เวบไซต์”ประชาไท”โดย”กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ได้เสนอรายงานพิเศษ เรื่อง จากวีระธุโมเดลถึงไทยโมเดล’ วาดภาพความกลัวในใจต่างศาสนิก เผยแพร่ เมื่อ วันที่ 16 ก.ย.
ชาวโรงฮิงญากว่า 370,000 คนในรัฐยะไข่ของพม่ากำลังหนีตายจากการประหัตประหารเข้าสู่บังคลาเทศ หากสำรวจดูตามเพจพุทธศาสนาบางเพจพบว่า หลายความเห็นแสดงความสะอกสะใจและเฉยชาต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งนี้อาจเป็นภาพสะท้อนถึงอาการ Islamophobia หรือความเกลียดกลัวอิสลามที่แผ่ซ่านในสังคมไทย
ย้อนกลับไปสัก 20-30 ปีก่อน เป้าความหวาดระแวงของพุทธไทยคือศาสนาคริสต์ แต่ปัจจุบันกลับเคลื่อนตัวมาสู่ศาสนาอิสลาม มีการผลิตข้อมูล หนังสือ คลิปออกมาเผยแพร่ให้เห็นอันตรายของศาสนาอิสลาม เช่นการระบุว่ามีขบวนการล้มพุทธ มีแผนล้มพุทธ แผนเปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นรัฐอิสลาม เป็นต้น ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อมูลหลายชิ้นที่เผยแพร่ในโซเชียล มีเดียมีลักษณะบิดเบือน
แม้เราจะไม่มีประวัติศาสตร์บาดแผลเช่นในสังคมพม่า แต่ปลายทางของหน่อเนื้อความหวาดระแวงระหว่างศาสนิกอาจก่อรูปสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ในอนาคต ‘ประชาไท’ สำรวจปรากฏการณ์ความกลัวอิสลามและรูปแบบการแผ่ขยายความกลัวที่กำลังดำเนินอยู่
Islamophobia
กระแสความหวาดระแวงและความหวาดกลัวใช่ว่าไม่มีที่มา ทั้งยังไม่ใช่กระแสที่เกิดเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทว่า หากพิเคราะห์เฉพาะสังคมไทย 2 ปัจจัยหลักที่ก่ออคติในใจชาวพุทธไทยต่อชาวมุสลิมคือข่าวคราวความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง โดยเฉพาะกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอซิสในต่างประเทศ บวกกับปัจจัยประการที่ 2 คือสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สองปัจจัยนี้สร้างภาพประทับเหมารวมว่ามุสลิมเป็นพวกที่นิยมความรุนแรง
พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ ภิกษุวัดสร้อยทอง กรุงเทพมหานคร กล่าวกับประชาไทว่า สองปัจจัยนี้เป็นสองปัจจัยหลักที่มีผลอย่างสำคัญต่อความหวาดกลัวอิสลาม แม้ว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่จะไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ก่อความไม่สงบก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวว่าอิสลามจะเป็นภัยต่อศาสนาของตนเองไปแล้ว
สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการชาวมุสลิมจากสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ยอมรับเช่นกันว่า ความรุนแรงจากกลุ่มมุสลิมสุดโต่งสร้างภาพลักษณ์ความรุนแรงให้กับชาวมุสลิมอื่นๆ ทำให้ศาสนาอื่นเกิดความหวาดกลัว ประจักษ์พยานหนึ่งที่สะท้อนช่องว่าง ความไม่เข้าใจ และความหวาดกลัวนี้คือจดหมายทางการจากประชาชนในจังหวัดน่านส่งถึงจุฬาราชมนตรีโดยให้เหตุผลการต่อต้านมัสยิดว่า ประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติศาสนกิจและการอยู่ร่วมกันระหว่างสองศาสนา เกรงว่าเสียงการละหมาดวันละ 5 ครั้งจะรบกวนวิถีชีวิต อีกทั้งความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้และข่าวสารส่วนใหญ่ของคนที่ไปทำงานในพื้นที่ก็กล่าวว่าความไม่สงบส่วนใหญ่เป็นการสังหารชาวไทยพุทธ เป็นเหตุให้ชาวบ้านหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ และเข้าใจว่าถ้ามีมัสยิดมาอยู่ใกล้บ้านอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงเช่นเดียวกับในภาคใต้
