ใครผลักดันชาวโรฮิงยาจับอาวุธต่อสู้!

ข้อมูลข่าวสด ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค. เอเอฟพีรายงานความคืบหน้าสถานการณ์สู้รบรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ใกล้ชายแดนบังกลาเทศ ระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพปลดปล่อยอาระกันโรฮิงยา หรืออาร์ซา ว่า ทางการบังกลาเทศเสนอเปิดปฏิบัติการทางทหารร่วมกันกับพม่าเพื่อกวาดล้างสมาชิกอาร์ซาแล้ว

ขณะเดียวกันชายฉกรรจ์โรฮิงยาเดินทางไปร่วมกับกองทัพอาร์ซา เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าด้วยเหตุผลว่า ไม่มีทางเลือก เพราะหากไม่ต่อสู้ก็ต้องถูกสังหาร

กองกำลังอาร์ซาถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายอย่างเป็นทางการ พร้อมกับที่สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐของนางออง ซาน ซู จี กล่าวหาอาร์ซาก่ออาชญากรรมต่อชาวพม่า ใช้เด็กมาเป็นนักรบ และเผาบ้านเรือน อย่างไรก็ตาม กลับมีกระแสชายชาวมุสลิมโรฮิงยาบางส่วนทั้งในฝั่งพม่าและที่อยู่ในค่ายลี้ภัยของบังกลาเทศต่างต้องการเดินทางไปร่วมกับอาร์ซาเพื่อต่อสู้

บ้านเรือนที่ทางการพม่าระบุว่าถูกนักรบโรฮิงยาเผาทำลาย AFP PHOTO / STR

มีคนหนึ่งกล่าวว่าหมดหวังกับการถูกกดขี่ เพราะตลอดชีวิตนั้นตกพบกับการริดรอนสิทธิเสรีภาพและถูกขับไล่ ทำให้ตระหนักว่าหากไม่สู้รบก็คงไม่มีวันได้สิทธิเสรีภาพนั้นมา ส่วนอีกคนหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศอธิบายว่า การสู้รบดังกล่าวเป็นฟาร์จ หรือหน้าที่ทางศาสนา ในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

“พวกผมมีทางเลือกที่ไหน ตอนนี้ก็หลังชนฝาแล้ว ขนาดวัยรุ่นในหมู่บ้านยังไปร่วมรบเลย ผมจะข้ามพรมแดนกลับไปสู้ แม้จะต้องสู้ด้วยหินและท่อนไม้ ผมก็จะสู้ตาย”

ทหารพม่าเดินทางมาถึงเมืองบูตีต่อง  RETUERS/Soe Zeya Tun

เอเอฟพีสัมภาษณ์นางอเยชา เบกุม หญิงท้องแก่ชาวโรฮิงยา อายุ 25 ปี ที่เพิ่งหนีจากรัฐยะไข่ไม่กี่วันมานี้ไปอยู่ในค่ายพักพิงในบังกลาเทศ ได้ความว่าถึงแม้สามีจะไม่อยู่ตอนที่ตนคลอดลูก เพราะไปออกรบร่วมกับกองกำลังโรฮิงยา ตนก็ไม่เสียใจ เพราะเป็นการต่อสู้ที่สำคัญ

“เขามาส่งเราที่แม่น้ำและให้เราข้ามแม่น้ำมา เขากล่าวลาเรา และว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็คงได้พบกันในรัฐอิสระอารากัน (รัฐยะไข่) หรือไม่เราก็ไปพบกันในสวรรค์” หญิงสาวกล่าวพร้อมกับร้องไห้ออกมา

นางอเยชา เบกุม ชาวโรฮิงยาที่ตั้งท้องอยู่ / AFP

ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ผันสู่ความรุนแรงตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อชาวโรฮิงยาจัดตั้งกองกำลังเข้าโจมตีด่านของตำรวจทหาร ทำให้ถูกกองทัพพม่ากวาดล้างอย่างหนัก จนเมื่อค่ำวันที่ 24 ส.ค. มีการถล่มป้อมตำรวจถึง 30 แห่ง ด้วยอาวุธมีด ระเบิดทำเอง และปืน สังหารเจ้าหน้าที่พม่าไป 12 ราย จากนั้นทหารพม่าเข้ากวาดล้าง และสังหารนักรบโรฮิงยาไป 80 ราย ส่วนชาวบ้านอพยพหนีตายไปทางบังกลาเทศกันอย่างอลหม่าน

ชาวบ้านรออพยพไปเมืองซิตตเว AFP PHOTO / STR/ AFP PHOTO / STR

เซอิด ราอัด อัลฮุสเซน หัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวประณามผู้ก่อความรุนแรงที่ทำร้ายและสังหารเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียและการอพยพหนีตายของชาวโรฮิงยาหลายพันชีวิต แต่ว่าชาวมุสลิมโรฮิงยาในพม่านั้นถูกรังแกอย่างเป็นระบบมายาวนานหลายสิบปีแล้ว รวมถึงเหตุโจมตีในเดือนตุลาคม 2559 ที่กลายเป็นตัวเร่งลัทธิสุดโต่งรุนแรง การลุกฮือด้วยการสู้รบนี้เป็นสัญญาณเตือนที่น่าวิตกในรัฐยะไข่

คลิปที่แฉเจ้าหน้าที่พม่าทำร้ายชาวบ้านโรฮิงยา

สำหรับสถานการณ์บริเวณชายแดนพม่า-บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. มีพลเรือนอพยพแล้ว 8,700 คน ในจำนวนนี้ 6,000 คนมาติดค้างกันอยู่บริเวณชายแดน เจ้าหน้าที่บังกลาเทศสกัดไว้ไม่ให้ข้ามแดน ทั้งยังไปตามจับคนที่เล็ดลอดเข้าไปได้กลับมาส่งคืนฝั่งพม่า