเหนือไปกว่านั้น ในมิติทางศาสนาที่อิสลามกำชับให้เราทำความดีกับทุกฝ่าย มีความยุติธรรมแม้กระทั่งต่อศัตรูคู่อาฆาต ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะคนที่กำลังร้องขอความช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้คือธรรมเนียมปฏิบัตของผู้นำมุสลิมในทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งระหว่างจอมทัพศอลาฮุดดีน อัยยูบีย์กับกษัตริย์ริชาร์ด ใจสิงห์ ที่ศอลาฮุดดีนส่งสาสน์ให้กำลังใจเมื่อทราบข่าวว่ากษัตริย์ริชาร์ดป่วยหนัก แถมยังส่งยารักษาและผลไม้ถวายไปด้วย
ตามรายงานของสหประชาขาติ ในช่วง 50 ปีหลังนี้ ซาอุดีอารเบียคือประเทศผู้ให้การสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประเทศที่ตกภัยพิบัติมากที่สุดในโลก หากเปรียบเทียบประเทศที่มีรายได้ของประชากร การช่วยเหลือของซาอุดีฯครอบคลุมไปยังประเทศเมียนมา บังคลาเทศหรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่อธรรมแก่มุสลิมมาโดยตลอด การสนับสนุนนี้รวมถึงความช่วยเหลือและให้เงินยืมในรูปแบบต่างๆโดยมีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย และสร้างอารยธรรมมือบนที่อิสลามส่งเสริมมาโดยตลอด ซึ่งทั่วโลกก็ชื่นชมความมีใจอันงดงามของประเทศซาอุดีอารเบีย
บางครั้ง การเอาชนะศัตรู อาจไม่ต้องใช้กองกำลังทางการทหารที่เหนือกว่า แต่การใช้อารยธรรมและ จริยธรรมที่สูงส่งกว่า ตามที่นบีได้ปฏิบัติไว้เป็นตัวอย่างในคราวเปิดเมืองมักกะฮฺ ที่ไม่ใช่เป็นการซื้อใจชาวกุเรชเพียงเผ่าเดียวเท่านั้น แต่ชนอาหรับทั้งคาบสมุทรได้ประทับใจถึงความสวยงามของอิสลาม
กองกำลังทางการทหารที่เหนือกว่าสามารถยึดครองประเทศก็จริง แต่การต่อสู้ด้วยอารยธรรมที่ประเสริฐกว่าสามารถครองใจคน ซึ่งมีความถาวรและมั่นคงกว่า
والله الموفق والهادي إلى سواء السبيل
CR.APIWAT RAKCHART
ศูนย์เรียนรู้อิสลาม