วีระธูโมเดล
ความเกลียด-กลัวอิสลามในสังคมพม่ามีที่มาทางประวัติศาสตร์นับจากยุคอาณานิคม มันกลายเป็นเชื้อปะทุอย่างดีเมื่อผสานกับการปลุกปั่นของพระวีระธู พระนักเทศน์ชื่อดังชาวพม่า จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้มีการกล่าวถึง ‘วีระธูโมเดล’ หรือรูปแบบการสร้างความเกลียด-กลัวที่พระวีระธูใช้
“อาตมาได้ยินแผนล้มพุทธมานานและบ่อยมาก…ส่วนตัวอาตมาไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อมูลพวกนี้…เหมือนเป็นชุดข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและเขียนด้วยความหวาดระแวง ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการที่เราจะเชื่อถือได้ เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโยงกัน หลายเรื่องก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่มันถูกผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนคนเขียนมีธงอยู่ในใจในการสร้างความหวาดระแวงต่อศาสนาอิสลาม”
ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะของวีระธูโมเดลที่เกิดขึ้นในพม่า จนก่อกระแสความเกลียด-กลัวอิสลาม กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรงว่า
“วีระธูโมเดลคือพระต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน มีเป้าหมายชัดเจนในการต่อต้านคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เมื่อมีเครือข่ายแล้ว เขาจะสามารถส่งผ่านสารนี้ไปยังรัฐบาลให้ส่งผ่านไปยังสังคมโดยรวมจนมีพลังมากขึ้น วีระธูโมเดลคือพระมีภาคีที่เป็นพระทั่วประเทศอยู่จำนวนมาก เป็นพระที่เห็นด้วยกับการกำจัดพวกที่ตนไม่ชอบออกไป ซึ่งก็คือมุสลิม โดยใช้ข้ออ้างว่าพวกมุสลิมมาทำเราก่อน ชาวพม่าทุกวันนี้จะพูดคำนี้ตลอดว่า เราเป็นคนที่รักสงบ แต่เขามาทำเราก่อน เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตอบโต้ และการตอบโต้ของเรา เราทำเพราะมีความหวังดี รักและเทิดทูนศาสนาของเราอย่างที่สุด”
ก่อนหน้านี้ก็มีพระไทยรูปหนึ่งนำคำพูดทำนองนี้มาใช้ เรียกร้องการตอบโต้จากชาวพุทธต่อกรณีความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบอกว่าหากเกิดการฆ่าพระ 1 รูปจะต้องเผามัสยิด 1 แห่ง ซึ่งก็มีทั้งกระแสคัดค้านและเห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ในพม่าว่า ‘วีระธูโมเดล’ เป็นโมเดลความสำร็จและเป็นต้นแบบในการปกป้องพระพุทธศาสนาที่สังคมไทยควรปฏิบัติตาม
กระจายความหวาดกลัว
