เดิมธรรมเนียมไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพ ของชนชาวสยามมีอยู่ 2 วิธี หนึ่งคือการไว้ทุกข์ด้วย ‘สี’ ของเครื่องแต่งกาย และสองคือการโกนผม
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ที่ชื่อ ‘สีไว้ทุกข์ในสมัย ร.5’ ว่า แต่เดิม ‘สี’ ของเครื่องแต่งกาย ที่ใช้สำหรับไว้ทุกข์มี 3 สี 1) สีดำ 2) สีขาว และ 3) สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่
‘สีดำ’ ใช้สำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
‘สีขาว’ ใช้สำหรับผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
ส่วน ‘สีม่วงแก่’ หรือ ‘สีน้ำเงินแก่’ ใช้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ญาติกับผู้ตายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในบางโอกาสหากผู้ตายมีความสำคัญทางจิตใจมาก แม้ผู้ไว้ทุกข์จะมีฐานันดรศักดิ์ หรืออายุมากกว่าผู้ตาย ก็อาจไว้ทุกข์ด้วยการสวมชุดขาวได้บ้างเป็นกรณีพิเศษ เช่น เมื่อคราวที่เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอ็นดูยิ่ง สิ้นพระชนม์ลง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมีพระราชดำรัสว่า “สิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน” การพระศพในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงพระภูษาขาวทุกวัน หรือในงานพระเมรุของ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. 2388 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระภูษาขาว ทั้งที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชบิดา เป็นต้น
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ยังทรงระบุไว้ด้วยว่า ในงานพระบรมศพที่พระมหาปราสาท เวลาที่จะไปเฝ้าพระบรมศพ ทุกคนต้อง ‘นุ่งขาว’ ไม่มีใครแต่งดำได้ในเวลางาน จะนุ่งดำได้เฉพาะเวลาอยู่บ้าน หรือไปไหนมาไหนตามปกติ
ที่ใช้เฉพาะ ‘สีดำ’ สำหรับไว้ทุกข์อย่างเช่นทุกวันนี้ เป็นเพียงธรรมเนียมที่ปรับใช้ใหม่ในยุคหลังเพื่อความสะดวกเท่านั้น
ส่วนการโกนผมนั้น เป็นการแสดงความเคารพอาลัยตามโบราณราชประเพณี ในอดีตเมื่อเจ้านายเสียชีวิต ผู้ที่สังกัดมูลนายจะต้องโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ต่อนายของตนเอง ยกเว้นแต่การสวรรคตของพระมหากษัตริย์ที่ต้องโกนผมทุกคน นอกจากนี้ เมื่อมีพระบรมราชโองการเป็นกรณีพิเศษ ก็ต้องโกนหัวทุกคนด้วย เช่น งานพระบรมศพกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาถ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นต้น
ประกาศบางฉบับในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังช่วยให้ทราบด้วยว่า การโกนผมไว้ทุกข็ยังเป็นธรรมเนียมของราษฎรโดยทั่วไป ที่บิดามารดา และสามี เสียชีวิต ของชนชาวไทยมาแต่เดิม