มหา’ลัยแห่งชาติมาเลเซียเซ็นต์MOU ปอเนาะบ้านตาล ส่งเสริมภาษามลายูสร้างเยาวชนสู่อาเซียน

UKM เซ็นต์เอ็มโอยู ช่วยปอเนาะบ้านตาลถ่ายทอดภาษามลายู เสริมสร้างความเข้มแข็งความรู้ของเยาวชนมุสลิมไทย

วันที่ 13 สิงหาคม ที่ปอเนาะบ้านตาล จ.นครศรีธรรมราช ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย(UKM)กับโรงเรียนประทีปศาสน์ (ปอเนาะบ้านตาล) มีดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นสักขีพยานความร่วมมือ โดยดร.อิมราน บิน อับดุลเลาะฮ์ รองอธิการบดี UKM และอ.พงศ์ศิลป์ พิศสุวรรณ ผู้ได้รับใบอนุญาตโรงเรียน ประทีปศาสน์ เป็นตัวแทนของลงนาม

 

คณาจารย์จาก UKM จำนวน 12 คน นำโดยรองอธิการบดี เดินทางมาจากมาเลเซียมายังปอเนาะบ้านตาลเพื่อลงนามความร่วมมือในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งนับเป็นข้อตกลงในการให้ความร่วมมือ การช่วยเหลือปอเนาะบ้านตาลในการเรียนการสอนภาษามลายู ภาษาอังกฤษและวิชาการอื่นๆ

“ปอเนาะบ้านตาล” ก่อตั้งโดยตระกูล “พิศสุวรรณ”ตั้งแต่ปี 2484 เพื่อสอนด้านศาสนาอิสลามแก่เยาวชนมุสลิมในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง ต่อมาได้จดทะเบียนยกฐานะเป็นโรงเรียนสอนและบูรณาการทั้งศาสนาและสามัญ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และระดับอาชีวะศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 1,700 คน ทั้งหมดเป็นนักเรียนประจำ

ขณะที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซียก่อตั้งเมื่อ 1974 ตั้งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เปิดสอน 13 คณะ มีนักศึกษามากกว่า 28,000 คน คณาจารย์กว่า 3,000 คน เจ้าหน้าที่อีกนับ 10,000 คน ได้ระบุในคำขวัญว่า เป็น “ผู้พิทักษณ์อัตลักษณ์มลายู” มีนักศึกษาไทยเรียนอยู่ประมาณ 50 คน เพิ่งมีโครงการแลกเปลี่ยนนำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีละ 10 คนไปเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมมลายูที่มาเลเซีย เมื่อปี 2560

ในความร่วมมือระหว่าง UKM กับปอเนาะบ้านตาล ทาง UKM จะให้ความช่วยเหลือโรงเรียนประทีปศาสน์ในการถ่ายทอดภาษามลายู โดยUKM จะกลับไปจัดทำหลักสูตรภาษามลายู ภาษาอังกฤษ วัฒนธรรม เพื่อมาสอนคณะครูโรงเรียนประทีปศาสน์ในระยะแรก ก่อนจะขยายไปยังนักเรียนต่อไป รวมทั้งจะส่งอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่สนใจเข้ามาทำวิจัยและถ่ายทอดความรู้ให้กับโรงเรียนประทีปศาสน์ และชุมชุนมุสลิมในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

ทั้งนี้ ภาษามลายู เป็นภาษาที่มีความสำคัญในอาเซียน ในจำนวนประชากรประมาณ 600 ล้านคนของอาเซียนมีจำนวนประมาณ 300 ล้านคน พูดภาษามลายูหรืออินโดนเชียเรียกว่า “บาฮาซา” การมีความรู้ด้านภาษามลายูจึงเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งในด้านสังคม ด้านธุรกิจและความร่วมมือด้านต่างๆ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยในการการท่องเที่ยว การค้า และอื่นๆในประชาคมอาเซียน