กลับไปดูคำพูดของพระวีระธู พระนักเทศน์ชื่อดังของพม่าที่ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศอย่างบีบีซีและเดอะ การ์เดี้ยน (What is behind Burma’s wave of religious violence?, BBC, 04-04-2013 http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-22023830 Buddhist monk uses racism and rumours to spread hatred in Burma, The Guardian, 18-04-2013 http://www.guardian.co.uk/world/2013/apr/18/buddhist-monk-spreads-hatred-burma) เช่น
“พวกเขา ชาวมุสลิม ทำธุรกิจเก่ง พวกเขาควบคุมการขนส่ง การก่อสร้าง ตอนนี้พวกเขากำลังยึดกุมพรรคการเมืองของพวกเรา หากเราปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป พวกเราจะกลายเป็นเหมือนอัฟกานิสถานหรืออินโดนีเซีย”
“พวกเราถูกข่มขืนในทุกๆ เมือง ถูกล่วงละเมิดทางเพศในทุกๆ เมือง ถูกรุมรังแกในทุกๆ เมือง ในทุกๆ เมืองจะมีกลุ่มชาวมุสลิมส่วนมากที่ป่าเถื่อนและหยาบคาย”
เนื้อหาทำนองนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับที่กำลังเผยแพร่กระจายกระแสความหวาดระแวง หวาดกลัวศาสนาอิสลามในสังคมไทย เช่น การเหมารวม การสร้างความรู้สึกร่วม การบิดเบือนข้อมูล เป็นต้น ซึ่งหากค้นหาในกูเกิ้ลจะพบได้ไม่ยาก พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า
“อาตมาได้ยินแผนล้มพุทธมานานและบ่อยมาก คนที่เอามาเปิดโปงอ้างว่ามีข้อมูลจริงที่อิสลามพยายามกลืนพุทธศาสนาหรือกลืนประเทศตามคำที่เขาใช้ มีการผลิตเอกสารจากกลุ่มสมาพันธ์ชาวพุทธฯ องค์กรพิทักษ์พุทธศาสนา ที่พยายามนำข้อมูลศาสนาอิสลามอีกมุมหนึ่งมาตีแผ่ เป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ ซึ่งส่วนตัวอาตมาไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อมูลพวกนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าต้องการล้ม ต้องการเปลี่ยนศาสนา เปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นรัฐอิสลาม ข้อมูลมันไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ เป็นข้อสันนิษฐาน แล้วชุดข้อมูลหรือเอกสารต่างๆ ก็เหมือนเป็นชุดข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นและเขียนด้วยความหวาดระแวง ไม่ใช่ข้อมูลทางวิชาการที่เราจะเชื่อถือได้ เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาโยงกัน หลายเรื่องก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่มันถูกผนวกรวมเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนคนเขียนมีธงอยู่ในใจในการสร้างความหวาดระแวงต่อศาสนาอิสลาม”
รูปแบบการสร้างความหวาดระแวง หวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม มีตั้งแต่การสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมในหมู่ชาวพุทธและสร้างความเป็นอื่นต่อชาวมุสลิม โดยการตอกย้ำภาพความไม่เป็นธรรมที่ชาวพุทธได้รับ เช่น รัฐบาลเลือกปฏิบัติ เอาใจมุสลิมมากกว่า เป็นต้น
การหยิบยกบางท่อนของคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานมา เช่นการระบุว่าอิสลามสอนให้ทำสงคราม สุชาติอธิบายว่า ถ้อยคำดังกล่าวเป็นเป็นคำสอนในช่วงที่มีการทำสงคราม ขณะที่อิสลามเผยแพร่มาสิบกว่าปีแล้วและไม่อนุญาตให้ทำสงคราม กระทั่งศาสดาต้องอพยพหนี แต่อีกฝ่ายก็ยังตามไปเข่นฆ่า ในที่สุดจึงมีโองการลงมาอนุมัติให้ทำสงครามได้ ซึ่งการทำความเข้าใจคำสอนในคัมภีร์ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นท่อนๆ ได้ แต่ต้องเข้าใจบริบทที่มา จุดประสงค์ และเจตนารมณ์ของวรรคนั้น
