ร้อยเรื่อง…ร้อยใจไทยมุสลิม ตอนที่ 1: จาก 0 สู่ศูนย์ (วิทยาศาสตร์ฮาลาล)

เมื่อวันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2560 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จัดงานครบรอบ 14 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทั้งกิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อนำเงินรายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล และพิธีเปิดศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ฯ ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (BIHAPS CU)

กว่าจะผ่านมาถึง 14 ปี ที่เห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในวันนี้ ต้องผ่านความยากลำบากมากมายหลายอย่าง แต่ด้วยวิสัยทัศน์ และอัจฉริยะในความเป็นผู้นำ ของผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คนแรกและคนเดียวจนถึงปัจจุบัน รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ความเจริญก้าวหน้าได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน เล่าอยู่บ่อยๆ ว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกิดขึ้นมาจากคำถามธรรมดา ๆ ที่ว่า “มุสลิมบริโภคก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ได้หรือไม่ ?” หลายคนมักสงสัยว่า ตัวเส้นก๋วยเตี๋ยวแม้จะทำมาจากแป้งธรรมดาก็จริง แต่ในกระบวนการจะต้องเคลือบมันไว้เพื่อไม่ให้เส้นเหนียวติดกัน จึงมีคำถามว่า น้ำมันที่ใช้นั้นทำมาจากน้ำมันหมูหรือไม่

จากจุดนี้เองที่ทำให้ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ซึ่งมีตำแหน่งนักวิชาการในขณะนั้น ตัดสินใจจัดตั้งห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมขึ้น เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2528 โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวมีเพียงเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพียง 2 ชิ้น คือ Gas Chromatograph เครื่องแยกและวิเคราะห์องค์ประกอบสำหรับสารที่สามารถระเหยได้ โดยวิเคราะห์ได้ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ และ Spectrophotometer เครื่องวิเคราะห์ปริมาณสารโดยใช้ความสามารถในการดูดกลืนแสงของสาร โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการคือ ดร.วินัย เพียงคนเดียวในพื้นที่ห้องปฏิบัติการเพียง 32 ตารางเมตร ของคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.วินัย ทำงานตรวจสอบการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมานานนับกว่าสิบปี สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมหลายต่อหลายชิ้น จนเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 คณะรัฐมนตรีมีมติจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2547 – 2549 สนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และแล้วในที่สุด…ปลายปี พ.ศ.2547 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีมติแยกห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยจัดตั้งเป็น “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.)” นับแต่นั้นมา