โลกผิดหวัง”ซูจี”แถลงแหล โรฮิงญายังอยู่ดี ระบุปราบปรามก่อการร้ายไม่กระทบชาวบ้าน ไม่เข้าใจอพยพทำไม

Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi delivers a national address in Naypyidaw on September 19, 2017. Aung San Suu Kyi said on September 19 she "feels deeply" for the suffering of "all people" caught up in conflict scorching through Rakhine state, her first comments on a crisis that also mentioned Muslims displaced by violence. / AFP PHOTO / Ye Aung THU

นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมา แถลงการณ์ออกโทรทัศน์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรฮีนจาในรัฐยะไข่ หลังจากถูกนานาชาติกดดันอย่างหนัก….

นางอองซาน ซูจี ได้แถลงผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เป็นครั้งแรกที่มีการแถลงจากทางการเมียนมาอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรฮิงญาในรัฐยะไข่ซึ่งทำให้ ซูจี ถูกกดดันอย่างหนักฐานเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ แต่กลับไม่ปกป้องประชาชนกลุ่มน้อยในประเทศ โดยผู้เข้าร่วมฟังแถลงการณ์ครั้งนี้มีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเมียนมา นักการทูต และตัวแทนจากหน่วยงานในสังกัดของสหประชาชาติเข้าร่วมรับฟัง

โดยนางซูจี ระบุถึง ความกังวลจากนานาชาติ ต่อวิกฤติชาวโรฮิงญา ที่ปัจจุบันที่อพยพไปยังบังคลาเทศแล้วกว่า 400,000 คน ว่า ที่ผ่านมาเราประณามความรุนแรงทุกอย่างที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน เรามีความตั้งใจที่จะสร้างสังคมที่สงบสุข มั่นคง และมีนิติธรรม ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหามากมาย ซึ่งเราก็รับฟังทุกความเห็น และเราต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้นมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและพิสูจน์ได้

นางซูจี กล่าวอีกว่า เมียนมาไม่ห่วงเรื่องที่นานาประเทศจับตา เพราะเป็นเรื่องที่มีพันธะสัญญากับนานาชาติอยู่แล้ว ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมปี 2016 มีกลุ่มมุสลิมใช้กำลังโจมตีตำรวจ ทำให้เกิดปัญหาตามมา มีคนถูกฆ่าตาย หลายคนหนีไปยังบังคลาเทศ ทางการพยายามแก้ปัญหาและให้สังคมอยู่กันอย่างกลมเกลียวให้ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย และได้มีการเชิญ ดร.โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ไปเยี่ยมเยียนและเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่ประสบผล


นางซูจี กล่าวยืนยันว่า นับตั้งแต่ วันที่ 5 กันยายนเป็นต้นมา ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันเพิ่มเติมในรัฐยะไข่ และที่ผ่านมาทางการเมียนมาทำทุกวิถีทางเพื่อให้ปฏิบัติการทางการทหารในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายให้ไม่กระทบกับประชาชน และแม้จะมีชาวมุสลิมจำนวนมากอพยพเข้าไปยังฝั่งบังกลาเทศ แต่ก็มีชาวมุสลิมอีกจำนวนหนึ่งที่ยังคงอาศัยในพื้นที่ได้อย่างสงบ จึงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ในส่วนประเด็นเหตุการณ์ เผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญานั้น นางซูจีกล่าวว่า กำลังมีการเตรียมการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีความพยายามในการพัฒนาพื้นที่รัฐยะไข่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหนทางที่เชื่อมหมู่บ้านห่างไกล เรื่องการศึกษาทั้งในขั้นพื้นฐานและระดับสูง โดยเปิดโอกาสในทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่มีการปิดกั้น รวมไปถึงการเข้าถึงระบบสาธารณสุข และปัจจัยพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย แต่ก็พบว่ายังมีหลายชุมชนที่ผู้นำปฏิเสธการเข้าร่วมในแผนพัฒนาครั้งนี้ รัฐจึงต้องเพิ่มพยายามในการโน้มน้าวให้ทุกชุมชนได้เข้าร่วมเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป

นางซูจี กล่าวด้วยว่า เมียนมากำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตยแต่ประชาธิปไตยของเมียนมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบขอให้ประชาคมโลกมีความศรัทธาและเชื่อมั่น ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่สลับซับซ้อนในเรื่องชาติพันธุ์มากมาย แม้ว่าผู้คนคาดหวังว่าเราจะแก้ปัญหาได้ในเวลาอันสั้นแต่รัฐบาลของเราอยู่มาได้แค่18เดือนเท่านั้นซึ่งยังสั้นเกินไปที่จะจัดการปัญหาต่างๆอย่างที่มีคนคาดหวังแต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่พยายามจัดการปัญหาพวกนี้

นอกจากนี้ นางซูจียัง เชิญชวน นักการทูตและนักข่าวจากทั่วโลกเข้าพื้นที่เพื่อไปสอบถามชาวมุสลิมที่ยังคงอยู่ในพื้นที่ว่าเพราะอะไรพวกเขาจึงไม่หนีไปไหน ในส่วนของคนที่อพยพออกไปแล้ว หากจะกลับเข้ามาในเมียนมาอีกครั้ง ก็จะมีระบบคัดกรองคนเพื่อระบุว่าเป็นผู้ที่อพยพออกไปจริงหรือไม่ ทั้งนี้รัฐบาลเมียนมาไม่ต้องการเห็นการเห็นประเทศถูกแบ่งด้วยเหตุผลเรื่องความเชื่อ ศาสนา

ด้านองค์กร แอมแนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล โจมตีคำแถลงของนางซู จี ว่าพยายามทำเป็นเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ยอมกล่าวประณามกองทัพพม่าซึ่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่  คำกล่าวของนางซู จีนั้นไร้น้ำหนัก เต็มไปด้วยคำหลอกลวง และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

“ออง ซาน ซู จี แสดงให้เห็นแล้ววันนี้ว่าเธอและรัฐบาลยังคงเอาศีรษะฝังทราย (หลีกเลี่ยงความจริงและเพิกเฉย) ต่อสถานการณ์ความน่าสะพรึงกลัวที่ปรากฏอยู่ในรัฐยะไข่ ถ้อยแถลงของเธอเป็นเพียงการผสมเรื่องไม่จริงกับการตำหนิเหยื่อ” แถลงการณ์ของแอมเนสตี ระบุ

องค์กร แอมแนสตี อินเตอร์เนชั่นแนล ยังตอบโต้ข้อมูลของซูจี ที่ระบุว่า ไม่มีการเผาบ้านเรือนชาวโรฮิงญานั้น สวนทางกับข้อเท็จจริงจากภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการเผาหมู่บ้าน 221 แห่ง

Myanmar’s State Counsellor Aung San Suu Kyi (C) arrives to deliver a national address in Naypyidaw on September 19, 2017.
Myanmar leader Aung San Suu Kyi reached out to the global community on September 19 in a broad appeal for support over a refugee crisis the UN has decried as “ethnic cleansing”, urging outsiders to help her nation unite across religious and ethnic lines and offering a pathway back to the country for some of the Rohingya Muslims forced to flee by army operations. / AFP PHOTO / Ye Aung THU

อย่างไรก็ตาม CNN สังเกตการณ์ปฏิกริยายาของชาวเมียนมาที่่ย่างกุ้ง มีชาวบ้านจำนวนมาก รับชมการถ่ายทอดสด และปรบมือแสดงความชื่นชมนางซูจี หลังแถลงเสร็จ