การผลิตข้อมูลในรูปหนังสือ โดยเฉพาะ ‘ตาลาติ๊ตำปง’ ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2552 โดยผู้เขียนที่ใช้นามปากกว่า พิชัยยุทธ์ ที่ให้ข้อมูลที่น่าหวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม หลายเรื่องไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง แต่ก็มีการหยิบเอาเนื้อหาบางส่วนมาผลิตซ้ำและเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เช่น แผนการยึดครองประเทศไทยของชาวมุสลิมภายใน 10 ปี ชาวมุสลิมปลอมเป็นพระเพื่อสร้างความเสื่อมเสีย หรือการนำเหตุการณ์ต่างๆ มาผูกโยงกันและกล่าวหาว่าเป็นฝีมือของชาวมุสลิม กรณีการปิดล้อมวัดธรรมกายก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการสมคบคิดของชาวมุสลิมเพื่อทำลายพุทธศาสนา
หรือกรณีที่เพจหนึ่งนำรูปของอังคณา นีละไพจิตร พร้อมใส่ข้อความที่อ้างว่าเป็นของอังคณาว่า “ผืนแผ่นดินทั่วโลกพระอัลเลาะห์สร้างให้ชาวมุสลิมอยู่เท่านั้น ศาสนาอื่นมาอาศัยแผ่นดินของชาวมุสลิมอยู่ คนไทยควรรับชาวมุสลิมโลฮิงยามาดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน” (ตามข้อความที่ปรากฏในเพจ) ซึ่งทางอังคณายืนยันกับทางประชาไทว่า เธอไม่เคยพูดถ้อยคำดังกล่าว
ทำไมต้องกลัวอิสลาม
เหตุใดปรากฏการณ์นี้จึงเกิดขึ้น? สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา อธิบายว่า ในยุคล่าอาณานิคม ยุคที่ประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ มีการนำศาสนามาผูกกับรัฐและความเป็นชาตินิยมมากขึ้น กลายเป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน อุดมการณ์นี้สร้างศัตรูต่อความมั่นคงของชาติขึ้นมาทุกยุคสมัย และปัจจุบันหนึ่งในศัตรูก็คือศาสนาอิสลาม
“มันมีการสื่อสารกันอยู่ เพราะสมาพันธ์พุทธฯ ก็พูดถึงวีรกรรมของพระวีระธู และถ้าพูดถึงเอกสารที่พูดถึงภัยของพุทธศาสนาจากอิสลาม ก็มีมาหลายปีแล้วที่แพร่อยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ในวัดต่างๆ และในธรรมกายด้วย คำว่า ภัยพุทธศาสนา ก็น่าสนใจเหมือนกัน อย่างท่านประยุทธ์ ปยุตโต (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ก็เคยพูด ตอนแรกพูดถึงคริสต์ ต่อมากลายเป็นมุสลิม แม้แต่อธิการบดีมหาจุฬาฯ ก็พูดในยูทูบ ผมว่าตอนนี้มีคนคิดแบบนี้มาก ตั้งแต่ระดับบนสุดและกระจายไปในวัดต่างๆ”
สุรพศมองว่า การวิเคราะห์ของนิธิก็น่าสนใจ (พระสงฆ์เถรวาทกับอิสลาม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์) ที่บอกว่ามี 2 ประเด็น หนึ่งคือกระแสเกลียดอิสลามจากโลกตะวันตก แต่น่าเป็นประเด็นที่ 2 มากกว่าที่มีผลต่อกระแสเกลียดกลัวอิสลาม นั่นคือการที่พระเคยมีบทบาทสูงทางสังคมตั้งแต่ยุคปฏิรูปศาสนา แต่ตอนนี้บทบาทของพระตกต่ำลงและไม่เป็นที่ยอมรับ พระจึงพยายามสร้างการยอมรับในทางสังคมขึ้นมา ซึ่งการจะทำให้คนยอมรับก็ต้องมีศัตรูร่วมกัน แต่สุรพศยังเห็นว่ามีอีกปัจจัยหนึ่ง
“ผมคิดว่าปัจจัยของรัฐที่ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย มันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐต้องการการยอมรับจากประชาชน เขาก็ดูว่าอะไรที่เป็นปัญหา เป็นกระแสของประชาชน ผมว่ารัฐบาลพม่า อองซานซูจีที่เงียบ ก็เพราะมองกระแสสังคม การปราบปรามตามข้อเรียกร้องของพระก็เพื่อการสร้างความนิยม ผมคิดว่ารัฐบาลไทยในภาวะนี้ก็อาศัยประโยชน์จากกลุ่มพระ
“การที่รัฐกับศาสนาผูกติดกัน มันเป็นเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเมือง ต้องการงบประมาณ ต้องการผ่านกฎหมายของตัวเอง ระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม อันนี้ก็พูดกันมาตลอด ทำไมพวกนี้เสนอแล้วผ่าน พวกนี้เสนอแล้วไม่ผ่าน แล้วธรรมชาติของศาสนาโดยตัวมันเองก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยหรือมีลักษณะเคารพสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว มันมีลักษณะการอ้างความดีงามตามลักษณะคำสอนของศาสนาไปเผด็จการกับคนอื่น
“พูดง่ายๆ ว่าตั้งแต่ยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน พระหรือศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้มีความคิดจริงจังที่จะปรับตัวเข้ากับความเป็นประชาธิปไตยหรือหนุนประเทศให้ปรับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีแต่ความคิดที่จะเอาศาสนามาผูกกับรัฐมากขึ้น ทั้งตัวความคิดและตัวองค์กรมันผูกติดกันมาตลอด จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ พระวางบทบาทตัวเองไม่ถูกว่าควรจะอยู่อย่างไรในโลกสมัยใหม่ พระถูกฝึกมาให้ทำงานเหมือนข้าราชการ อยากมีความสำคัญในบทบาทเชิงการเมือง”
สุรพศกล่าวถึงความหวาดกลัวศาสนาคริสต์ที่หายไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความหวาดกลัวเกิดจากการคิดไปเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีมูลความจริงรองรับ ใบปลิวที่เผยแพร่ส่วนใหญ่หรือคำพูดของพระก็เช่นกัน
“ผมคิดว่าพระกับทหารคล้ายกัน มักจะใช้ข้อมูลแบบมโน แล้วก็เอาข้อมูลแบบนี้ไปจัดการกับคนเห็นต่าง คนสองกลุ่มนี้อยู่ในโลกปิดและในโลกของตัวเอง แล้วมโนไปตามพื้นฐานความคิดของตัวเอง”
“ตั้งแต่ยุคอาณานิคมถึงปัจจุบัน พระหรือศาสนาพุทธเองก็ไม่ได้มีความคิดจริงจังที่จะปรับตัวเข้ากับความเป็นประชาธิปไตยหรือหนุนประเทศให้ปรับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย มีแต่ความคิดที่จะเอาศาสนามาผูกกับรัฐมากขึ้น ทั้งตัวความคิดและตัวองค์กรมันผูกติดกันมาตลอด จึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดสถานการณ์อย่างทุกวันนี้ พระวางบทบาทตัวเองไม่ถูกว่าควรจะอยู่อย่างไรในโลกสมัยใหม่ พระถูกฝึกมาให้ทำงานเหมือนข้าราชการ อยากมีความสำคัญในบทบาทเชิงการเมือง”
สุรพศตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การระแวงลัทธิอื่น ศาสนาอื่น เป็นธรรมชาติของศาสนาอยู่แล้ว สิ่งนี้มีตั้งแต่ในระดับคัมภีร์ แต่ในระดับคัมภีร์เป็นการตอบโต้กันในเรื่องความคิด ในพระไตรปิฎกเองก็เห็นพระพุทธเจ้าโต้กับเจ้าลัทธิต่างๆ ในประเทศไทยช่วงปฏิรูปศาสนาเป็นต้นมาถึงพุทธทาสก็มีการโต้กันทางความคิด พุทธทาสเขียนโต้บาทหลวงในศาสนาคริสต์ แต่พอเกี่ยวกับศาสนาอิสลามกลับไม่ได้โต้เรื่องความคิด แต่เป็นเรื่องตาต่อตาฟันต่อฟัน เขาเห็นว่านี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพราะเมื่อไม่โต้กันทางความคิด มันก็นำไปสู่เรื่องอื่นที่รุนแรงเลยขอบเขตของเหตุผล
พูดคุย ปรับตัว หยุดเหมารวม ศาสนาต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
ความหวาดกลัวอิสลามส่วนใหญ่แสดงออกในรูปเฮทสปีช (Hate Speech) ในโซเชียล มีเดีย แต่จากการติดตามของสุชาติ ในหลายพื้นที่เริ่มเห็นลักษณะการแสดงออกด้วยวาจา มีการด่าชาวมุสลิมซึ่งหน้าโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ถึงห้วงยามนี้ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นใช้ความรุนแรง แต่เขาก็เห็นว่ามีแนวโน้มไปถึงจุดนั้นได้ เขามองเห็นพัฒนาการของปรากฏการณ์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีแบบแผนขึ้นเป็นลำดับและอาจมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความรุนแรงในอนาคต
“ในส่วนองค์กรศาสนาอิสลาม เราก็คิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรที่จะรีบเร่งความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรในศาสนาพุทธในทุกระดับ ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่ามีช่องว่างในการสื่อสารเยอะมาก ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการพูดคุยกันสักเท่าไหร่ ถึงเราจะพยายามชวนทุกศาสนิกมาร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่ก็ยังแอคทีฟเต็มที่
“ในส่วนของมุสลิมเอง ผมก็เรียกร้องครับว่า ไม่ใช่เพียงคนที่ไม่ใช่มุสลิมที่ล้มเหลวต่อการไม่เข้าใจมุสลิม ชาวมุสลิมก็ล้มเหลวที่จะอธิบายตนเอง จะเป็นมุสลิมที่ดีต้องเป็นอย่างไร คุณต้องแสดงมิตรไมตรีต่อเพื่อนไม่ว่าจะศาสนาไหนก็ตาม ผมเรียกร้องให้มุสลิมต้องทบทวนตัวเอง นำเสนอความเป็นอิสลามที่เป็นแก่นของความรัก ความเมตตาที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ผมเองก็พยายามเตือนมุสลิมด้วยกันว่า อย่ามองชาวพุทธในสังคมไทยแบบเหมารวมเหมือนที่มุสลิมกำลังถูกมองแบบเหมารวม ในหมู่มุสลิมเองก็มีที่พยายามสร้างความเกลียดชังศาสนิกอื่น เราก็ต้องออกมาทบทวนตัวเราเองด้วยเช่นกัน”
ขณะที่พระมหาไพรวัลย์เชื่อว่า ปรากฏการณ์นี้จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างสองศาสนา เป็นความรุนแรงที่ใครพวกมากก็ชนะไป พวกน้อยก็ถูกกระทำ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับเหตุการณ์ในรัฐยะไข่เพราะบริบทต่างกันมาก
“อาตมาเชื่อว่ามีหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้ แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือจากคนสองศาสนา ความจริงใจที่จะปรับตัวเข้าหากัน ไม่ใช่ให้ฝ่ายหนึ่งปรับ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปรับเลย”
ในส่วนของสุรพศ ระยะเบื้องต้น เขาเห็นว่าชาวพุทธเองต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับชาวพุทธที่สร้างกระแสแบบนี้ ตั้งสติและหันกลับมาหาหลักคำสอนของศาสนา ใช้ปัญญา ความเมตตา ให้อภัย และหลักขันติธรรมต่อกัน เสนอแนวทางที่จะอยู่ร่วมกัน ส่วนในระยะยาวจะต้องปรับให้ศาสนาเคารพหลักสิทธิมนุษยชนให้ได้
โรฮิงญา-มุสลิม ประวัติศาสตร์บาดแผลจากยุคอาณานิคม
ลลิตา หาญวงษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายรากเหง้าของความขัดแย้งนี้ว่าเป็นอคติด้านเชื้อชาติมากกว่าศาสนา ซึ่งพัฒนาต่อจนผสมผสานเอาปัจจัยเรื่องศาสนาเข้าไปด้วยในภายหลัง สิ่งนี้ก่อตัวขึ้นในยุคอาณานิคม ช่วงทศวรรษ 1930 ที่เมืองใหญ่ๆ ในพม่ามีการจลาจลระหว่างคนอินเดียซึ่งเป็นฮินดูกับพม่า เพราะคนพม่ามองว่าคนอินเดียเข้ามาแย่งงานและผลักชาวพม่าเป็นประชากรชั้นสอง แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็มีคนพยายามปลุกปั่นให้ชุมชนมุสลิมกับชุมชนชาวพุทธแตกแยกกัน
“ทศวรรษ 1930 มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่งที่ชาวมุสลิมจากมัณฑะเลย์เขียน ชาวพุทธตีความว่าเป็นการดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ซึ่งเนื้อความก็เป็นการโจมตีพระพุทธเจ้าจริง ก่อให้เกิดการจลาจลตามหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ต่อมาอีกหลายครั้ง คราวนี้จะเป็นคนพุทธพม่ากับคนอินเดียที่เป็นมุสลิม ชาวพุทธพม่ามองว่าชาวมุสลิมเป็นปฏิปักษ์กับเขา หนึ่งคือเขาไม่ชอบการเปลี่ยนศาสนา หมายถึงเวลาผู้หญิงชาวพุทธไปแต่งงานกับผู้ชายมุสลิมจะต้องเปลี่ยนศาสนา เขามองว่าเป็นกุศโลบายของชาวมุสลิมที่จะกลืนลูกหลานของเขาให้เป็นคนมุสลิม สอง-ชาวพม่ามีอคติต่อคนที่มีหน้าตาเป็นแขกอยู่แล้ว มองคนพวกนี้ว่าเข้ามาทำให้เขาเป็นคนชายขอบตลอดยุคอาณานิคม ยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น นี่เป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้ชาวพุทธกับชาวมุสลิมเกลียดกันในช่วงยุคปลายอาณานิคม”
อคติเหล่านี้ถูกหล่อหลอมกันมารุ่นสู่รุ่น เมื่อพม่ามีแนวทางสู่การเป็นประชาธิปไตยจึงเห็นการปะทะกันระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมที่ยะไข่ในปี 2555 ที่มีข่าวหญิงชาวพุทธถูกข่มขืนฆ่า สังคมพม่าก็พุ่งเป้าว่าชาวมุสลิมเป็นผู้กระทำ ด้วยความโกรธแค้นของสังคมก็นำมาสู่การสนับสนุนให้กองทัพสังหารและขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากรัฐยะไข่
ลลิตาอธิบายต่อว่า แม้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นพุทธศาสนิกชนในประเทศพม่าจะไม่ชอบชาวพม่าซึ่งเป็นพุทธ ทว่า กลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มกลับเกลียดโรฮิงญาเหมือนกัน เหตุผลคือชาวโรฮิงญาเป็นคนเถื่อนที่ อพยพเข้ามาในยะไข่โดยผิดกฎหมาย คนพวกนี้ไม่มีสิทธิชอบธรรมตามกฎหมายพม่า เพราะพม่าไม่ได้จัดให้คนพวกนี้เป็น 1 ใน 135 ชาติพันธุ์ในพม่า ทำให้ไม่มีศักดิ์ศรีหรือสิทธิที่จะบอกว่าเป็นคนของประเทศพม่า
ประเด็นที่ 2 ที่ทำให้เรื่องนี้บานปลายกว่าเดิมมากเพราะมีเรื่องการก่อการร้ายเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ ARSA หรือ Arakan Rohingya Salvation Army ซึ่งมีกระบอกเสียงของตัวเอง มีท่อน้ำเลี้ยงก็เป็นโรฮิงญาในซาอุดิอาระเบีย ทำให้สังคมพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ กลัวว่าประเทศเขาจะมีผู้ก่อการร้าย
“นี่เป็นครั้งแรกๆ เลยที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าออกมาพูดเหมือนกันว่า We have to protect our land ทั้งที่ก่อนหน้านี้จะพูดแต่ว่าต้องมีเอกราชแยกออกจากพม่า”
อีกส่วนหนึ่ง ลลิตา อธิบายการขึ้นมามีบทบาทของพุทธศาสนาที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญของความขัดแย้งรอบนี้ว่า ในช่วงอาณานิคม ศาสนาพุทธในพม่าถูกทำให้เป็นชายขอบ การที่อังกฤษไม่ได้แต่งตั้งสังฆราช ทำให้สังฆราชองค์สุดท้ายสิ้นสุดในยุคอาณานิคม คนพม่าที่เป็นชาตินิยมอย่างอองซาน อูนุ เห็นว่าถ้าจะต่อสู้กับอังกฤษต้องยกอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดขึ้นมาเป็นตัวชูโรงเพื่อสร้างความสามัคคีของคนพม่า ทำให้มีการเชิดชูศาสนาพุทธขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของฟาสซิสต์พม่า แต่เรื่องนี้ทวีมากขึ้นในสมัยอูนุเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความพยายามทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีการก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมวิปัสสนาทั่วประเทศ จนพม่าเป็นสถานปฏิบัติธรรมระดับโลก
กระแสชาตินิยมที่รุนแรงช่วงหลังปี 1948 หลังพม่าได้รับเอกราช ซึ่งอูนุปกครองพม่าต่อมาจนถึงปี 1958 เป็นช่วงเวลาที่นักชาตินิยมฝ่ายอนุรักษ์นิยมขึ้นมามีบทบาท สิ่งที่คนกลุ่มนี้พยายามทำมากที่สุดคือการฟื้นฟูพุทธศาสนา อยากทำให้พม่าเป็นรัฐพุทธ ยกสถานะพระสงฆ์ให้มีบทบาทนำ เป็นแสงนำทาง เพื่อต่อสู้กับความฉ้อฉลของระบอบอาณานิคม อีกทั้งในช่วงอาณานิคมก็มีพระรูปสำคัญอย่างอูอุตมะที่ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมด้วยแนวทางอหิงสาจนมรณภาพในคุก ทำให้ชาวพม่ามองว่าพระสงฆ์คือวีรบุรุษ สังคมพม่าจึงมีขนบที่จะยอมรับสิ่งที่พระพูดโดยไม่ตั้งคำถามหรือท้าทาย
“หลังปี 2555 เป็นต้นมา เมื่อเกิดเหตุการณ์การสังหารชาวพุทธในยะไข่ ขณะที่พระวีระธูก็ดังอยู่แล้ว พระรูปนี้ออกมาเทศน์ว่า ทำแบบนี้มุสลิมกับพุทธอยู่ร่วมกันไม่ได้แล้ว ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงมากเพื่อประณามและยุยงให้ชาวพุทธเกลียดชังชาวมุสลิม แต่วีระธูจะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าไม่มีเครือข่ายของพระที่คิดเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในพม่า ในไทย หรือในศรีลังกา สังคมพม่าเชื่อพระ คนหนุ่มสาวก็เชื่อพระ สิ่งที่พระพม่าพูดเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่ได้ สิ่งที่วีระธูพูดคือสิ่งที่จี้ใจดำพม่า ชาวพม่าต้องการฟังมาตลอด ไม่เคยมีใครออกมาพูดแทนพวกเขา พอวีระธูออกมาพูดปุ๊บ ชาวพม่าออกมาชื่นชอบ อีกทั้งวีระธูยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพม่า”
นี่คือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผูกโยงประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา และการเมืองเข้าด้วยกันจนยุ่งเหยิง แปรเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งและการเข่นฆ่าที่ยังไร้ข้อยุติ